PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : PA-90330-00004

น้องธันวา ตะลุงเยาวชน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
puppet shadow

หนังตะลุงเป็นมหรสพพื้นบ้านที่นิยมแพร่หลายและผูกพันกับวิถีชีวิตชาวใต้มายาวนานตั้งแต่ครั้งอดีต เดิมนิยมเล่นในงานสมโภชหรืองานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ของชุมชน แต่จะไม่นิยมในงานระดับครอบครัว เช่น งานแต่งงาน งานศพ ดังนั้นในอดีตงานวัดหรืองานเฉลิมฉลองสำคัญจึงมักมีหนังตะลุงมาแสดงให้ชมด้วยเสมอ แต่ปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวไม่ยึดถือเคร่งครัดเช่นแต่ก่อน นอกจากความบันเทิงแล้ว หนังตะลุงยังสะท้อนค่านิยมและโลกทัศน์ของชาวใต้ที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องที่เป็นการเล่าเรื่องราวที่ผูกร้อยเป็นนิยาย ดำเนินเรื่องด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้องเป็นสำเนียงท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าการ “ว่าบท” มีบทสนทนาแทรกเป็นระยะ และใช้การแสดงเงาบนจอผ้าเป็นสิ่งดึงดูดสายตาของผู้ชม การว่าบท การสนทนา และการแสดงเงานี้ นายหนังตะลุงเป็นคนแสดงเองทั้งหมด น้องธันวา หรือเด็กชายอภิวัฒน์ อินทานุกูล ปัจจุบันอายุ 11 ปี โดยน้องธันวาเล่าว่า ตนเองเริ่มชอบหนังตะลุงตั้งแต่อายุ 5 ขวบ จากการได้ไปดูการแสดงหนังตะลุงที่วัดชะแล้ ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งนำไปสู่การหัดเล่น หัดร้อง หัดทำตัวหนัง โดยศึกษาด้วยตนเองจากอินเทอร์เน็ต และได้ทดลองทำตัวหนังตะลุงครั้งแรกจากกระดาษขาวเทา น้องธันวาเชื่อว่าที่ตนชอบและสนใจหนังตะลุงนั้น มาจากการซึมซับทางสายเลือดและบรรพบุรุษของตน เนื่องจากตระกูลฝ่ายของพ่อน้องธันวานั้น มีคุณย่าเป็นร่างทรงตายาย “แม่ศรีมาลา” และ “พานหน้าทอง” ส่วนตระกูลฝ่ายแม่ของน้องธันวานั้น เป็นนายหนังตะลุง ชื่อว่า ชูคิ้ม ส.อัศวิน และมีฝีมือในด้านงานศิลปะและฝีมือด้านงานช่าง ทำให้น้องธันวาซึมซับและเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้มาตั้งแต่เยาว์วัย การแสดงหนังตะลุง : โดยส่วนตัวน้องธันวาชอบการพากย์เสียงตัวหนังเป็น นายโทง และมีการขับเป็นบทกลอน ได้ 3 ท่อน ในบทกลอน น้ำใจแม่ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการฝึกฝนการออกท่าการแสดงและขับกลอนประมาณ 1 เดือน นอกจากความสามารถของน้องธันวาที่สามารถเล่นหนังตะลุงได้แล้วนั้น น้องธันวายังมีความสามารถในการตีโหม่งและออกหน้าพรานในการแสดงโนราได้อีกด้วย ความเชื่อของตัวหนังตะลุง : ตัวหนังตะลุงที่ใช้แสดงในปัจจุบันนั้น น้องธันวาได้ไปทอน (ขอบูชา) มาจากหนังท่อง เก้าบ่อ (ตาหลวงคง) วัดป่าขาด ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งหนังท่อง เก้าบ่อ เป็นอดีตนายหนังที่มีชื่อเสียงในพื้นที่ตำบลสิงหนคร ซึ่งได้มอบตัวหนังตะลุงให้กับน้องธันวามาใช้แสดงทั้งหมด ในส่วนพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับการออกโรงหนังนั้น น้องธันวาเล่าว่า ก่อนจะนำแสดงหนังหน้าโรง ต้องเอ่ยขอขมาและระลึกถึงหนังท่อง เก้าบ่อ ก่อนเสมอ ถือเป็นการบูชาครูหนังตะลุง และในส่วนของหน้าเวทีจะมีการปักรูปตัวหนังตะลุงเทวดาไว้ด้านหน้าโรงตั้งแต่ก่อนการแสดงจนจบการแสดง และเมื่อจบการแสดงจะต้องเก็บตัวหนังเทวดาตามวิธีการเก็บตัวหนัง คือ การเก็บรูปหนังเทวดาในท่าทางที่เหาะเหินแล้วนำไปเก็บในหีบเก็บหนัง ซึ่งหนังเทวดาจะถูกเก็บซ้อนทับไว้ด้านบนสุดของตัวหนังตัวอื่นๆ โดยมีลำดับการเก็บตัวหนังลงหีบเรียงจากล่างขึ้นบน ดังนี้ ตัวหนังตลก ตัวหนังขุนโจร ตัวหนังยักษ์ ตัวหนังเจ้าชาย ตัวหนังเจ้าเมือง ตัวหนังหน้าบท ตัวหนังพระอิศวร ตัวหนังเทวดา และตัวหนังฤๅษี ในส่วนหนังตะลุงกับพิธีกรรมครอบครู เมื่อถึงเทศกาลไหว้ครู ลูกศิษย์หนังตะลุงจะร่วมกันออกโรงแสดงประชัน และขับบทกลอน โดยหน้าเวทีโรงจะมีรูปตัวหนังฤๅษีปักไว้ด้านหน้า และในการนำออกมาประชันจะต้องเบิกตัวแสดงตัวแรกเป็นตัวฤๅษี เพื่อเรียกขวัญให้กับชาวคณะ จากนั้นจะมีผู้เข้าร่วมนำเงินมาใส่ขันที่วางไว้ด้านหน้า และคนเชิดหนังฤๅษีจะนำเงินบางส่วนในขันมาเสียบไว้ด้านหลังตัวหนังฤๅษี หรือที่เรียกกันว่า “เบี้ยเบิกโรง” ส่วนที่เหลือก็จะแบ่งให้กับลูกคู่ที่แสดง หรือนำไปซื้อเครื่องดื่มและขนมไว้กินกันในคณะ ขณะมีการแสดงตลอดทั้งงาน



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

ศิลปะการแสดง : PA : Performing Arts นาฏศิลป์และการละคร
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : ต. ชะแล้ อ. สิงหนคร จ. สงขลา 90330

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

เด็กชายอภิวัฒน์ อินทานุกูล

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

0611782255

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

Rujiya1995@gmail.com : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ :

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-
พิกัด GPS

มีผู้เข้าชมจำนวน :466 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 01/05/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 01/05/2022


BESbswy