อุทยานประวัติศาสตร์พิมายจัดตั้งเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2532 ครอบคลุมพื้นที่ 115 ไร่ โดยประกอบด้วยปราสาทหินพิมาย โบราณสถานใกล้เคียงทั้งในและนอกกำแพงเมืองรวมไปถึงสระน้ำโบราณและแนวกำแพงเมือง กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 16 โดยมีลักษณะศิลปกรรมแบบบาปวน อีกทั้งยังเป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทยที่สร้างขึ้นในความเชื่อแบบพุทธศาสนาลัทธิมหายานซึ่งมีความสำคัญในฐานะหลักฐานร่องรอยของความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ของพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา และความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ได้เป็นอย่างดี พิมาย ได้ชื่อมาจากคำว่า วิมาย ซึ่งพบในจารึกที่ปรากฎบริเวณกรอบประตูของปราสาทหินพิมาย บริเวณเมืองพิมายเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบวางตัวอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งแผนผังของเมืองพิมายมีลักษณะเป็นแนวแกนที่พุ่งเข้าสู่ศูนย์กลางของเมือง มีศาสนสถานสำคัญคือ ปราสาทหินพิมาย ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง กำหนดอายุได้ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 โดยมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของชุมชนบริเวณใกล้เคียง ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศใต้ รับกับประตูชัยและแนวถนนโบราณซึ่งมุ่งไปบรรจบกับท่านางสระผมและลำน้ำเค็ม มีลำน้ำไหลผ่านรอบๆเมือง ได้แก่ แม่น้ำมูลทางทิศเหนือและตะวันออก ลำจักราชทางทิศตะวันตก และลำน้ำเค็มทางทิศใต้ นอกจากนี้ยังมีการขุดสระน้ำจำนวน 5 สระไว้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคและบริโภค
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site อุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติ
.
เลขที่ : 341/3 ใน อำเภอพิมาย นครราชสีมา 30110 ต. ในเมือง อ. พิมาย จ. นครราชสีมา 30110
พหลยุทธ บุตรจู : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน : 2566 Advance Track