หัวเมืองทางใต้มีการผลิตเงินตราขึ้นใช้เอง เรียกกันว่า “เงินอีแปะ” โดยนำแร่ดีบุกซึ่งเป็นโลหะที่มีค่าและมีมากในท้องถิ่นมาผลิตเป็นเงินตรา เนื่องจากหัวเมืองภาคใต้ในขณะนั้นมีการทำเหมืองแร่ดีบุก จึงนิยมผลิตเหรียญอีแปะขึ้นใช้ในหัวเมืองใหญ่ๆ ทางภาคใต้ สำหรับใช้เป็นเงินปลีกย่อย รวมทั้งใช้จ่ายภายในเหมืองแร่ หลักฐานการใช้เงินตราของดินแดนทางภาคใต้มีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยหัวเมืองภาคใต้มีความนิยมนำแร่ดีบุกผสมตะกั่ว เพื่อผลิตเงินมูลค่าต่ำขึ้นใช้ในหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่า “อีแปะ” หรือชาวเมืองภาคใต้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เบี้ย” มีลักษณะเหรียญทรงกลม ตรงกลางมีรู บนเหรียญอีแปะมีอักษรภาษาไทย จีน และอาหรับ สำหรับบอกชื่อเมืองที่ผลิตหรือบริษัทเหมืองแร่ไว้บนหน้าเหรียญ มีลักษณะเหมือนเงินเหรียญของจีน ทั้งนี้ ผู้ผลิตเหรียญอีแปะขึ้นใช้จะเป็นเจ้าเมืองในหัวเมืองภาคใต้ ได้แก่ เมืองปัตตานี สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช เป็นต้น หรือนายเหมืองแร่ดีบุกของชาวจีนที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตเหรียญอีแปะ ซึ่งการผลิตเหรียญอีแปะได้นำแร่ดีบุกผสมตะกั่วเทลงแม่พิมพ์หินหรือโลหะที่แกะแบบเป็นรูปคล้ายต้นไม้เพื่อให้สามารถผลิตเหรียญอีแปะได้ครั้งละหลายเหรียญ โดยแต่ละก้านของแม่พิมพ์ได้แกะแบบเป็นรูปเหรียญอีแปะ ซึ่งเมื่อผู้ใช้ต้องการใช้เหรียญอีแปะก็จะใช้การหักเหรียญอีแปะออกจากกิ่งและตะไบเหรียญให้เรียบ ดังนั้น การผลิตเหรียญอีแปะเชื่อว่าเกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้เงินปลีกย่อยในเหมืองแร่หรือในอาณาเขตเมืองและผลิตตามที่เจ้าเมืองอนุญาต ซึ่งเหรียญอีแปะเป็นที่ยอมรับให้ใช้เฉพาะในท้องถิ่น โดยราษฎรจะต้องนำอีแปะไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราของรัฐก่อนนำไปชำระภาษีอากรให้กับรัฐ
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณวัตถุ : AA : Archeological Artefact ประวัติศาสตร์
.
เลขที่ : ต. บ่อยาง อ. เมืองสงขลา จ. สงขลา 90000
อาจารย์วุฒิชัย เพชรสุวรรณ
089 738 5065
ผศ.ดร.กรฤต นิลวานิช : มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา :