วัดราชคฤห์ (วัดมอญ) เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนเทอดไท แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี ติดกับคลองบางกอกใหญ่ อยู่ใกล้กับตลาดพลู แต่ก่อนที่ว่าการอำเภอราชคฤห์ และสถานีตำรวจเขตราชคฤห์ เคยตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด ภายในวัดมีพระปรางค์องค์ที่เคยบรรจุอัฐิของพระยาพิชัยดาบหักอยู่ วัดราชคฤห์ ( วัดมอญ ) ถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในอดีตเรียกว่า “วัดวังน้ำวน” เพราะตั้งอยู่ติดกับคลองน้ำ ๓ สาย ได้แก่ คลองบางกอกใหญ่ คลองบางน้ำชน และคลองท่าพระ ไหลมาบรรจบกัน "วัดมอญ" เป็นวัดที่ชาวไทยเชื้อสายมอญร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล และเป็นที่เล่าเรียนของลูกหลาน พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาด 7 ห้อง หลังคาลด 2 ชั้น มีพาไลด้านหน้าและด้านหลัง กว้าง 10.20 เมตร ยาว 29.50 เมตร ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย นักวิชาการบางท่านเรียกว่าแบบสกุลช่างสมเด็จพระนารายณ์หรือแบบวิลันดา เป็นสถาปัตยกรรมแบบทรงตึกหรือเครื่องปูนสมัยอยุธยาตอนปลาย หน้าบันปูนปั้นไม่มีไขราหน้าจั่ว หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบและถ้วยชามจีนเป็นลายพรรณพฤกษา ไม่มีเครื่องลำยองไม้ มีหลังคาจั่นหับหรือหลังคาเฉลียงที่ด้านหน้าและด้านหลังของอุโบสถ หลังคากันสาดมีคันทวยรับหลังคากันสาด ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากสถาปัตยกรรมพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เห็นเด่นชัดที่สุด มีประตูด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 2 ประตู หน้าต่างด้านละ 7 ช่องซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มเรือนแก้วปูนปั้น บานประตูหน้าต่างสีแดง ด้านนอกระหว่างประตูมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางกวักพระหัตถ์เรียก สุทัตมาณพ (อนาถบิณฑกเศรษฐี) ในบริเวณกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ มีเจดีย์รายล้อมรอบพระอุโบสถ ทั้งที่เป็นเจดีย์ย่อมุมและเจดีย์ทรงระฆังกลมจำนวน 30 องค์ พระประธาน ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ด้านหน้าพระประธานบนฐานชุกชีเดียวกันนั้น มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย 8 องค์ประดิษฐานอยู่ ด้านหลังพระประธานมีพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย และพระอัครสาวกนั่งพับเพียบประณมมือ 2 องค์ ประดิษฐานอยู่ พระวิหารใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ อายุประมาณ ๓๐๐ – ๔๐๐ ปี แต่เดิมมา เป็นอุโบสถหลังเล็ก หลังคามุงด้วยสังกระสี แต่เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชได้กู้ชาติแล้ว จึงชวนพระยาพิชัยดาบหักมาบำเพ็ญบุญที่วัดบางยี่เรือเหนือและใต้ และได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ทั้ง ๒ วัด โดยพระองค์ควบคุมดูแลวัดบางยี่เรือใต้ สถาปนาเป็นวัดหลวงชั้นเอกพิเศษ ส่วนพระยาพิชัยดาบหักดูแลวัดบางยี่เรือเหนือ จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถขึ้น เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นโทโดยรื้อของเก่าออกแล้วสร้างใหม่ทั้งหลังลักษณะรูปแบบเหมือนอุโบสถสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่มาประดิษฐานไว้ภายในพระอุโบสถ ชาวมอญนับถือกันว่าเป็นพระที่ให้ความสำเร็จ เพราะได้ไปขอพรจากหลวงพ่อแล้ว เกิดได้รับความสำเร็จตามความปรารถนา จึงทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสมากในครั้งนั้น ต่อมา สมัยรัชกาลที่ ๑ มีรับสั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์วัด มีอุโบสถเป็นต้น และได้ยกฐานะวัดเป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี พระราชทานทินนามวัดว่า วัดราชคฤห์ ชนิดวรวิหาร เรียกชื่อเต็มว่า วัดราชคฤห์วรวิหาร ต่อมา ในสมัยพระบาทเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าจอมมารดานิ่ม ผู้ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ต่อจากท่านผู้เป็นตา โดยทรงสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ พระอุโบสถหลังเก่าก็ทำเป็นวิหารใหญ่ ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชาวบ้านมีศรัทธาไปไหว้กันไม่ขาด หลังจากวัดได้ว่างจากเจ้าอาวาส ไม่มีใครดูแลพระอุโบสถ ปรากฏว่ามีสิ่งของภายในวัดหายไป ดังนั้น ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสโดยคณะสงฆ์ จึงสั่งให้ปิดพระวิหารไว้ พระวิหารใหญ่ เป็นอาคารก่ออิฐ ถือปูน ขนาด 5 ห้อง กว้าง 8 เมตร มีมุขด้านหน้าและด้านหลัง กว้าง 7.50 เมตร รวมยาว 24 เมตร ลักษณะเป็นอาคารทรงคฤห์แบบอยุธยาปลาย ทรวดทรงสูงโปร่ง ฐานหย่อนโค้งท้องสำเภา หลังคาประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หน้าบันและหน้าอุดปีกนกเป็นไม้แกะสลักลวดลายเครือเถา มีสาหร่ายรวงผึ้งห้อยลงใต้หน้าบันระหว่างเสา ซึ่งเป็นเสารูปแปดเหลี่ยมมีบัวหัวเสาแบบบัวโถ ด้านหน้าเป็นซุ้มประตูทรงมณฑป 1 ประตู บานประตูเขียนภาพวาดทวารบาล ด้านข้างไม่มีหน้าต่าง มีเพียงประตูขนาดเล็กตรงกลางด้านละ 1 ประตู ซุ้มประตูทรงมงกุฎเรียบไม่มีลวดลาย และด้านหลัง มีประตูขนาดเล็ก 2 ประตู ซุ้มเรือนแก้ว ปูนปั้น ภายในพระวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นลายดอกไม้ร่วง และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย มีฝาผนังมีซุ้มคูหาประดิษฐาน พระพุทธรูปโดยรอบ และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานเป็นพระประธาน ภายนอก 4 มุมของพระวิหาร มีเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อไม้ยี่สิบประดิษฐานอยู่ พระวิหารนี้ หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พรมพระยาเดชาดิศรได้ทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทน พระอุโบสถเดิมจึงใช้เป็นพระวิหารเรียกกันว่า “พระวิหารใหญ่ พิชัยดาบหัก” ในปัจจุบัน พระวิหารเล็ก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง (พระบรรทมหงาย) พระยาพิชัยดาบหักได้สร้างพระปางนอนนี้ขึ้น เพื่อเป็นการบำเพ็ญบุญอุทิศกุศลให้ผู้ที่ตนไปฆ่าทหารชาวบ้านล้มตายไปเป็นจำนวนมาก (เป็นเหมือนชดใช้กรรมที่ฆ่าคนตายไป) พระพุทธรูปปางนอนหงายนี้ เป็นพระปางถวายพระเพลิง หลังจากพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ได้นำผ้าใหม่ซับด้วยสำลีแล้ว พระพุทธสรีรศพห่อด้วยผ้าห้าร้อยคู่ แล้วเชิญพระพุทธสรีรศพลง ประดิษฐาน ณ รางเหล็กอันเต็มด้วยน้ำมันแล้วปิดครอบด้วยฝารางเหล็กเสร็จ แล้วนำไปตั้งพระพุทธสรีรศพโดยลักษณะนอนหงายไว้บนจิตกาธารที่ทำด้วยไม้หอมล้วนๆ ที่มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา เพื่อทำฌาปนกิจถวายพระเพลิง แล้วจึงได้ทำการประชุมพระเพลิงแต่ปรากฏว่าไฟไม่ติด รอจนพระมหากัสสปเถระเดินทางมาถึง แล้วได้กราบพระพุทธสรีรศพ พอกราบครบครบ ๓ ครั้ง ปรากฏว่าไฟติดขึ้นมาอย่างหน้าอัศจรรย์ ดังนั้นจึงเรียกพระปางนี้ว่า ปางถวายพระเพลิง มีแห่งเดียวในประเทศไทย ชาวบ้านเคารพกันมากจึงมากราบไหว้ขอพรกันทุกวันไม่ขาด พระวิหารเล็กเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาด 3 ห้อง มีพาไลด้านหน้า ด้านเดียวกว้าง 5 เมตร ยาว 12 เมตร ลักษณะเป็นอาคารทรงคฤห์มีหลังคาปีกนกที่ใต้หน้าบันด้านสกัด หลังคาประดับเครื่องลำยอง หน้าบันมีลวดลายเครือเถา มีประตูด้านหน้าตรงกลาง 1 ช่อง และมีหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง ซุ้ทประตูหน้าเป็นซุ้มเรือนแก้วปูนปั้น บานประตูสีแดง ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของพระวิหารใหญ่เป็นพระวิหารพระนอน สร้างคู่กับพระวิหารใหญ่ ซึ่งเดิมใช้เป็นพระอุโบสถ มณฑปพระพุทธบาทจำลอง ประดิษฐานอยู่บนยอดเขามอด้านหลังกำแพงแก้วพระอุโบสถ ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) สร้างด้วยหินจากทะเล ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทย แบบจตุรมุข ยอดประสาท มุขกว้าง 4 เมตร ยื่นจากตัวอาคารด้านละ 2 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง เขามอและส่วนยอดของตัวอาคารเดิมชำรุด ปัจจุบันทางวัดบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน (พระพิพัฒน์ธรรมคณี) ทางขึ้นเขามีบันไดนาคอยู่ 2 ด้าน ที่ด้านทิศเหนือ มีหอระฆังตั้งอยู่ 2 ข้างบันได บันไดด้านทิศไต้ เป็นบันไดลิงขึ้นลงได้ ส่วนบันไดด้านทิศตะวันออก เป็นบันไดยักษ์ ซ้ายมือมีศาลาประดิษฐานรูปปั้นพระเวสสันดร พระราชทาน 2 พระกุมารแก่ พรามณ์ชูชก ส่วนขวามือเป็นหอโถง 2 ชั้น ชั้นบนประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชั้นล่างเป็นรูปปูนปั้นพระแม่ธรณีบีบมวยผม ด้านทิศตะวันตก มีกุฏิประดิษฐานรูปพระศรีอาริย์ และช่องทางลงบันไดลงไปพื้นชั้นล่างของถ้ำเขามอ เวียนรอบเขามอได้หมด พระเจดีย์ใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารใหญ่ ฐานกว้างด้านละ 7.75 เมตร เป็นพระเจดีย์ประจำวัดมาแต่เดิม ลักษณะเป็นพระเจดีย์เหลี่ยมย่อไม้ยี่สิบ ซ้อนกันเป็นชั้นเรียงตามลำดับจนถึงยอดแหลม และเป็นพระเจดีย์บรรจุพระบรมสาริกธาตุ องค์เจดีย์เดิมส่วนปลายยอดบัวกลุ่มหักหายไป กรมศิลปากรออกแบบ ซ่อมแซมใหม่ ดังสภาพที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน พระปรางค์ เป็นพระปรางค์ย่อไม้ยี่สิบ อยู่คู่กับพระเจดีย์ใหญ่ ฐานกว้างประมาณด้านละ 4.20 เมตร ทางวัดได้จัดซ่อมแซมใหม่ ผู้เฒ่าเก่าแก่เรียกกันว่า ปรางค์พิชัยดาบหัก ศาลาการเปรียญ เดิมเป็นศาลาไม้สักเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก เจ้าอาวาสรื้อออกสร้างขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2510 เป็นอาคารโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว ใต้ถุนสูง หลังคาต่อ 3 ชั้น มีมุขหน้าหลังคลุมชานลงบันได หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ศาลาโรงทึมหรือศาลาดิน ส่วนที่เป็นเสา ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน สมัยยังเป็นพระครูสาธุกิจบริหาร ได้ทำการผาติกรรมมาจากวัดอินทาราม ซึ่งเป็นเสาของศาลาการเปรียญหลังเก่า จากท่านเจ้าคุณพระวิเชียรมุนี เจ้าอาวาสวัดอินทารามองค์ที่แล้ว ซึ่งยังเหลือแต่ไม้เต็งไม้เนื้อแข็งเท่านั้นส่วนไม้สักดีๆ คนอื่นเขาเอาไปหมดแล้ว ท่านได้เอามาตกแต่งใหม่ จนใช้เป็นเสาศาลาโรงทึมที่เห็นในปัจจุบัน แต่ขณะนี้ทรุดโทรมลงไปมากแต่ได้มีผู้ศรัทธาขอบริจาคเงินสร้างให้ใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก กุฏิพระสงฆ์ ของเก่าเรือนโบราณทรงไทย ปัจจุบันมีการรื้อเปลี่ยนแปลงไปบ้าง กุฏิเจ้าอาวาส สร้างเมื่อ พ.ศ. 2512 ทรงสมัยใหม่ คอนกรีตเสริมเหล็ก มุงกระเบื้องลอน
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site ย่านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
ย่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
.
เลขที่ : เลขที่ 828 ถนนเทอดไท ต. บางยี่เรือ อ. เขตธนบุรี จ. กรุงเทพมหานคร 10600
ผศ.ปิยะ ไล้หลีกพาล
025791111 ต่อ 2420
tharadol : มหาวิทยาลัยศรีปทุม :