วัดจันทารามเป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร เรียกชื่อเต็มตามที่พระราชทานไว้ว่า “วัดจันทารามวรวิหาร” ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ ฝั่งใต้ ริมปากคลองบางยี่เรือ ในท้องที่ของเขตธนบุรี กรุงเทพมหานครตั้งอยู่ระหว่างวัดอินทารามวรวิหารกับวัดราชคฤห์วรวิหาร วัดจันทารามเดิมชื่อว่า “วัดบางยี่เรือกลาง” หรือ “วัดกลาง” เพราะอยู่กลางระหว่างวัดบางยี่เรือใน (วัดราชคฤห์ปัจจุบัน) กับวัดบางยี่เรือนอก (วัดอินทารามปัจจุบัน) ตามตำนานพระอารามหลวงโดยสังเขป พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวความตรงกันว่า พระยาสุรเสนา (ขุนเณร) เป็นผู้สร้างวัด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดจันทาราม” แต่จะสร้างเมื่อไรไม่มีหลักฐานที่จะค้นคว้าอ้างอิงได้ หนังสือประวัติวัดจันทารามของพระวิสุทธิวราภรณ์อดีตเจ้าอาวาสวัดจันทารามกล่าวถึงข้อสันนิษฐานกล่าวไว้ตอนหนึ่งความว่า “วัดจันทารามคงสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรืออาจเป็นปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้ โดยอาศัยประวัติวัดใกล้เคียงเป็นข้อสันนิษฐาน เนื่องจากเป็นเขตติดต่อกัน ๓ วัด คือ วัดราชคฤห์เดิมชื่อ “วัดบางยี่เรือเหนือ” พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปฏิสังขรณ์และเจ้าพระยาพระคลัง (หน) สร้างใหม่ทั้งหมดในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชคฤห์” และวัดอินทารามเดิมชื่อว่า“วัดบางยี่เรือใต้” พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปฏิสังขรณ์ ต่อมารัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอินทาราม” โดยเหตุที่ว่าชื่อเดิมขึ้นต้นด้วยวัดบางยี่เรือทั้ง ๓ วัด เติมคำว่า “เหนือ” “กลาง” “ใต้” ทำให้เป็นข้อสังเกตได้ว่า คงสร้างในสมัยใกล้เคียงกัน คือสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาเพราะสมัยกรุงศรีอยุธยากับกรุงธนบุรีเป็นช่วงระยะเวลาติดต่อกัน ตามประวัติที่อ้างอิงนี้ได้เหตุผลว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ใช่เป็นผู้ทรงสร้าง แต่เป็นเพียงผู้ปฏิสังขรณ์ให้ดีขึ้นเพื่อให้เป็นพระอารามเชิดชูพระเกียรติยศของพระองค์และเป็นวัดที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของพระองค์ โดยอาศัยเหตุผลวัดใกล้เคียงดังกล่าวแล้วจึงเชื่อว่าวัดจันทารามได้สร้างมาก่อนสมัยกรุงธนบุรีจึงนับว่าเป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณและเป็นวัดที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ด้วยปัจจุบันนี้หลักฐานสำคัญทางโบราณสถานวัตถุมีพระอุโบสถพระวิหารซึ่งมีอายุกว่า ๑๐๐ ปีและมีพระปางห้ามสมุทรทรงเทริดประทับยืนติดผนังด้านในพระอุโบสถ ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นพระพุทธรูปโบราณองค์หนึ่ง องค์พระทำด้วยไม้บุหรือหุ้มด้วยโลหะดุนลาย ข้อสันนิษฐานอีกทางหนึ่งที่ว่าวัดจันทารามสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็คือ หนังสือเรื่องพุทธศิลป์ในประเทศไทย พระนิพนธ์ของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล กล่าวไว้ความตอนหนึ่งว่า “บรรดาโบสถ์และวิหารสมัยกรุงศรีอยุธยา มีสิ่งที่ควรสังเกตได้คือ มักทำฐานและหลังคาเป็นเส้นอ่อนโค้ง และมักใช้เสากลมก่อควบอิฐ มีบัวหัวเสาเป็นรูปบัวตูม ไม่เหมือนกับบัวจงกล โดยเฉพาะเชิงชายผุพังลงมาเป็นแถบ ๆ หลังคาก็ทรุดโทรมลงมา ซึ่งได้บ่งถึงว่ายังไม่เคยซ่อมมาเลยตั้งแต่สมัยที่ได้ก่อสร้างมา ส่วนพระอุโบสถนั้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีการซ่อมแซมมาแล้วอย่างน้อยครั้งหนึ่ง สังเกตได้จากตัวของภายในพระอุโบสถซึ่งเดิมเป็นไม้ แต่เมื่อตรวจดูก่อนซ่อมแซมครั้งนี้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และภาพจิตรกรรมฝาผนังมีรอยซ่อมแซมอยู่บ้างจึงได้เหตุผลว่าพระอุโบสถได้ซ่อมแซมมาแล้วอย่างน้อย ๑ ครั้ง แต่ก็ยังทรุดโทรมมาก เพราะเข้าใจว่าคงซ่อมแซมมานานปี ถ้าขืนปล่อยไว้ก็มี แต่จะทรุดโทรมหนักขึ้น จึงได้แจ้งเรื่องการบูรณะซ่อมแซมไปยังกรมศิลปากรและ เจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัต วัดสังเวชวิศยาราม ซึ่งเป็นเจ้าคณะนครหลวง อยู่ในขณะนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ซ่อมแซมได้ ในพระอุโบสถมีวัตถุโบราณที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้คือพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทรงเทริดซึ่งประเทับยืนอยู่ภายใน เมื่อทางกรมศิลปากรไม่ขัดข้องในการจะบูรณะซ่อมแซม ได้สั่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสภาพของพระอุโบสถและได้แจ้งให้ทราบ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นศิลปะแบบจีนเครื่องสูงของจีนที่เขียนด้วยฝีมือประณีตจึงได้อนุรักษ์ไว้ทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังและลายเพดาน แต่ทางวัดขออนุญาตเพิ่มเติมจากส่วนที่ชำรุดหายไปโดยจะไม่เขียนภาพทับของเก่า จะหาช่างจากกรมศิลปากรที่เชื่อถือและรับรองให้เขียนภาพได้ จึงได้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเพิ่มเติมดังที่ได้ปรากฏอยู่ในขณะนี้ สถาปัตยกรรมในวัดจันทารามวรวิหาร ได้แก่ 1.พระอุโบสถ พระอุโบสถเดิมเป็นโครงสร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน ต่อมาได้ทำการบูรณะในปี พ.ศ. 2517 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2520 โดยเปลี่ยนเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยม รัชกาลที่ 3 ทรงโรง มีพาไลรอบ ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย หล่อด้วยทองเหลือง ในพระอุโบสถวัดจันทารามวรวิหารมีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทรงเทริดแบบครึ่งซีกทำด้วยไม้สัก ประดิษฐานภายในอุโบสถ ที่ผนังด้านตรงข้ามกับพระประธาน ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นศิลปะแบบจีน เขียนเป็นภาพเครื่องสูงของจีน เขียนด้วยฝีมืออย่างประณีต และภายนอกบริเวณหน้าบันยังมีลวดลายเป็นสิ่งศิริมงคลของจีนเช่น ค้างคาว นก เป็นต้น 2. พระวิหาร พระวิหาร เป็นสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยม รัชกาลที่ 3 ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา โครงสร้างเดิมด้วยการก่ออิฐถือปูนแบบพระอุโบสถและได้รับการบูรณะแบบพระอุโบสถ 3. หอระฆัง หอระฆังสร้างเมื่อ พ.ศ.2517 โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ชั้นล่างทำเป็นที่อยู่ของพระภิกษุและสามเณร 4. ศาลาบำเพ็ญกุศล ศาลาบำเพ็ญกุศล สร้างเป็นแถวเดียวกันกั้นระหว่างเขตพุทธาวาส และ สังฆาวาสจำนวน 5 หลัง เป็นศาลาชั้นเดียว คอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้องรางเคลือบ สร้างในสมัยพระวิสุทธิวราภรณ์จ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site ย่านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
ย่านประวัติศาสตร์การพาณิชย์
ย่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
.
เลขที่ : 276 ถนนเทอดไท ต. ตลาดพลู อ. เขตธนบุรี จ. กรุงเทพมหานคร 10600
ผศ.ปิยะ ไล้หลีกพาล อ.พีรวัฒน์ บูรณพงศ์
080 4558004
tharadol : มหาวิทยาลัยศรีปทุม :