PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : AS-10600-00004

วัดอินทารามวรวิหาร
Wat Intharam Worawiharn

วัดอินทารามวรวิหาร หรือชื่อเดิมคือ วัดบางยี่เรือนอก หรือวัดบางยี่เรือใต้ ตั้งอยู่ที่ ถนนเทอดไท แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร วัดอินทรารามวรวิหาร มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏผู้สร้างและปีที่สร้าง ในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีเคยเสด็จมาประทับแรมเพื่อทรงนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ทรงโปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดขึ้นมาใหม่และสถาปนาขึ้นเป็น วัดพระอารามหลวง ชั้นเอกพิเศษ เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพระราชกุศลที่สำคัญ จนเมื่อเสด็จสวรรคตลงก็ได้ประดิษฐานพระบรมศพถวายพระเพลิง และบรรจุพระบรมอัฐิไว้ ในช่วงรัชกาลที่ 3 พระยาศรีสหเทพ มีชื่อเดิมว่า ทองเพ็ง มาปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่ ทั้งซ่อมแซมและปลูกสร้างถาวรวัตถุเสนาสนะ ต่อมาในรัชกาลที่ 5 มีเจ้าอาวาสองค์แรกคือ พระทักษิณคณิสร ได้เอาใจใส่ทำการปฏิสังขรณ์สิ่งปลูกสร้างให้เจริญมากขึ้น ลักษณะทางสถาปัตยกรรม พื้นที่ภายในวัดอินทารามวรวิหาร ประกอบด้วย เขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส เขตพุทธาวาส เป็นที่ประดิษฐานปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ เปรียบเสมือนพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ในอาคารใดอาคารหนึ่งในบริเวณนี้ ส่วนเขตสังฆาวาส เป็นที่ซึ่งพระสงฆ์ทายาทของพระพุทธเจ้าและพุทธบริษัทพำนักอาศัย ภายในเขตพุทธาวาส ซึ่งมีความสำคัญที่สุดของวัดพุทธศาสนา เพราะเปรียบเสมือนที่ประทับของพระพุทธเจ้า ในเขตพุทธาวาสของวัดอินทาราม แบ่งเป็น 2 เขต คือ เขตเดิมที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างไว้ ประกอบด้วย พระอุโบสถเก่า วิหารพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งแต่เดิมคือพระวิหาร และพระเจดีย์คู่ และอีกเขตเป็นเขตที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง ศรีเพ็ญ) ประกอบด้วย พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญพระปรางค์คู่ พระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุม 3 องค์ กับกุฏิพระพุทธองค์ 4 หลัง ในเขตพุทธาวาสของวัดอินทารามวรวิหาร มีพระอุโบสถเป็นประธานของวัด ลักษณะของสถาปัตยกรรมภายในเขตพุทธาวาสของวัดอินทารามวรวิหาร เป็นสถาปัตยกรรมตามแบบประเพณีนิยมผสมผสานกับศิลปกรรมแบบพระราชนิยมของรัชการที่ 3 พระอุโบสถหลังใหม่ พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง ศรีเพ็ญ) สร้างขึ้นในบริเวณประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขนาดกว้าง 17.90 เมตร ยาว 28.60 เมตร พระอุโบสถมีขนาดใหญ่ รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบสถาปัตยกรรมประเพณีนิยมรัชกาลที่ 3 หลังคาทรงโรง มีพาไลรอบ หลังคาซ้อนชั้น 2 ชั้น 3 ตับ หลังคาประดับเครื่องลำยอง หน้าบันตกแต่งด้วยลายพันธุ์พฤกษาจนเต็มพื้นที่ด้านบน ถัดจากส่วนด้านบนลงมาเป็นพื้นที่ว่าง ตกแต่งด้วยบานหน้าต่างคู่ 2 ชุด เป็นคู่บานหน้าต่างเล็ก ลักษณะศิลปะสมัยธนบุรี ผนังพระอุโบสถมีช่องหน้าต่างด้านข้างด้านละ 5 ช่อง ซุ้มหน้าต่างทรงบันแถลง บานหน้าต่างประดับลายรดน้ำ บานหน้าต่างด้านในเป็นภาพเทวดาทั้ง 10 ช่อง ผนังด้านสกัดมีประตูด้านละ 2 ช่อง ซุ้มประตูเป็นทรงบันแถลงเช่นเดียวกับซุ้มหน้าต่าง ด้านหลังบานประตูเขียนภาพทวารบาลรูปเซี่ยวกางทั้ง 4 ช่อง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปรางมารวิชัยสมัยสุโขทัยเป็นพระประธาน หน้าตักกว้าง 10 ฟุต 3 นิ้วครึ่ง มีพระนามว่า “พระพุทธชินวร” พระอุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ประกอบซุ้มเสมา 8 ทิศ ซุ้มเสมาเป็นทรงปราสาทยอดเจดีย์เหลี่ยมย่อมุม ยอดเป็นบัวกลุ่มเถา 3 ชั้น 2. พระวิหารเดิม ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถใหม่ด้านขวา พระยาศรีสหเทพสร้างขึ้น ลักษณะเดิมตามที่ปรากฏหลักฐาน คือ มีกำแพง 2 ชั้น ชั้นนอกมีประตูและหน้าต่างเหมือนวิหารธรรมดา ส่วนวิหารชั้นในมีประตูทางเข้าด้านข้าง 2 ด้าน ประตู ด้านหน้าเขียนลายรดน้ำเป็นรูปนารีผลที่ยังไม่สมบูรณ์ ภาพลบเลือนบางส่วน ซึ่งยังพอมองเห็นลวดลายได้ ด้านในพระวิหารก่อแท่นไว้ ตู้พระไตรปิฎก 2 ด้าน ประดิษฐานพระประธานขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอกเศษ ปางมารวิชัย ด้านซ้ายเป็นพระปางห้ามญาติและด้านขวาเป็นพระปางห้ามสมุทร ตามฝาผนังพระวิหารด้านในและด้านนอกมีช่องสีมาไว้พระพุทธรูป 221 ช่อง ปัจจุบันพระวิหารเดิมทรุดโทรมมาก ได้ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุสถานไว้แล้ว 3. ศาลาการเปรียญเก่า ตั้งอยู่ด้านซ้ายของพระอุโบสถใหม่ พระยาศรีสหเทพสร้าง ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย ขนาดกว้าง 3 ศอกเศษ ประกอบด้วยหมู่พระพุทธรูปปางห้ามญาติ 2 องค์ และปางมารวิชัยอีก 3 องค์ ผนังวิหารทำเป็นช่องสีมารอบทั้ง 4 ทิศ เป็นที่ไว้พระพุทธรูปรวม 148 ช่อง ทางวัดได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมแล้ว เนื่องจากอาคารนี้ได้ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุสถานไว้ลักษณะอาคารก่ออิฐถือปูนมีความสูงของผนังมาก หลังคาซ้อน 2 ตับ ลักษณะเดียวกับพระวิหารปัจจุบัน ใช้เป็นที่ให้พุทธศาสนิกชนบำเพ็ญบุญ ถือศีล ฟังธรรม ทำสมาธิในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 4. พระวิหารคดซ้ายขวา ตั้งอยู่ตรงประตูด้านหน้าพระอุโบสถ พระยาศรีสหเทพสร้างขึ้นพร้อมพระอุโบสถใหม่ลักษณะรูปแบบทรงไทย หน้าบันตกแต่งด้วยลายดอกไม้เรียงตัวอย่างเป็นระเบียบตลอดทั้งหน้าบัน วิหารคดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 5. พระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้ 20 สมัยรัตนโกสินทร์ ลักษณะของพระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุม 20 ก่ออิฐถือปูน 3 องค์ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฐานของพระเจดีย์องค์กลางเป็นฐานแบก ที่มีประติมากรรมปูนปั้นรูปยักษ์และกระบี่หรือลิงแบกฐานเจดีย ระหว่างพระเจดีย์ 3 องค์สร้างสลับกับวิหาร 4 หลัง เรียกว่า กุฏิพุทธองค์ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถหลังใหม่ 6. เจดีย์ทรงระฆังกลม พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนสีขาวตั้งบนแปดเหลี่ยม 2 องค์หน้ากำแพงแก้วชั้นนอกของพระอุโบสถใหม่ ฐานพระเจดีย์ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นเฟื่องอุบะดอกไม้โดยรอบ 7. กุฏิพุทธองค์ จำนวน 4 หลังสลับกับพระเจดีย์ย่อมุมด้านหลังอุโบสใหม่ กุฏิหัวและท้ายประดิษฐานพระปางไสยาสน์ขนาดยาว 4 เมตร 84 เซนติมตร อีกสองหลังประดิษฐานพระแท่นพุทธบาทหลังหนึ่ง และอีกหลังหนึ่งประดิษฐานหีบพระศพพระพุทธองค์ยื่นพระบาทออกมา เป็นปางถวายพระเพลิงให้พระมหากัสสปได้นมัสการ ภายในกุฏิพระพุทธองค์ทั้ง 4 หลังมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นลายดอกไม้ร่วง 8. พระปรางค์ คู่ซ้ายขวา ด้านหลังพระอุโบสถ พระปรางค์คู่สร้างขึ้นพร้อมกับพระอุโบสถหลังใหม่ ลักษณะพระปรางค์สร้างบนฐานสูงรูปทรงฝักข้าวโพด เป็นพระปรางค์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบ เครื่องลายคราม และกระจกสี องค์ปรางค์ตั้งอยู่บนฐานสูงมีพาไลรอบ เรือนธาตุของปรางค์มีซุ้มจรนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ชั้นอัสดงประดับด้วยประติมากรรมครุฑยุดนาค 9. พระเจดีย์กู้ชาติ 2 องค์ พระเจดีย์ตั้งอยู่ต้านหน้พระอุโบสถหลังเก่า สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระอัครมเหสี เจดีย์ทั้งสององค์เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะมีบัวกลุ่มรองรับองค์ระฆังและยอดเป็นบัวกลุ่มซ้อนชั้น ส่วนเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จสมเด็จกรมหลวงบาทบริจา (สอน) พระอัครมเหสี เป็นองค์ที่มียอดเป็นปล้องไฉน สันนิษฐานว่าพระเจดีย์กู้ชาติ สร้างขึ้นในปีมะโรงจุลศักราช 1146 หรือ พ.ศ. 2327 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธ-ยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดบางยี่เรือ หรือมีข้อสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยรัชกาลที่ 1 อาจสร้างขึ้นพร้อมพระอุโบสถหลังเดิมในสมัยอยุธยาตอนปลาย และไม่ได้มีการกล่าวถึงพระเจดีย์องค์นี้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ 10. พระอุโบสถเก่าที่ปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งอยู่ภายในวัดด้านริมคลองบางกอกใหญ่ ภายในประดิษฐาน พระพุทธรูปฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ปรางค์ตรัสรู้ หน้าตักกว้าง 4 ฟุต 8 นิ้วครึ่ง เป็นพระประธาน และเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารหรือเถ้ากระดูกของพระองค์ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบสถาปัตยกรรมพระราชนิยม รัชกาลที่ 3 หลังคาและหน้าบันของพระอุโบสถเก่าหลังนี้ ประดับด้วยเครื่องลายคราม 11. พระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ พระวิหารเล็ก ตั้งอยู่ข้างพระอุโบสถเก่า ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบสถาปัตยกรรมพระราชนิยม รัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปรางค์มารวิชัยสมัยอยุธยา หน้าตักกว้าง 4 ฟุต 10 นิ้วครึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งพระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งพระองค์เคยใช้เป็นที่ประทับพักแรม ปฏิบัติธรรม และทรงกรรมฐาน นอกจากนั้นยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปแบบจำลองแบบทรงพระกรรมฐาน



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องได้ : Tangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

โบราณสถาน : AS : Archeological Site โบราณสถานสัญลักษณ์แห่งชาติ
อนุสาวรีย์แห่งชาติ
ย่านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
ย่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : 256 ถนนเทอดไท ต. บางยี่เรือ อ. เขตธนบุรี จ. กรุงเทพมหานคร 10600

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

อ.พีรวัฒน์ บูรณพงศ์

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

080 4558004

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

tharadol : มหาวิทยาลัยศรีปทุม :

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-
พิกัด GPS

มีผู้เข้าชมจำนวน :529 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 10/01/2023 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 10/01/2023


BESbswy