วัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม มีประวัติความเป็นมา ปรากฏในหลักฐานว่า ในปี พ.ศ. 2416 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระวันรัต วัดสุทัศน์เทพวราราม ครั้งยังเป็นพระเทพกวี (แดง ฉายา สีลวัฑฒโน) ได้อุทิศที่ดินซึ่งเป็นมรดกจาก นายโพ และ นางมิ โยมบิดามารดา สร้างเป็นพระอาราม เรียกชื่อว่า “วัดโพมิ” เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ท่านทั้งสอง และเพื่อเป็นการแสดงความศรัทธาอย่างมุ่งมั่นในพระพุทธศาสนา ในปีต่อมาได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2417 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดโพธินิมิตร” ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดโพธิตลาดพลู” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค เพื่อถวายผ้าพระกฐินที่วัดโพธินิมิตร ในปี พ.ศ. 2432 พร้อมกับพระราชทานพระราชทรัพย์ จ้างช่างเขียนชื่อพระอาจารย์แดงจิตรกรฝีมือเอกให้เขียนภาพที่ผนังพระอุโบสถ ภาพที่เขียนนั้นเกี่ยวกับพระอารามหลวงในกรุงเทพและหัวเมืองที่ผูกพัทธสีมาโดยใช้ธรรมชาติ เช่น ภูเขา หรือแม่น้ำ เป็นนิมิตร ภาพประเพณีต่าง ๆ และภาพพระเจ้าอโศกมหาราชทรงตอนกิ่งพระศรีมหาโพธิ เป็นต้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2433 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับวัดโพธินิมิตรเป็นพระอารามหลวงแล้ว สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวัฑฒโน) ขณะนั้น เป็นพระธรรมวโรดม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผูกขัณฑสีมา และมหาสีมา เนื่องจาก ได้ศึกษาสืบทอดมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบกับยังไม่เคยมีวัดในมหานิกายที่มีขัณฑสีมาเต็มพื้นที่มาก่อน จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ผูกมหาสีมาวัดโพธินิมิตร ซึ่งนับเป็นวัดแรก และวัดเดียวในคณะสงฆ์มหานิกายที่มีเขตกำหนดสังฆกรรมเป็นมหาสีมา ประวัติของสมเด็จพระวันรัต (แดง) เจ้าอาวาสรูปแรก เจ้าอาวาสสมเด็จพระวันรัต (แดง) เกิดวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2365 มรณภาพ มกราคม พ.ศ. 2444 อายุ 78 ปี สมเด็จพระวันรัตมีนามเดิมว่า “แดง” เป็นบุตรของนายโพธิ์กับนางมิ เมื่ออายุ 13 ปี ก็ได้ออกบวชเป็นสามเณรอยู่กับพระธรรมุเทศาจารย์ (ฉิม) ขณะยังเป็นพระอันดับ วัดอินทาราม และได้ติดตามท่านไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ท่านได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมในปีใดไม่ปรากฏ ได้เป็นเปรียญธรรม 4 ประโยค ถึงปีระกา พ.ศ. 2392 ขณะอายุได้ 29 ปี เข้าแปลอีกได้เป็นเปรียญธรรม 8 ประโยค ได้รับสมณศักดิ์สูงสุดเป็น สมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ ที่ สมเด็จพระวันรัต ปริยัติพิพัฒพงษ์ วิสุทธสงฆปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณสุนทร มหาทักษิณคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสีอรัญวาสี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2434 มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันเสาร์ที่ 5 มกราคม ร.ศ. 119 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2444) เวลา 5 ทุ่มเศษ สิริอายุได้ 78 ปี 25 วัน เวลาบ่าย 5 โมงเศษ ประวัติ พระศรีสิทธิมุนี (เฉลิมชัย ชยเมธี) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พระศรีสิทธิมุนี (เฉลิมชัย ชยเมธี) เจ้าอาวาสวัดโพธินิมิตร ปัจจุบันมีอายุ 50 ปี บวช 27 พรรษา สำเร็จการศึกษาปริญญาศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต และสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา พระอุโบสถ พระอุโบสถ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2417 ปัจจุบันอายุ 147 ปี ขนาดกว้าง 10.70 เมตร ยาว 18.60 เมตร ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นอาคารทรงโรง มีพาไลรอบ หลังคาซ้อนชั้นลดตับ ประดับเครื่องลำยอง นิมิตของขัณฑสีมา มีลักษณะเป็นสีมาแนบผนัง ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถ ภาพที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพวาดวัดสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดราชนัดดาราม เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีภาพของศาลาท่าน้ำวัดอีกด้วย พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อลงรักปิดทอง ปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง 1 ศอก 9 นิ้ว สูง 2 ศอก 36 นิ้ว มีพระสาวกนั่งคุกเข่าประนมหัตถ์ บนฐานชุกชี 4 ด้าน 4 องค์ วัดโพธินิมิตร เป็นวัดที่มีสีมา 2 แบบ ได้แก่ มหาสีมา เป็นสีมาที่ตั้งขึ้นเพื่อกำหนดพื้นที่ของวัดทั้งหมดเป็นพื้นที่ทำสังฆกรรม การที่วัดโพธินิมิตรมีมหาสีมาจึงเป็นที่มาของชื่อวัดที่ลงท้ายด้วยคำว่า “สถิตมหาสีมาราม” ซึ่งวัดโพธินิมิตรเป็นวัดที่เป็นมหานิกายวัดเดียวที่มีมหาสีมา นอกนั้นเป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายทั้งหมด โดยวัดที่มีมหาสีมามีอยู่ 4 วัดด้วยกัน ได้แก่ วัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมาราม วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม วัดบรมนิวาส และวัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมาราม ขัณฑสีมา เป็นสีมาที่ใช้กำหนดพื้นที่ทำสังฆกรรมรอบอุโบสถ โดยนิมิตของขัณฑสีมาของวัดโพธินิมิตรนี้ เป็นสีมาแบบแนบผนัง ติดตั้งไว้กับผนังด้านนอกของอุโบสถทั้ง 8 ทิศ ทำด้วยหินอ่อน ปิดทองประดับกระจก มีตราประจำยามอยู่ตรงกลาง ด้านล่างเป็นฐานสิงห์ ปลายยอดสีมาทำเป็นรูปอุณาโลมเปล่งรัศมี พระมหาเจดีย์ พระมหาเจดีย์ เป็นเจดีย์ทางลังกา ฐานสี่เหลี่ยมด้านเท่า ยาวด้านละ 10.40 เมตร สูง 30.50 เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบยาวด้านละ 22.60 เมตร มีบันไดขึ้นลง 4 ทิศ ประตูเข้าออก 4 ด้าน มีเจดีย์ทิศสูง 3.50 เมตร ตั้งอยู่ทั้ง 4 มุมของกำแพง และมีศาลา 4 ทิศ ตามแนวกำแพงพระมหาเจดีย์ สร้างเป็นพระพุทธบูชาและบรรจุอัฐิสมเด็จพระวันรัต (แดง) ผู้สร้างวัด พลับพลารับเสด็จรัชกาลที่ 5 พลับพลารับเสด็จรัชกาลที่ 5 เป็นอาคารทรงไทย ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 9 เมตร สร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2511 แทนของเดิมที่สร้างเป็นพลับพลาเครื่องไม้สำหรับรับเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน พ.ศ. 2432 ปัจจุบันใช้เป็นห้องสมุด ชื่อห้องสมุดโพ-มิ ประชาอุทิศ ศาลาการเปรียญ ศาลาการเปรียญเดิมเป็นอาคารที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถวายเรือนไม้ซึ่งเป็นท้องพระโรงเดิมให้สร้างเป็นศาลา แต่ถูกไฟไหม้หมดในปี พ.ศ. 2458 ในปี พ.ศ. 2468 จึงสร้างศาลาการเปรียญใหม่เป็นอาคาร 2 ชั้น ขนาดกว้าง 14 เมตร ยาว 20.50 เมตรชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นไม้หลังคา 2 ชั้นประดับช่อฟ้าใบระกา ศาลาท่าน้ำ ศาลาท่าน้ำ เป็นศาลาที่ปลูกต่อเนื่องกับท่าขึ้นลงเรือ ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองสำเหร่ อยู่ทางด้านหลังพระอุโบสถ มีหลังคามุงกระเบื้อง หน้าบันประดับช่อฟ้า ใบระกาหางหงส์ ทำเป็นอย่างทรงโรงมีขนาด 2 ห้อง มีหลังคาพาไลโดยรอบ ตอนใต้ของพาไลทั้ง 2 ข้างยกพื้นปูกระดานให้คนนั่งพักได้ พื้นที่ตรงกลางศาลาเปิดช่องไว้สำหรับคนเดิน
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site ย่านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
.
เลขที่ : 96 ซอยเทอดไท 19 ต. บางยี่เรือ อ. เขตธนบุรี จ. กรุงเทพมหานคร 10600
ผศ.ปิยะ ไล้หลีกพาล
https://www.facebook.com/chalermchaichayamaytheekun/about
tharadol : มหาวิทยาลัยศรีปทุม :