เมื่อกว่า100 ปี มาแล้ว บริเวณวัดวัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร (วัดหมู) เป็นย่านขนส่งสินค้าการเกษตรจากบริเวณเพาะปลูกด้านในจากบางมด บางขุนเทียนมีเรือเอี๊ยมจุ้นขนสินค้าการเกษตร มีเรือข้าวสาร และเรือนแพจอดมากมาย จนเป็นย่านการค้าพืชผลทางการเกษตรอีกแห่งหนึ่งมีตลาดไม้โบราณที่ถูกรื้อเปลี่ยนเป็นศาลาโรงธรรมของวัดอัปสรสวรรค์ ชุมชนโดยรอบมีทั้งคนไทย จีน มาประกอบอาชีพ เช่น เมื่อราว 40 ปีที่ผ่านมาเคยมีร้านหมอยาโบราณรับกวาดยาแก้ไข้เด็กเล็กถึง 3 โรงหมอ (พีรวัฒน์ บูรณ์พงศ์, 2565) วัดอัปสรสวรรค์วรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ชื่อเดิมคือวัดหมู เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ สมัยอยุธยา ตามตำนานเล่ากันว่าจีนอู๋เป็นผู้สร้างบนที่ดินที่เคยใช้เลี้ยงหมูมาก่อน เมื่อสร้างเสร็จ มีหมูมาเดินเพ่นพ่านอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดหมู ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงบูรณปฏิสังขรณขึ้นใหม่อีกครั้ง และพระราชทานนามว่า วัดอัปสรสวรรค์ โดยได้พระราชทานพระพุทธรูป ปางฉันสมอ หรือ "หลวงพ่อสมอ" ให้เป็นพระประธานและประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ พระพุทธรูปปางฉันสมอเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะแบบจีน พระหัตถ์ซ้ายถือผลสมอ ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามเป็นสง่า เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวนครหลวงพระบาง และเวียงจันทน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่มาจากเมืองเวียงจันทน์ เดิมที่ประดิษฐานไว้ในพระวิหารพระนาก ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากบูรณปฏิสังขรณ์วัดอัปสรสวรรค์ จึงพระราชทานหลวงพ่อฉันสมอมาประดิษฐานที่วัดนี้จนถึงปัจจุบัน โครงสร้างของพระอุโบสถและพระวิหาร ยังคงเดิมตามศิลปะจีน โดยเลียนแบบวัดราชโอรสฯ เมื่อเข้าไปภายในพระอุโบสถ มีพระประธานจำนวน 28 องค์ เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย ซึ่งมีความเหมือนและมีขนาดเท่ากันทั้งหมด ประดิษฐานอยู่บนชุกชีด้วยกัน พระพุทธรูปเหล่านี้มีพระนามจารึกไว้ที่หน้าฐานทั้ง 28 องค์ ได้แก่ พระตัณหังกร อพระเมธังกร พระสรณังกร พระทีปังกร พระโกณฑัญญะ พระมังคละ พระสุมนะ และ พระโคดม เป็นต้น (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, 2565) นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าในวัดได้แก่ หอพระไตรปิฎก เป็นศิลปะรูปแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นเครื่องไม้ ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรแล้ว มีการบูรณะซ่อมแซมมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญไม้สักทรงไทย ใช้ในการประกอบศาสนกิจของชาวบ้านในชุมชนเช่น ทอดกฐิน และเทศน์มหาชาติซึ่งสมัยก่อนเป็นจัดเป็นพิธีสำคัญของชุมชนริมคลองด่าน และคลองบางหลวง มีการเทศน์ต่อเนื่องข้ามวันข้ามคืนโดยการเทศน์กัณฑ์สุดท้ายจะเสร็จสิ้นในเช้าวันรุ่งขึ้น มีการจัดตกแต่งจำลองให้คล้ายป่าเขาวงกตนอกเมืองสีพี ปัจจุบันยุติการจัดเทศน์มหาชาติบนศาลานี้ไปเมื่อปี พ.ศ. 2560 ภายในมีจิตรกรรมบนแผ่นไม้ช่วงที่เป็นคานมีลวดลายจิตรกรรมเรื่องพระเวสสันดรชาดก จัดเป็นของเก่าแก่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ตัวอาคารอยู่ระหว่างบูรณะโดยกรมศิลปากร (พีรวัฒน์ บูรณพงศ์, 2565)
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site ย่านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
ย่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ย่านโบราณคดี
.
เลขที่ : 174 ซอยรัชมงคลประสาธน์ 10 แยก 2 ถนนรัชมงคลประสาธน์ ต. ปากคลองภาษีเจริญ อ. เขตภาษีเจริญ จ. กรุงเทพมหานคร 10160
พีรวัฒน์ บูรณพงศ์
080 4558004
tharadol : มหาวิทยาลัยศรีปทุม :