เมื่อครั้งอดีตชนเผ่าม้งมีวัฒนธรรมในทุกครอบครัวที่มีลูกสาว เมื่อถึงเวลาลูกสาวสามารถเรียนรู้ได้แล้ว จะสอนกระบวนการทำผ้าจากใยกัญชง ซึ่งผ้าใยกัญชงเป็นผ้าที่ทำจากใยกัญชง ซึ่งมีขั้นตอนการทำยากและซับซ้อน ต้องใช้ประสบการณ์ความชำนาญจึงจะได้ผ้าที่สมบูรณ์และมีคุณภาพ นางยัว มโนมัย อายุ 72 ปี ย้ายถิ่นฐานจากอุ้มผาง จ.ตาก มาอยู่ที่คลองลาน จ.กำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ.2513 เป็นชาวม้ง ได้เล่าว่าตนเองเป็นหนึ่งในลูกสาวของครอบครัวชนเผ่าม้ง เรียนรู้การทำผ้าใยกัญชงจากคุณแม่ที่สืบต่อกันมาหลายชั่วรุ่น การทำผ้าใยกัญชงเป็นสิ่งสำคัญของชนเผ่าม้ง เพราะต้องใช้ในการประกอบพิธีกรรมหลัก ๆ คือ งานศพของประเพณีชนเผ่า ชนเผ่าม้งเชื่อว่าการที่ผู้ล่วงลับได้สวมใส่ผ้าใยกัญชงนั้น จะได้ขึ้นสวรรค์เป็นเทพเทวดา ซึ่งการทำผ้าใยกัญชงต้องทำช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนเท่านั้น โดยเริ่มขั้นตอนจากการจัดหาต้นกัญชงนำมาตากไว้โดยตากไว้ในร่มเท่านั้น เมื่อต้นกัญชงแห้งตามที่ต้องการแล้วนำมาลอกเปลือกออก เสร็จแล้วนำไปตำในครกไม้(สมัยก่อนตำในดิน) ให้เปลือกต้นกัญชงนั้นเกิดความหยัก ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องทำช่วงเวลา 04.00 - 05.00 น. เท่านั้น เนื่องจากอากาศจะมีความชื้น เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้แล้วก็นำใยกัญชงไปต่อกันให้ได้ความยากที่กำหนด วิธีการต่อต้องหัวชนหัวท้ายชนท้ายเท่านั้น และนำไปม้วนเป็นใจ เสร็จแล้วนำไปปั่นกับเครื่องปั่นด้าย ภาษาม้งเรียกว่า “ชั่วะโด่ว” แต่ต้องชุบน้ำก่อนปั่น ซึ่งการชุบน้ำจะทำให้ด้ายมีความเหนียวไม่ขาดง่าย ในขั้นตอนนี้ ต้องทำตามที่เรากำหนดและต้องปั่นให้หมดใน 1 วัน เนื่องจากด้ายที่ชุบน้ำจะเกิดการเสีย ช่วงเวลาเตรียมปั่นด้ายจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลา 04.00 น. เป็นตอนไปของวันนั้น ขั้นตอนต่อไปต้องนำเส้นด้ายที่ปั่นแล้วนำไปต้มกับน้ำขี้เถ้า(ขี้เถ้าจากการเผาต้นกัญชงที่ถูกลอกเปลือกจากขั้นตอนข้างต้น) ในปัจจุบีนมีการนำสารเคมีมาช่วยในเรื่องของการทำให้คุณภาพดีขึ้น ในขั้นตอนนี้จะมีความสำคัญมาก ต้องล้างมือให้สะอาดมือห้ามมีรสเค็มและห้ามเกิดความมัน จึงจะได้สีผ้าออกมาสวยงาม จากนั้นนำไปซักด้วยปูนขาวสำหรับซักด้ายโดยเฉพาะ ขั้นตอนต่อไปนำมาต้มอีกครั้ง ใส่ขี้ผึ้งแท้ลงไป(ขี้ผึ้งต้องเป็นขี้ผึ้งแท้จากในป่าเท่านั้น) ในขั้นตอนนี้จะมีผลในขั้นตอนสุดท้าย เสร็จแล้วนำไปผึ่งลม ทดลองตรวชสอบด้วยมือสัมผัส ถ้าไม่ติดมือแล้วนำมารีดด้วยเครื่องรีด ในสมัยก่อนในขั้นตอนนี้ต้องใช้เท้าเหยียบโยกตัวไปมาทิ้งน้ำหนักเท้าต้องเท่ากัน เมื่อได้ตามที่ต้องการแล้วนำไปชั่งและคำนวนว่าจะได้ประมานที่เท่าไร เสร็จแล้วจะเป็นขั้นตอนที่สำคัญ คือการวิ่งด้าย การวิ่งด้ายต้องใช้หลัก 4 หลัก และมีตาหลัก 2 ตา ขั้นตอนในการวิ่งต้องเป็นผู้ชำนาญเท่านั้นถึงจะสามารถวิ่งด้ายได้ และในขั้นตอนนี้มีความเชื่อว่า ในขณะที่วิ่งด้ายอยู่ ห้ามทักเด็ดขาด เพราะจะทำให้การวิ่งด้ายนั้นติดขัดและรอยต่อของด้ายหายหรือขาด ฉะนั้นการแก้เคล็ดคือผู้ที่ทักต้องมาช่วยวิ่งด้าย เสร็จจากขั้นตอนนี้แล้วจะเป็นการนำไม้มาคาดแล้วนำมาไล่หวี(หวีเป็นอุปกรณ์ในการเรียงด้าย) หลังจากนั้นก็สามารถขึ้นแท่นทอได้เลย หลังจากทอเสร็จนำมาย้อมสีตากให้แห้งก็จะขัดจะเกิดความเรียบเงาของผ้าใยกัญชง ซึ่งความเงาเกิดจากขั้นตอนการต้มที่ใส่ขี้ผึ้งป่าลงไปด้วย สมัยก่อนใช้เขี้ยวหมูป่าในการขัดผ้า แต่ ณ ปัจจุบ้นจะใช้หินขัด และพื้นต้องเป็นกระเบื้องและหินอ่อนเท่านั้นถึงจะทำให้ผ้าเรียบเงาและสวยงาม ข้อแตกต่างการผลิตแบบดั้งเดิมกับการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี คือแบบดั้งเดิมจะมีความพิเศษของผ้ามีความสวยงาม เรียบหรู เนื้อผ้านุ่ม ผู้สวมใส่จะรู้สึกเย็นและสบายตัว แต่จากอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เนื้อผ้าจะไม่เรียบและใส่แล้วรู้สึกไม่เย็น เป็นขน และเนื้อผ้ามีความแข็ง การผลิตผ้าใยกัญชงแบบดั้งเดิมถูกให้ความสำคัญน้องลงไปทุกที เนื่องจากกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมมีความยากและซับซ้อนมาก ต้องใช้ประสบการณ์และความชำนาญจึงไม่ค่อยมีใครสนใจในการเรียนรู้กระบวนการทำผ้าใยกัญชงในปัจจุบัน
จับต้องได้ : Tangible.
งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า
.
เลขที่ : หมู่ 21 ต. คลองน้ำไหล อ. คลองลาน จ. กำแพงเพชร 62180
นางยัว มโนมัย อายุ 72 ปี,นางสาวสุชาดา มโนมัย
ธภัทร มณัรัตน์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร :