ประมาณปี 2552 ชุมชนบ้านรงระ หมู่ที่ 8 ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ” ได้ทดลองจัดสวัสดิการชุมชนด้านการศึกษาตลอดชีวิต ต่อมาปี พ.ศ. 2554 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาปรางค์กู่ หน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้ยกระดับศูนย์เรียนรู้ดังกล่าวขึ้นเป็น แหล่งอบรมลูกค้าธนาคารฯ ตามโครงการอบรมพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรรายย่อยที่เป็นลูกหนี้นอกระบบ และเรียนรู้กันเองของคนในชุมชน โดยได้จัดหลักสูตรของศูนย์เรียนรู้ เบื้องต้นได้พัฒนาหลักสูตรในการอบรมโครงการพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบในพื้นที่อำเภอปรางค์กู่ หลักสูตรการอบรมใช้ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน จำนวน 12 รุ่น กลุ่มเป้าหมายดำเนินการจำนวน 1,244 คน การจัดกิจกรรมดังกล่าวจึงได้เกิดโครงการ “บ้านพักอาสา” ขึ้นมาจำนวน 27 หลัง เพื่อรองรับคณะศึกษาดูงานที่มาอบรมตามโครงการอบรมพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรรายย่อยที่เป็นลูกหนี้นอกระบบ และศึกษาดูงาน รวมทั้งนักศึกษา นักท่องเที่ยว และผู้สนใจวิถีวัฒนธรรม ประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์กูยบ้านรงระ ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อว่า “บ้านพักอาสา” โดยมีอัตราค่าบริการประกอบด้วย ค่าอาหาร 70 บาท/คน ค่าที่พัก 100 บาท/คน มีจำนวนผู้มาใช้บริการบ้านพักอาสาจำนวน 1,440 ราย ตั้งแต่ปี 2553-2556 เฉลี่ยรายละ 500 บาท คิดเป็นรายได้รวม 72,000 บาท ต่อมาในปี 2565 ได้มีโครงการวิจัย การพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์กูยโดยกระบวนการการมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากและพลังสังคมในจังหวัดศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เข้ามาในพื้นที่และได้ฟื้นฟูแนวคิดเรื่องบ้านพักอาสาขึ้นมาอีกครั้ง และยกระดับให้เป็น โฮมสเตย์ โดยจะพัฒนารูปแบบการให้บริการภายใต้ชื่อ “ดุงกูย เรือนพักวิถีกูย” ซึ่งเป็นการพัฒนา นวัตกรด้านที่พักโฮมสเตย์ มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 8 หลัง สำหรับผู้ที่สนใจมาใช้บริการ ดุงกูย เพื่อเรียนรู้วิถีชาวกูยรงระจะได้ทำกิจกรรมดังนี้ 1. ตื่นเช้า เก็บผักริมรั้วเพื่อทำอาหารเก็บอัญชันช่วยสร้างรายได้ 2. ให้อาหารสัตว์เลี้ยง เดินชมสวน 3. ปั่นจักรยานชมโคก หนอง นา สัมผัสวิถีชีวิตและธรรมชาติภายในชุมชน จุดเด่น ของดุงกูย เรือนพักวิถีกูยบ้านรงระ คือ นอนดงกูยโมฮัย พักผ่อนที่ห้องนอนแบบชาวกูย ที่มีความสะอาด ปลอดภัย ราคากันเอง คุ้มค่า โดยท่านจะได้ชิมอาหารพื้นบ้านในแบบของชาวกูยรงระ และได้สัมผัสความรักความอบอุ่นและกลิ่นอายของชาวกูยอย่างแท้จริง
จับต้องได้ : Tangible.
สถาปัตยกรรม : AR : ARchitecture ร้านค้าและเคหสถาน
.
เลขที่ : บ้านรงระ หมู่ 8 ต. ตูม อ. ปรางค์กู่ จ. ศรีสะเกษ 33170
นางสุดา ดาศรี
0990205813
อนันศักดิ์ พวงอก : มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ :