แกลมอ เป็นพิธีกรรมเรียกตามภาษากูย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับพิธีกรรมการรำผีฟ้าในวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว และการรำแม่มด (เรือมมะม๊วด) ของกลุ่มชาติพันธุ์เขมร แม้แต่ในกลุ่มชาติพันธุ์กูยด้วยกันก็อาจจะเรียกชื่อพิธีกรรมนี้ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่นส่วย (กูย) ในเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษจะเรียกพิธีกรรมนี้ว่า “รำสะเอง” ขณะที่กูยในพื้นที่ปรางค์กู่ และห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ และกูยในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ จะเรียกว่า “แกลมอ” ไม่ว่าจะเรียกพิธีกรรมดังกล่าวว่าอย่างไร แต่ในด้านความเชื่อนั้นคือเรื่องเดียวกัน นั่นคือเรื่องความเชื่อและศรัทธาในผีบรรพบุรุษที่ยังมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของลูกหลานชาวกูยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องแกลมอของชาวกูยบ้านรงระก็เช่นเดียวกัน พวกเขาเชื่อว่า เมื่อมีคนใดคนหนึ่งในชุมชนเจ็บป่วยอย่างไม่รู้สาเหตุขึ้นมา อันดับแรกคือจะพาไปเข้าสู่กระบวนการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันก่อน ถ้ารักษาหายก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไป แต่มีบางกรณีที่ไปรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ไม่สามารถระบุสาเหตุของการป่วยไข้ได้ เมื่อนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแล้วอาการเจ็บป่วยไม่ดีขึ้น ญาติจะนึกถึงความเชื่อที่ถ่ายทอดกันมายาวนาน นั่นก็คือเป็นการกระทำของผีบรรพบุรุษ หรือ หรือ ผีมอ (มอวัว) ทำให้เจ็บป่วย จากนั้นก็จะทำพิธีกรรมเสี่ยงทาย หมอธรรมเป็นคนบอกว่าผู้ป่วยได้ล่วงเกินผีบรรพบุรุษในเรื่องอะไร เมื่อรู้สาเหตุแล้วก็จะจัดพิธีกรรมรำแกลอเพื่อแก้บนโดยอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่นไหว้ และขอขมาต่อสิ่งที่ล่วงเกิน ขอให้ผีบรรพบุรุษ ดลบันดาลให้หายจากโรคภัย ให้หายจากการทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ และดลบันดาลให้ครอบครัวมีแต่ความสุขความเจริญ เสร็จพิธีแล้วผู้ป่วยก็จะอาการดีขึ้นตามลำดับแล้วหายจากอาการเจ็บป่วยอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง สำหรับเครื่องเซ่นไหว้พิธีแกลมอของชุมชนรงระ จะประกอบด้วย การจัดทำปะรำพิธี ซึ่งปะรำฯนี้จะขาดไม่ได้เลยก็คือทางมะพร้าวเพราะเชื่อว่าถ้าไม่มีผีมอจะไม่มาประทับร่างทรง โดยในปะรำฯก็จะมีขันตอก ดอกไม้ มีผ้าถุง ผ้าขาว ถาดเครื่องไหว้ครู มีกระจก หวี แป้ง ขันใส่ข้าวสาร โดยมีเครื่องดนตรีในการประกอบพิธีกรรม คือกลองโทน 1 ใบ แคน 1 เต้า พิธีแกลมอจะมีแม่มอและมอในหมู่บ้านมาร่วมกันจัดพิธีกรรมโดยแต่งกายเป็นชุดผ้าไหมและเสื้อไหมลายลูกแก้วสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวกูย เริ่มพิธีกรรมจะมีผีแม่มอและผีมอมาประทับร่างแสดงแกลมอจนอิ่มหนำสำราญแล้วก็จะออกจากร่างเป็นอันเสร็จพิธี ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1 วันเป็นอันเสร็จพิธี กรณีสาธิตการแสดงรำแกลมอ ถามว่าจะกระทบเรื่องความเชื่อของชุมชนหรือไม่ / คำตอบที่ได้จากเวทีแลกเปลี่ยน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ในกิจกรรม คืนข้อมูลให้กับชุมชน (ครั้งที่ 1) ได้ข้อสรุปว่า พิธีกรรมการรำแกลมอ จะถือเรื่องเครื่องเซ่นไหว้เป็นปัจจัยสำคัญ กล่าวคือ ในการรำแต่ละครั้ง เครื่องเซ่นไหว้จะต้องครบทุกอย่างตามที่เคยยึดถือปฏิบัติมา โดยเฉพาะปะรัมพิธีต้องมีทางมะพร้าวด้วยเสมอ (ไม่มีถือว่าไม่ครบ) ถ้าไม่ครบ ผีมอก็จะไม่เข้ามาประทับร่าง ดังนั้นสามารถรำแกลมอเพื่อเป็นการสาธิตการแสดงได้ โดยการจุดธูปเทียนบอกกล่าว ก่อนการแสดงทุกครั้ง
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล : KP : Knowledge and Practices concerning nature and the การแพทย์แผนไทยและการแพทย์
.
เลขที่ : บ้านรงระ หมู่ 8 ต. ตูม อ. ปรางค์กู่ จ. ศรีสะเกษ 33170
แม่ครูหมวย ชัยวิเศษ
0804799058
อนันศักดิ์ พวงอก : มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ :