PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : AR-57000-00042

พิพิธภัณฑ์ทหารบกที่37
phiphitthaphanthaharnbokthi37

ลักษณะเฉพาะ : บ้านจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น สไตล์สวิตเซอร์แลนด์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2484 – 2485 วัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อใช้รับรองจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของไทย วัตถุประสงค์ของการสร้างบ้านพัก เพื่อใช้เป็นบ้านพักรับรองขณะที่ไปตรวจราชการและใช้เป็นศูนย์บัญชาการกองทัพภาคพายัพในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาใน พ.ศ. 2485 โดยส่งทหารเข้าไปรบที่เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า จนกระทั่งถึงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ลักษณะบ้านเป็นบ้าน 2 ชั้น กว้าง 19.25 เมตร ยาว 29.25 เมตร หลังคาทรงปั้นหยา ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมทิวดอร์ (Tudor style) ประเทศอังกฤษ (ช่วงปลายยุคกลางค.ศ. 1485 - 1603) พื้นชั้นล่างของบ้านเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นชั้นบนเป็นไม้เนื้อแข็ง ฝาผนังชั้นบนและชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูนเรียบ ห้องชั้นบนและล่างมีชั้นละ 3 ห้อง ลักษณะเด่น คือ โครงสร้างไม้ที่ผนังอาคารและการทาสีไม้ให้ตัดกับตัวอาคาร ประตู หน้าต่าง ช่องแสงและช่องลมมีรายละเอียดที่สวยงาม มีเตาผิงไว้ใช้ในฤดูหนาว ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์จังหวัดทหารบกเชียงราย ค่ายเม็งรายมหาราช มีการจัดแสดงอาวุธปืนที่ใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและสัมพันธมิตร รูปถ่ายจอมพล ป.พิบูลสงคราม และนิทรรศการทางทหารอื่น ๆ โดยมีการปรับปรุงเมื่อ พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์และสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ภายใต้ชื่อ “พิพิธภัณฑ์ทหารจังหวัดเชียงราย” ตั้งอยู่ ณ ม่อนจอมพล หรือม่อนจอมแจ้ง อยู่กึ่งกลางระหว่างม่อนจอมทองกับม่อนจอมแว่ (ศาลากลางหลังเก่า) บนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เรียกได้ว่าเป็นชัยภูมิชั้นเยี่ยมที่มองเห็นภูมิประเทศของตัวเมืองเชียงรายที่มีขุนเขารอบล้อมและมีแม่น้ำกกไหลผ่าน พิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารจังหวัดทหารบกเชียงราย ตัวอาคารประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นบ้านพักจอมพล ป.พิบูลสงคราม และส่วนที่เป็นสถานีวิทยุกรมการรักษาดินแดนในปัจจุบัน (เคยเป็นที่รับประทานอาหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะนายทหาร) อยู่ในพื้นที่ชุมชนดอยทอง เขตเทศบาลนครเชียงราย ด้านเหนือกับติดสำนักงานประปาจังหวัดเชียงรายและถนนไกรสรสิทธิ์ ด้านใต้ติดกับวัดดอยงำเมือง ด้านทิศตะวันตกติดกับค่ายเม็งราชมหาราช ด้านทิศตะวันออกติดกับศาลากลางหลังเก่า ความโดดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เห็นจะเป็นสถาปัตยกรรมของตัวบ้านที่ดูแปลกตา ส่วนการจัดแสดงภายในตามห้องต่าง ๆ คล้ายคลึงกับพิพิธภัณฑ์ของทหารโดยทั่วไป คือเล่าเรื่องชาติและกษัตริย์ซึ่งฝังลึกอยู่ในมโนทัศน์ของทหารไทย องค์ประกอบภายในบ้าน ประกอบด้วย - บริเวณโถงกลางชั้นล่าง เป็นห้องรับแขก มุมนั่งพักที่มีเตาผิงแบบฝรั่ง ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนและเครื่องใช้ไม้สอยประจำบ้านแบบย้อนยุคเพื่อเข้ากับบรรยากาศ อาทิ วิทยุ โทรศัพท์ นาฬิกา เครื่องเล่นแผ่นเสียง นอกจากเป็นแล้วยังเป็นมุมสวย ๆ สำหรับถ่ายภาพสำหรับผู้มาเยือน รายรอบผนังห้องเป็นแผ่นป้ายบอกเล่าประวัติความเป็นมาของตัวบ้าน และนำเสนอภาพในประวัติศาสตร์ต่าง ๆ - ห้องชั้นล่าง อีกปีกของตัวบ้านเป็นนิทรรศการประวัติกองทหารเมืองเชียงราย ที่เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงเหตุการณ์ปราบฮ่อ ประวัติการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ 327 ดอยแม่สลอง วีรกรรมการสู้รบกับผกค.ที่ดอยยาวและวีรกรรมต่าง ๆ ของทหาร รวมไปถึงการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ทางการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบ - ชั้นบน มีห้องจัดแสดงอีก 3 ห้อง ห้องแรกเป็นห้องฉายวีดิทัศน์ ห้องถัดมาเป็นห้องจำลองห้องนอนจอมพล ป. โดยของจอมพล ป. ป.พิบูลสงคราม มีเตียงนอน โต๊ะทำงาน ชุดรับแขกและผนังห้องแขวนภาพถ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวาระส่วน - โถงกลาง ชั้นบนจัดแสดงนิทรรศการสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยเน้นไปที่การสู้รบใน เชียงตุง มีทั้งภาพเก่าและประวัติความเป็นมา ที่น่าสนใจคือนิทรรศการ “ความช่วยเหลืออดีตนักรบเชียงตุงกลับแผ่นดินเกิด” - ห้องปีกซ้าย สุดท้ายว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย กลางห้องเป็นแบบจำลองภูมิประเทศเมืองเชียงราย แผนที่เมืองเชียงราย ภาพวาดเมืองเชียงรายในอดีต พร้อมจัดแสดงภาพเก่าของเมืองเชียงราย เป็นภาพสถานที่สำคัญของเมือง เช่น สถานที่ทางราชการ โรงเรียน วัด จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญของเมืองเชียงรายและ ข้าวของเครื่องใช้ในอดีต อาทิ มูยา ขอสับช้าง มีดดาบ เตารีด เงินตรา



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องได้ : Tangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

สถาปัตยกรรม : AR : ARchitecture พิพิธภัณฑ์
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : ชุมชนดอยทอง ต. รอบเวียง อ. เมืองเชียงราย จ. เชียงราย 57000

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุจฤดี คงสุวรรณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย :

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-
พิกัด GPS

มีผู้เข้าชมจำนวน :475 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 16/11/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 16/11/2022