PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : AR-57000-00060

วัดดอยงำเมือง
watdoingammueang

ความสําคัญ : สร้างเมื่อ พ.ศ. 1860 โดยมีความเชื่อว่าอาจเป็นที่ประดิษฐานกู่พญามังราย พระประธานคือ พระพุทธรูปศิลปะล้านนารับอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย วัดงำเมือง หรือ วัดดอยงำเมือง เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดเชียงราย เดิมชื่อ วัดงามเมือง เป็นวัดโบราณที่ไม่ปรากฏประวัติการสร้าง ตั้งอยู่บนดอยงามเมือง ต่อมากลายเป็นวัดร้างในช่วงยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย ต่อมาใน พ.ศ. 2030 พระยาศรรัชฎาเงินทองได้เข้ามาบูรณะและสร้างวัดขึ้นภายในบริเวณ โดยใช้ชื่อว่า “วัดงามเมือง”(ต่อมาสะกดเป็น “วัดงำเมือง”) และได้รับการบูรณะอีกครั้งใน พ.ศ. 2220 โดยเจ้าฟ้ายอดงำเมือง พระราชโอรสของเจ้าผู้ครองนครเชียงแสน ต่อมาวัดได้ถูกทิ้งร้าง จนกระทั่ง พ.ศ. 2495 พระวีรญาณมุนี เจ้าคณะฯ จังหวัดเชียงรายในขณะนั้น ได้มอบหมายให้พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงรายในขณะนั้น ทำการฟื้นฟูบูรณปฏิสังขรณ์วัดงำเมืองขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2435 เดือนเมษายน ขึ้น 6 ค่ำ มีการสร้างวิหารวัดงามเมือง ซึ่งมีรูปแบบและสถาปัตยกรรมคล้ายกับวิหารของวัดพระแก้วและวัดพระสิงห์ สันนิษฐานว่าช่างผู้ออกแบบและก่อสร้างคือช่างคณะเดียวกัน เมื่อวัดร้าง วิหารไม่ได้รับการบูรณะจึงพังเสียหาย ต่อมา พ.ศ. 2445 ได้สร้างพระเจ้าหลวง (พระประธานในวิหาร) พ.ศ. 2488 พระวีรญาณมุนี (หมื่น สุมโน) เจ้าคณะจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น มอบหมายให้พระครูธรรมวงศ์วิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย อัญเชิญพระเจ้าล้านทองจากวัดล้านทอง (วัดแสนทอง) ซึ่งเป็นวัดร้าง (ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลเชียงราย) ไปประดิษฐานที่วัดงามเมือง ต่อมาเมื่อวัดงามเมืองร้าง ศรัทธาสาธุชนจึงได้ขึ้นไปทำหลังคาคลุมพระเจ้าหลวงและพระเจ้าล้านทอง พ.ศ. 2495 พระวีรญาณมุนี (หมื่น สุมโน) ได้มอบหมายให้พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดพระแก้วในขณะนั้น ทำการฟื้นฟูบูรณปฏิสังขรณ์วัดงามเมืองขึ้นใหม่ พ.ศ. 2504 พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ (วงศ์ ทานวํโส) เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงรายขณะนั้น ได้ทำการย้ายพระเจ้าล้านทองจากวัดงามเมืองมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระแก้วจนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2536 วัดงามเมืองถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดงำเมือง หรือวัดดอยงำเมือง จนถึงปัจจุบัน ด้านอภิชิต ศิริชัย (2559) ให้ทัศนะอิงตามประวัติศาสตร์ที่อ้างถึงพญาไชยสงครามคือผู้สร้างวัดและนำอัฐิพญามังรายมาประดิษฐาน พระยาสรีรัชฏเงินกอง (หมื่นงั่ว) เจ้าเมืองเชียงแสนมาบูรณะวัดใน พ.ศ. 2030 และเจ้าฟ้ายอดงำเมือง เจ้าฟ้าเมืองเชียงแสนมาบูรณะอีกครั้งใน พ.ศ. 2220 นั้น ยังไม่พบในเอกสารประวัติศาสตร์ชั้นต้นแต่อย่างใด ซึ่งน่าจะเป็นการสับสนกับประวัติวัดพระเจ้าล้านทองเชียงแสนมากกว่า ตามความเชื่อ “วัดดอยงำ” เป็นที่ประดิษฐานกู่ของพญามังราย (พระสถูปประดิษฐานพระบรมอัฐิ) ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรล้านนา สันนิษฐานว่ากู่ (สถูป) นั้นถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ. 1860 โดยพญาไชยสงคราม พระราชโอรสของพญามังราย หลังจากที่พญามังรายเสด็จสวรรคตที่เมืองเชียงใหม่ ในปีเดียวกันพระองค์ได้จัดพระราชพิธีศพและอัญเชิญมาประดิษฐานในเวียงเชียงราย เกี่ยวกับทัศนะนี้ มีผู้แย้งว่าไม่เคยมีหลักฐานชัดเจนที่ระบุว่ากู่ (สถูป) พระองค์ที่ตั้งอยู่ในวัดเป็นกู่ที่ประดิษฐานพระบรมศพของพระองค์จริง ทั้งยังระบุว่าเอกสารที่ระบุเรื่องการประดิษฐานกู่ของพระองค์นั้นตีพิมพ์ครั้งแรกในราว พ.ศ. 2478 ซึ่งในเอกสารดังกล่าวไม่ได้ระบุแหล่งข้อมูลชั้นต้นถึงการประดิษฐานกู่องค์ดังกล่าว ในการนี้คุณอภิชิต ศิริชัย (นักวิชาการอิสระ) ได้สรุปว่ากู่พญามังรายนั้นอาจสร้างขึ้นในวัดดอยงำเมืองแห่งนี้จริง แต่น่าจะถูกทำลายหรือชำรุดจนสาปสูญไปตามกาลเวลา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากู่องค์ที่เคารพสักการะในปัจจุบันนั้นไม่ใช่กู่ที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพญามังรายก็เป็นได้ อย่างไรก็ดีในที่นี้คณะวิจัยจักได้นำเสนอข้อมูลไว้เป็นเบื้องต้นเพื่อเป็นข้อมูลสำคัญการศึกษาในเชิงลึกต่อไป ดังนี้ ...“กู่พญามังราย” หรือพระเจดีย์วัดดอยงำเมือง ที่เชื่อกันว่าเป็นกู่พญามังราย มีฐานเป็นศิลาแลง (เป็นการบูรณะภายหลัง ไม่ได้ทำขึ้นพร้อมกับองค์เจดีย์) ทรงปราสาทยอด ประกอบด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยม 3 ชั้น ต่อด้วยฐานเขียงย่อมุมยี่สิบ 1 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุที่ตกแต่งเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่สองเส้นยืดสูง กึ่งกลางของแต่ละด้านเป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดขึ้นไปเป็นชุดบัวลูกแก้วอกไก่เส้นเดียว 2 ชุดในผังแปดเหลี่ยม แล้วจึงเป็นองค์ระฆังกลม องค์เรือนธาตุย่อเก็จ ก่อด้วยอิฐ มีซุ้มคูหา 4 ด้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ต่อขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง 8 เหลี่ยม ซึ่งเครื่องยอดหักหายไป กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา... (อภิชิต ศิริชัย, 2563) กู่พญามังรายที่วัดดอยงำเมือง ปรากฏครั้งแรกในเอกสารราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3683 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 แต่ไม่ทราบที่มาและข้อมูลที่อ้างอิงชัดเจน และปรากฏอีกครั้งในหนังสือตำนานเมืองเหนือ พ.ศ. 2497 ของสงวน โชติสุขรัตน์ โดยระบุว่าเจดีย์ที่เป็นกู่ของพญามังรายนั้น เป็นเจดีย์ที่พังทลายเหลือแต่ฐานบนดอยงามเมือง อยู่หลังวัดดอยงำเมือง ซึ่งปัจจุบันถูกทำลายไปแล้ว อีกทั้งข้อมูลที่พญาไชยสงครามนำพระอัฐิของพญามังรายมาไว้ที่วัดดอยงำเมืองนั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานข้อมูลในเอกสารชั้นต้นฉบับใด และสงวน โชติสุขรัตน์ไม่ได้อ้างอิงที่มาของข้อมูลนี้ ทำให้มีความน่าเชื่อถือน้อย อย่างไรก็ดีเมื่อข้อมูลชุดนี้แพร่หลาย เนื่องจากเจดีย์ที่ถูกอ้างว่าเป็นกู่ถูกทำลายไปแล้ว จึงเกิดความเข้าใจว่าเจดีย์อีกองค์หนึ่งของวัดดอยงำเมืองเป็นกู่ของพญามังราย ซึ่งเป็นคนละองค์กับที่หนังสือตำนานเมืองเหนือระบุ อีกทั้งอายุและศิลปะของเจดีย์และผอบทองคำและเงินที่ค้นพบในเจดีย์ (ปัจจุบันอยู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน) ก็มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นช่วงยุคพม่า - ฟื้นฟูเมืองเชียงรายเท่านั้น จึงไม่น่าจะเป็นกู่ของพญามังราย ดังที่ปรากฏตามทัศนะของนักวิชาการอิสระ กล่าวถึงเนื้อหาจากเอกสารสำคัญฉบับต่าง ๆ ที่สามารถประมวลเหตุการณ์ทั้งจากชินกาลมาลีปกรณ์ (ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงพญาไชยสงครามนำอัฐิพระราชบิดากลับมาเชียงราย) พื้นเมืองเชียงแสน (กล่าวถึงเรื่องพญาแสนภูสร้างเวียงเชียงแสนและไม่กล่าวถึงพญาไชยสงครามนำอัฐิพระราชบิดากลับมาเชียงรายแต่อย่างใด) และ พื้นเมืองเชียงใหม่ (กล่าวถึงเพียงแค่เจ้าขุนเครือใช้อุบายเพื่อจะชิงเมืองเชียงใหม่จากเจ้าแสนพู แต่ไม่ได้กล่าวถึงพญาไชยสงครามได้นำพระอัฐิใด ๆ กลับมาเชียงรายเลย) อันเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นไปในทางเดียวกับหนังสือ “ตำนานเมืองเหนือ” ของสงวน โชติสุขรัตน์ (พ.ศ. 2497, พ.ศ. 2499 และ พ.ศ. 2503 ตามลำดับการตีพิมพ์) ที่กล่าวว่า “พญาไชยสงครามได้นำพระอัฐิของพญามังราย (พระราชบิดา) กลับมายังเมืองเชียงรายและประดิษฐานไว้ยังบนดอยแห่งหนึ่งในเวียงเชียงราย” ในที่นี้จึงจักนำเสนอข้อเบื้องต้นว่า (1) ยังไม่ปรากฏหลักฐานข้อมูลในเอกสารชั้นต้นฉบับใดกล่าวว่าพญาไชยสงครามนำพระอัฐิของพญามังรายกลับมาเมืองเชียงรายและนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดดอยงำเมือง (2) กู่พญามังราย ถูกบัญญัติขึ้น พ.ศ. 2478 โดยยังไม่สามารถค้นพบแหล่งที่มาของข้อมูลได้ เป็นหน้าที่ของชาวเชียงรายที่ต้องช่วยกันสืบค้น เพื่อให้ข้อมูลประวัติศาสตร์เป็นไปอย่างน่าเชื่อถือและพิสูจน์ได้ (3) ชุดความรู้ในหนังสือ “ตำนานเมืองเหนือ” ของ สงวน โชติสุขรัตน์ ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2497 เป็นหนังสือเล่มที่เก่าสุด (ในขณะนี้) ที่พบข้อมูลว่า พญาไชยสงครามนำพระอัฐิของพญามังรายกลับมายังเมืองเชียงราย ซึ่งตามรายชื่อเอกสารที่นำมาอ้างอิงท้ายเล่มนั้น ไม่ปรากฏฉบับใดกล่าวถึงเรื่องราวนี้เช่นกัน และ (4) เจดีย์วัดดอยงำเมืองไม่ใช่กู่พระยาเมงราย หากแต่กู่องค์นั้น (ที่ถูกทำให้เป็นกู่พระยาเมงราย) อยู่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกรื้อทำลายไปแล้วซึ่งนักวิชาการอิสระเผยว่าไม่มีหลักฐานจากเอกสารชั้นต้นระบุถึงการสร้าง “กู่พญามังราย” ที่เชียงราย (ศิลปะและวัฒนธรรม, 2561) ด้วยเหตุนี้ ความเห็นเรื่อง “การประดิษฐานกู่พญามังราย” ยังคงต้องเป็นประเด็นที่สืบค้นรายละเอียดกันต่อไป



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องได้ : Tangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

สถาปัตยกรรม : AR : ARchitecture ศาสนสถาน
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : ชุมชนราชเดชดำรง ต. รอบเวียง อ. เมืองเชียงราย จ. เชียงราย 57000

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุจฤดี คงสุวรรณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย :

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-
พิกัด GPS

มีผู้เข้าชมจำนวน :369 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 16/11/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 16/11/2022