สถานะ : การสถาปนาคริสตจักรในเชียงรายใน ค.ศ. 1885 ทางราชการได้ประกาศรวมเอาเมืองเชียงแสน เชียงราย ลำปาง ฝาง เวียงป่าเป้า พะเยา เชียงคำและเชียงของ เข้าเป็น “จังหวัดพายัพภาคเหนือ” อันเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลพายัพ จนกระทั่ง ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433) ได้รวมหัวเมืองต่าง ๆ ตั้งเป็นเมืองจัตวา เรียกว่า “เมืองเชียงราย” โดยเกณฑ์ผู้คนจากเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง มาตั้งภูมิลำเนาในเขตเมืองเชียงราย มิชชันนารี ศจ.ดร.ดาเนียล แมคกิลวารี ได้มาสำรวจเชียงรายก่อนหน้าแล้วเมื่อ ค.ศ. 1874 ได้ส่งเสริมให้คริสเตียนอพยพไปตั้งหลักแหล่งในเมืองเชียงราย โดยอพยพมาจากบ้านแม่ดอกแดง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีครอบครัวนายอ้ายตื้อ มาตั้งรกราก ณ บ้านป่าอ้อนางแล (ภายหลังเลื่อนยศเป็นพระยาภักดีราช-กิจ) ส่วนครอบครัวของหนานสุวรรณไปตั้งรกรากที่อำเภอเชียงแสนใน ค.ศ. 1888 ทั้งนี้สามารถลำดับการสถาปนา คริสตจักรเชียงรายได้ดังนี้ - เดือนเมษายน ค.ศ. 1888 สถาปนาคริสตจักรเชียงแสนขึ้นเป็นแห่งแรก โดยมีหนานสุวรรณเป็นหัวหน้าเถ้าแก่ (ผู้ปกครอง) - วันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1890 ก่อตั้งคริสตจักรแม่กรณ์ บ้านสวนดอก - วันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1890 สถาปนาคริสตจักรเชียงรายขึ้นอีกแห่งหนึ่ง โดยมีการสถาปนาผู้ปกครองระหว่าง ค.ศ. 1890 – 1896 ตามลำดับ คือ เถ้าแก่น้อยศรี เถ้าแก่อินตา สิงหเนตร เถ้าแก่หนานสุวรรณ พระยาภักดีราชกิจ ลุงน้อยศรีวงค์ และ ศจ.ดร.ดาเนียล แมคกิลวารี ดำรงตำแหน่งเป็นศิษยาภิบาล คริสตจักรเชียงรายในระยะแรกมีสมาชิกผู้ใหญ่ 50 คน และสมาชิกสำรอง 34 คน (ส่วนใหญ่โอนย้ายมาจากเชียงใหม่) ที่อยู่ในเชียงรายจริง ๆ คือลุงแสนกัต น้องชายครูหนานตา (ศาสนาจารย์คนแรกในภาคเหนือ) และครอบครัวแม่หม้ายแสงเนเท่านั้น - มกราคม ค.ศ. 1906 ได้สถาปนาคริสตจักรสามัคคีธรรมและคริสตจักรนางแล - 17 กันยายน ค.ศ. 1914 สถาปนาคริสตจักรเชียงราย - สิงหาคม ค.ศ. 1915 สถาปนาคริสตจักรเมืองพาน และ 12 กันยายน ค.ศ. 1915 สถาปนาคริสตจักรสวนดอก ช่วง ค.ศ. 1897 ครอบครัว ศจ.ดับบลิว ซี. ดอด์ด กับครอบครัว ศจ.ซี.เอช.เดนแมน ได้เดินทางมาตั้งสถานีมิชชั่นที่เชียงรายและรับผิดชอบงานมิชชั่นแทน ศจ.ดร.ดาเนียล แมคกิลวารี ระหว่างช่วงปี 1896 – 1928 ศจ.ดับบลิว ซี. ดอร์ด นอกจากประจำสถานีมิชชั่นเชียงรายแล้ว ท่านยังเดินทางด้วยเท้าไปประกาศถึงฝั่งทะเลกวางตุ้งของจีนด้วย ท่านทำงานที่เชียงรายรวม 32 ปี ค.ศ. 1903 ดร.ดับบลิว. เอ. บริกส์ และภรรยามาประจำที่เชียงราย มีคริสตจักรเกิดขึ้นอีก 3 แห่ง ส่วนคริสตจักรเชียงรายได้นมัสการที่บ้านของพระยาภักดีราชกิจ (นายอ้ายตื้อ) บ้านหลังนี้ผู้ปกครองเมืองเชียงรายได้เกณฑ์ราษฎรตัดไม้สักมาปลูกบ้านให้พระยาภักดีราชกิจ (ผู้ชอบพอรักใคร่ของผู้ปกครองเมืองเชียงราย) จากนั้นพ่อเลี้ยงบริกส์ก็ได้สร้างโบสถ์ชั่วคราวด้วยไม้ไผ่หลังคามุงด้วยหญ้าคาในบริเวณของโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค ขณะเดียวกันนายแพทย์เอบริกส์เห็นว่าการศึกษาก็สำคัญเหมือนกัน จึงได้สร้างโรงเรียนแบบเป็นห้องโถงเล็ก ๆ (ปัจจุบันใช้เป็นห้องประชุม – นมัสการพระเจ้า) ในขณะนั้นใช้เป็นโรงเรียนผู้หญิงเรียกชื่อว่า “โรงเรียนสตรีวิชาคาร” หรือ “โรงเรียนบ้านใต้” ส่วน “โรงเรียนบ้านเหนือ” คือ “โรงเรียนชาย” ก็สร้างเป็นห้องโถงขนาดเท่า ๆ กับโรงเรียนสตรีวิชาคารเรียกชื่อว่า “ตึกเคนเนดี” (ได้รื้อไปแล้ว ซึ่งคือที่ตั้งในบริเวณของโรงเรียนเชียงรายวิทยาคมแผนกประถมปัจจุบัน) ครั้นมาถึง ค.ศ. 1910 ได้มีมิชชันนารีเพรสไบทีเรียนอเมริกันชื่อ ศาสนทูตเรย์ ดับเบิลยู แบคแทลล์และศาสนาทูต แอล เจ บีบี มารับผิดชอบงานแทนจนถึงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 มิชชันนารีก็พากันอพยพออกนอกประเทศตามคำสั่งของรัฐบาลไทยในสมัยนั้น ตั้งแต่นั้นมาอาคารห้องประชุมนมัสการก็ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซม บางส่วนที่จะเป็นอันตรายแก่ผู้มาใช้บริการตามแต่ละสมัยของเจ้าหน้าที่คริสตจักรภาคนั้น ๆ ตามกำลังทรัพย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากที่ต่าง ๆ เพราะอาคารหลังนี้สร้างนานมาถึง 104 ปีมาแล้ว (ตั้งแต่ ค.ศ. 1903) (http://pak2cct. blogspot.com/p/blog-page_21.html, ม.ป.ป.)
จับต้องได้ : Tangible.
ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล : KP : Knowledge and Practices concerning nature and the .
เลขที่ : ชุมชนเทศบาลนครเชียงราย ต. เวียง อ. เมืองเชียงราย จ. เชียงราย 57000
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุจฤดี คงสุวรรณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย :