ลักษณะเฉพาะ : สำนักงานยาสูบเชียงรายเริ่มตั้งขึ้นโดย บริษัท ยาสูบ อังกฤษ – อเมริกัน (ไทย) จำกัด (บี.เอ.ที.) เมื่อ พ.ศ. 2476 เดิมบริษัทตั้งสำนักงานในที่ดินและโรงเรือนซึ่งเช่าจากเอกชน ต่อมารัฐบาลรับซื้อกิจการจากบริษัทมาเป็นของรัฐ โดยกรมสรรพาสามิต เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2484 จากนั้นกรมสรรพสามิตจึงได้ซื้อที่ดินพร้อมโรงเรือนจากบริษัทป่าไม้อิสเอเชียติก เอ.อาฟริกัน บนถนน ธนาลัยและถนนสิงหไคล อำเภอเมือง จำนวน 2 แปลง ในราคา 25,000 บาท แล้วจึงย้ายสำนักงานยาสูบมาอยู่ในที่ตั้งปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นต้นมา หลังจากนั้นจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานยาสูบเชียงราย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2507 และเปิดทำการเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2509 อาคารสำนักงานยาสูบเชียงราย เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 2 ชั้น ลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น ผังพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างประกอบด้วยโถงบันไดกลางอาคาร ด้านซ้ายขวาของโถงบันไดเป็นสำนักงาน โดยที่สำนักงานด้านขวาของโถงบันไดมีความยาวมากกว่าและมีระเบียงล้อมรอบ 3 ด้าน ส่วนพื้นที่ใช้สอยชั้นบนประกอบด้วยโถงบันไดกลางอาคาร โดยชานพักบันไดถูกออกแบบให้มีขนาดใหญ่กลายเป็นระเบียงยื่นยาวออกมาจากตัวอาคาร คลุมทางเข้าด้านหน้าโดยไม่มีเสารองรับ ด้านซ้ายของโถงบันไดเป็นสำนักงาน ส่วนด้านขวาของโถงบันไดเป็นห้องประชุมและมีระเบียงล้อมรอบ 3 ด้าน สำหรับห้องน้ำมีทั้งชั้นล่างและชั้นบน จุดเด่นของอาคาร คือ หลังคาห้องประชุมชั้นบนเป็นหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กแบบโครงสร้างเปลือกบาง (Thin Shell Structure) ลักษณะคว่ำหงายสลับกัน 5 ผืนและหลังคายังใช้เป็นฝ้าเพดานภายในห้องประชุมอีกด้วย ส่วนหลังคาสำนักงานและโถงบันไดเป็นหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กแบนเรียบ อาคารสำนักงานยาสูบเชียงราย เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่สะท้อนยุคสมัยหนึ่งของวงการสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างในประเทศไทย และยังคงมีประโยชน์ใช้สอยจนถึงทุกวันนี้
จับต้องได้ : Tangible.
สถาปัตยกรรม : AR : ARchitecture ร้านค้าและเคหสถาน
.
เลขที่ : ชุมชนเทศบาลนครเชียงราย ต. รอบเวียง อ. เมืองเชียงราย จ. เชียงราย 57000
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุจฤดี คงสุวรรณ์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย :