PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : TC-50270-00002 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

ผ้าทอไทยวน
TaiYuanWeaving

ช่างทอผ้า ช่างทอผ้านี้ เป็นงานของผู้หญิง ทั้งชาวไทยวน ลัวะ และกะเหรี่ยง ล้วนแล้วแต่มีฝีมือด้านนี้กันทั้งสิ้น ด้วยผ้าเป็นปัจจัยหลัก นั่นคือเครื่องนุ่งห่ม ตามอัตลักษณ์ของตน แต่เดิมเป็นการทอผ้าใช้กันในครอบครัว และมีบางส่วนที่ทอขายสำหรับคนที่ไม่มีฝีมือทางด้านนี้ การทอผ้า มีการทอหลากหลายชนิด บางส่วนทอผ้าพื้นสำหรับนำไปตัดเสื้อและกางเกง สำหรับผู้ชาย, บางส่วนทอผ้าห่ม ผ้าทุ้ม ถุงย่าม หน้าหมอน และที่สำคัญอันเป็นสิ่งที่ขึ้นชื่อของแม่แจ่มนั้นคือผ้าซิ่นตีนจก ช่างทอผ้าไทยวน ชาวไทยวนหรือคนเมืองมีเอกลักษณ์อยู่ที่การทอผ้าซิ่นตีนจก ผ้าตีนจกแม่แจ่มมีความสวยงาม ละเอียดมาก และทอแน่น จนบางครั้งยากต่อการแยกแยะว่าด้านหน้าหรือด้านหลัง ผ้าซิ่นตีนจกของแม่แจ่ม มีลวดหลายหลักอยู่ 16 ลาย แบ่งเป็นลายแม่แจ่มโบราณ มี 11 ลาย ได้แก่ ลายหละกอนหลวง ลายเจียงแสนน้อย ลายขันเสี้ยนสำ ลายหงส์บี้ ลายหงส์ปล่อย ลายโกมฮูปนก ลายโกมหัวหมอน ลายขันสามเอว ลายขันเอวอู ลายกุดขอเบ็ด และลายนกกุม และลวดลายใหม่ที่เป็นที่นิยมอีกจำนวน 5 ลาย ได้แก่ ลายหละกอนหน้อย ลายหละกอนก๋าง ลายเจียงแสนหลวง ลายนาคกูม และลายนกนอน โดยทั้งหมดนี้ ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) และใช้ตรา GI ได้ ผ้าตีนจก ถือเป็นสิ่งที่ขึ้นชื่อ เมื่อกล่าวถึงแม่แจ่ม ผู้คนมักจะนึกถือผ้าตีนจกเป็นสิ่งแรก ปัจจุบันมีหลายหมู่บ้านที่ทอผ้าตีนจกกัน เช่น บ้านท้องฝาย บ้านทัพ บ้านไร่ บ้านสองธาร บ้านยางหลวง บ้านกองกาน ฯลฯ นอกจากจะมีการทอผ้าตีนจกแล้ว ยังมีการทอตัวซิ่น ทั้งที่เป็นลายก่าน คือลายขวาง และยังมีการทอผ้าลายผอมอ้วน (บางคนเรียกลายหอมอ้วน) อีกด้วย จากนั้นจึงมีการนำตัวซิ่น มาต่อตีนต่อเอว จึงจะสมบูรณ์เป็นผืนสำหรับนุ่ง หากต่อตีนด้วยลายจกแล้วมักจะใช้นุ่งในงานบุญ และโอกาสสำคัญ ชาวไทยวน ยังนิยมทอซิ่นลัวะ เพื่อใช้ในการนุ่งอยู่บ้านในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการรับเอาเทคนิคการมัดหมี่แบบลัวะมาใช้ พร้อมกับทอผ้าตามลวดลายของชาวลัวะ แต่มีการขยายหน้าฟืมให้กว้างขึ้น และเย็บผืนให้กว้างขึ้นกว่าของลัวะ นอกจากผ้าซิ่นแล้วยังมีการจกลายหน้าหมอน สำหรับประกอบหมอนหก สำหรับใช้หนุน ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เพื่อเสริมแต่งเติมให้สวยงาม (บางพื้นที่นิยมในการปักดิ้นตรงหน้าหมอน) บางครั้งก็พบการทอลวดลายหน้าหมอนให้ติดต่อกัน เป็นผืนเพื่อใช้สำหรับทำตุงถวายวัด มักไม่ค่อยทอตุงเป็นผืนใหญ่หรือลวดลายอื่นอย่างของชาวไทลื้อ ส่วนฝ้ายที่นำมาทอนั้น ก็จะเป็นฝ้ายที่ปลูกเอง ฝ้ายของแม่แจ่ม มีอยู่ด้วยกันสองสี คือฝ้ายสีขาว ที่มีจำนวนมาก และฝ้ายก่อน ที่มีสีน้ำตาล อันเป็นฝ้ายที่มีจำนวนน้อย ฝ้ายก่อนนี้เมื่อนำมาทอเป็นผืนแล้ว มักจะตัดเป็นเสื้อผ้าสำหรับผู้ชาย (สัมภาษณ์ แม่อินทร์ศรี กรรณิกา, 2559) ส่วนฝ้ายสีขาวก็จะนำมาย้อมเป็นสีต่างๆ ด้วยสีจากธรรมชาติ ปัจจุบัน มักจะนำฝ้ายที่ย้อมด้วยสีเคมีจากข้างนอก เข้ามาใช้ในการทอผ้า และก็มีบางส่วนที่ยังคงใช้สีแบบธรรมชาติ (บางทีก็ขึ้นกับลูกค้าที่สั่ง)



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : บ้านไร่ ต. ท่าผา อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ 50270

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

เจษฏา สุภาศรี : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา :

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-
พิกัด GPS

มีผู้เข้าชมจำนวน :345 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 19/08/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 19/08/2022


BESbswy