ช่างทอผ้าลัวะ ชาวลัวะก็นิยมทอผ้า แต่การทอผ้าของชาวลัวะนั้น ไม่ใช้กี่ทอผ้าเป็นหลังใหญ่อย่างของคนไทยวน แต่จะใช้กี่ขนาดเล็ก ผูกติดกับเอว ส่วนอีกด้านหนึ่งผูกเชือกกับเสาหรือข้างฝา โดยใช้เอวเป็นตัวดึงให้ตึงในการทอ ด้วยการที่การทอผ้าโดยผูกกับเอวนี้ จึงนิยมเรียกว่า “กี่แอว” หรือกี่เอว ฉะนั้นความกว้างของผ้าจึงไม่กว้างมาก ฉะนั้นในการตัดเย็บมักจะใช้สองผืนต่อกันตรงกลาง ผ้าทอของชาวลัวะ มีลักษณะเด่นคือทอแน่น และหนา เหมาะสำหรับการนุ่งในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น นอกจากนี้ยังสามารถช่วยป้องกันอันตรายจากของมีคมได้ เพราะความหนาของผ้าช่วยป้องกันอันตรายจากของมีคมได้ นอกจากนี้ยังมีการทอด้วยลวดลายตกแต่งสวยงาม ผ้าซิ่นบางช่วงนิยมการมัดหมี่ในเส้นยืน คนไทยวนพื้นเมืองเรียกลวดลายนี้ว่า ลายมีดซุย ซึ่งมีลักษณะคล้ายมีดซุย ส่วนชาวลัวะมองเห็นเป็นรูปนก ซึ่งซิ่นของชาวลัวะนั้นมักจะแคบและสั้น และลักษณะของผ้าซิ่นชาวลัวะนั้นก็ถ่ายทอดมายังคนไทยวนหรือคนเมืองพื้นราบด้วย จะเลียนแบบการทอลายมีดซุย หากช่างทอไม่มีความชำนาญก็จะไม่สามารถทำให้เหมือนได้ แต่ก็มีการปรับด้วยขนาดกี่ กว้างกว่า ทำให้ชาวไทยวนที่เลียนการทอของชาวลัวะมาแต่มีการปรับขนาดความยาวและความกว้างให้มากขึ้นตามความนิยมของแต่ละคน แม้ว่าคนไทยวนจะเป็นคนทอแต่ก็ยังคงเรียกซิ่นแบบนั้นว่า ซิ่นลัวะ อยู่นั่นเอง นอกจากนี้จะนิยมทอผ้าพื้นสำหรับการตัดเสื้อ (โดยเฉพาะสีขาว) ยังมีการทอผ้าห่ม ผ้าในพิธีกรรม ถุงย่าม ปลอกแขน ปลอกแข้ง และผ้ามัดเอวสำหรับผู้ชายรวมอยู่ด้วย ผ้าในพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีกรรมในงานศพ โดยจะมีการทอผ้ารองศพ และผ้าคลุมศพ ซึ่งผ้าคลุมเท่านั้นที่จะมีลวดลายเฉพาะตัว เชื่อว่าจะนำพาวิญญาณไปสู่สรวงสวรรค์ ต่อมาเมื่อมีการเปิดการค้ากับภายนอก นอกจากจะมีการนำเสื้อ ซิ่น มาขายแล้ว ยังนำลวดลายอันถือว่าเชื่อมต่อโลกมนุษย์และสวรรค์ นับว่าเป็นสิ่งมงคล มาประดับตกแต่งกับเสื้อ หรือทอเป็นผืนอีกด้วย (สัมภาษณ์ นุสรา เตียงเกตุ, 2560)
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า
.
เลขที่ : บ้านมืดหลอง ต. บ้านทับ อ. แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ 50270
เจษฏา สุภาศรี : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา :