PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : AA-44150-00005 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

พระพิมพ์ กันทรวิชัย
Kantharawichai amulet

พระพิมพ์ กันทรวิชัย พระพิมพ์ดินเผา ได้ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2514 โดยนายทองสา วรบุตร อยู่บ้านเลขที่ 75 บ้านโนนเมือง ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ได้ขุดหลุมใต้ต้นค้อใหญ่บริเวณบ้านยายใส นางเทียบ พันจันทัพ ลึกประมาณ 1 ศอก พบพระพิมพ์ดินเผาเป็นจำนวนมากมีสามขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก จากการบอกเล่าของนางเทียบ พันจันทัพ กล่าวว่า ชาวบ้านในแถบนี้ได้เคยพบเห็นพระพิมพ์เหล่านี้มานานแล้วแต่ไม่มีผู้ใดกล้านำไปเก็บไว้ที่บ้านเรือน ได้แต่ปล่อยวางทิ้งสุมกองไว้ตามโคนต้นไม้ จนกระทั้งนายทองสา วรบุตร ซึ่งเป็นบุตรเขยได้ไปขุดพบ และได้นำไปให้ผู้ที่สนใจเช่าบูชาจนเป็นที่โจษขานกันทั่วไป เป็นเหตุให้ชาวบ้านพากันมาขุดค้นพระพิมพ์ดังกล่าวในเวลาต่อมา จนกระทั้งปี พ.ศ.2519 ชาวบ้านได้ขุดบริเวณทางทิศเหนือของบ้านโนนเมือง ในบริเวณที่ดินของนายทอง นางเอี่ยม รังสี ปรากฏพบพระพิมพ์ดินเผาจำนวนหนึ่งซึ่งมีทั้งแบบพิมพ์ใหญ่และแบบพิมพ์เล็ก แต่ในปัจจุบันพระพิมพ์ดินเผาเมืองกันทรวิชัยแห่งนี้หลงเหลือให้ศึกษาเพียง 3 พิมพ์ ได้แก่ พิมพ์ 1 ,2 และพิมพ์ที่ 3 พระพิมพ์ดินเผาปางสมาธิ ( พิมพ์ที่ 1 ) พบทั้งที่เมืองคันธาระ และเมืองฟ้าแดดสงยางพระ พิมพ์ที่พบในเมืองคันธาระมีขนาดสูง 22.5 เซนติเมตร ฐานกว้า 14 เซนติเมตร ถูกพบที่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของซากอุโบสถโดยเจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ส่วนพิมพ์ที่เมืองฟ้าแดดสงยางนั้นมีขนาดสูง 20 เซนติเมตร กว้าง 12 เซนติเมตร ซึ่งพบที่บริเวณโบราณสถานหมายเลข 1,5,6,9 พระพิมพ์นี้เป็นพระพิมพ์ดินเผาที่มีลักษณะสี่เหลี่ยมยอดโค้ง แสดงภาพพระพุทธเจ้านั่งแบบวัชราสนะบนฐานดอกบัว พระหัตถ์แสดงปางธยานมุทรา หลับพระเนตรและพระเศียรก็ก้มลงมาข้างล่างเล็กน้อย มีประภามณฑลอยู่โดยรอบพระเศียรมีลวดลายล้อมลอบพระองค์คล้ายกับรูปเปลวไฟ มีรัศมีคล้ายเกศมาลาเป็นรูปดอกบัวตูม มีขอบจีวรพาดผ่านข้อพระกรและโสณีด้านซ้าย จากรูปลักษณ์ของพระพิมพ์นั้นเป็นภาพพระพุทธเจ้าองค์เดียวประทับนั่งแบบวัชราสนะ แสดงธยานมุทราและจากการประทับนั่งแบบวัชราสนะขององค์พระ จึงอาจแปลความได้ว่าเป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” หรืออาจจะเป็น “พระธยานิพุทธอมิตาภะ” ในคติความเชื่อในพุทธศาสนานิกายมหายานพระพิมพ์องค์นี้รูปร่างลักษณะของพระพุทธเจ้าที่คล้ายกับพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในใบเสมาที่เมืองฟ้าแดดสงยาง ซึ่งปัจจุบันใบเสมาดังกล่าวได้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น พระพิมพ์นี้น่าจะเป็นพระพิมพ์พื้นเมืองของเมืองฟ้าแดดสงยางเองเพราะพบเป็นจำนวนมาก และมีความแพร่นิยมไปยังเมืองคันธาระจึงได้ปรากฏรูปแบบของพระพิมพ์องค์นี้ด้วยเช่นกัน จากลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบปาละซึ่งอาจผ่านเข้ามาทางประเทศพม่า พระพิมพ์องค์นี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษ ที่14 –15 พระพิมพ์ดินเผาปางสมาธิ ( พิมพ์ที่ 2 ) พบทั้งที่เมืองคันธาระ และเมืองฟ้าแดดสงยาง มีขนาดสูง 12 เซนติเมตร ฐานกว้าง 8.5 เซนติเมตร แสดงภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งแบบปรยังกาสนะบนบัลลังก์ ล้อมรอบด้วยประภามณฑลที่ประดับด้วยดอกไม้เหนือประภามณฑลมีฉัตรประดับอยู่ ทรงจีวรห่มคลุมพระหัตถ์ทำปางธรรมจักรมุทรา ด้านข้างตอนล่างมีพระโพธิสัตว์นั่งประนมมืออยู่สองข้างเหนือขึ้นไปเป็นรูปบุคลยืนถือแส้ (จามร ) ข้างละ 1 คน ด้านหลังบุคคลทั้งสอง มีบุคคลอีกสองคนยืนถือพัดโบกและฉัตร สำหรับพิมพ์ที่พบในเมืองฟ้าแดดสงยางนั้น พบจากโบราณสถานหมายเลข 9 และหมายเลข 12 พระพิมพ์รูปแบบนี้พบที่เมืองคันธาระและเมืองฟ้าแดดสงยางจากองค์ประกอบของพระพิมพ์ที่ 2 นี้ เป็นพระพิมพ์ดินเผาที่แสดงภาพ พระพุทธเจ้าประทับนั่งแบบปรยังกาสนะ พระหัตถ์ทำปางธรรมจักรมุทรา พระพิมพ์แบบนี้ควรหมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ตามที่ระบุไว้ใน “ธัมจักกัปปวัตตนสูตร” ของพระวินัยปิฎกฝ่ายเถรวาท สังเกตได้จากแสดงมุทราขององค์พระ ที่เป็นการยกพระหัตถ์ขึ้นในระดับพระอุระจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นวงกลมและใช้พระหัตถ์ซ้ายประคองไว้ เรียกว่า “ธรรมจักรมุทรา” หรือปางประทานปฐมเทศนาซึ่งการแสดงมุทราดังกล่าว ได้รับความนิยมมากในศิลปะอินเดีย ใช้ได้กับพระพุทธรูปประทับนั่งแบบปรยังกาสนะ และแบบพระพุทธรูปประทับนั่งแบบปรลัมพปาทาสนะ เช่นพระพุทธรูปนั่งที่ห้อยพระบาท ในถ่ำเอลโลร่า หมายเลข 10 ทางภาคตะวันตกของอินเดีย เป็นต้น การใช้มุทราแบบดังกล่าว ในความหมายของ “ปางประทานปฐมเทศนา” น่าจะเริ่มขึ้นในศิลปะอินเดียคุปตะ เช่นพระพุทธรูปปางธรรมจักรมุทราจากตำบลสารนาถเป็นต้น จากองค์ประกอบของภาพในพระพิมพ์ที่ 2 ตามลักษณะดังกล่าวอาจตีความได้ว่า เป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ในคติความเชื่อของทั้งนิกายพุทธศาสนาเถรวาทและพระพุทธศาสนานิกายมหายาน และพิจารณาจากรูปลักษณะแล้วพระพิมพ์นี้ เป็นพิมพ์ที่คลี่คลายมาจากปางปฐมเทศนาของอินเดียสมัยหลังคุปตะ ที่ปรากฏในถ้ำอชันตาถ้ำที่ 1 และพระพิมพ์นี้ก็ไม่ได้ปรากฏในวัฒนธรรมสมัยทวารวดีบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนั้นพระพิมพ์องค์นี้ยังมีองค์ประกอบที่คล้ายกับพระพิมพ์ที่ 3 เนื่องจากมีองค์ประกอบของภาพที่มีเครื่องสูงประกอบเช่นเดียวกัน ซึ่งคล้ายกับพิมพ์ที่พบที่เมืองนครปฐมโบราณในสมัยทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 15 เป็นไปได้ว่าพระพิมพ์จากนครปฐมพิมพ์ดังกล่าวนี้ อาจจะส่งอิทธิพลรูปแบบมายังบริเวณลุ่มแม่น้ำชีตอนกลางในราวพุทธศตวรรษที่ 14 – 15 นอกจากบริเวณลุ่มแม่น้ำชีแล้วยังพบรูปแบบพิมพ์ที่ 2 ดังกล่าวที่วัดนครโกษา จังหวัดลพบุรีอีกด้วย พระพิมพ์ดินเผาปางสมาธิ ( พิมพ์ที่ 3 ) พบทั้งที่เมืองคันธาระ และเมืองฟ้าแดดสงยาง มีขนาดสูง 12 เซนติเมตร ฐานกว้าง 8.5 เซนติเมตรแสดงภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งแบบปรยังกาสนะบนบัลลังก์ ทรงจีวรห่มเฉียงพระหัตถ์ทำปางสมาธิ ด้านข้างมีรูปเครื่องสูง คือ แส้ เหนือแส้เป็นรูปพัดโบกเหนือพัดโบกเป็นรูปฉัตรประดับอยู่ สำหรับที่พบในเมืองฟ้าแดดสงยาง ซึ่งพบจากจากโบราณสถานหมายเลข 12 นั้น ด้านหลังของพระพิมพ์มีจารึกเป็นภาษามอญ 2 บรรทัดซึ่งเป็นข้อเดียวกันกับพิมพ์ที่ 2พระพิมพ์รูปแบบดังกล่าวนี้มีองค์ประกอบที่มีความคล้ายคลึงกันกับพระพิมพ์ที่ 2 เพียงแต่ไม่ปรากฏภาพของบุคคล โดยแสดงภาพพระพุทธรูปประทับนั่งด้วยเครื่องสูงแสดงธยานมุทรา ซึ่งแม้ว่าจะตรงกับมุทราของ “พระธยานิพุทธอมิตาภะ” แต่พิมพ์นี้ปราศจากสัญลักษณ์อื่นใด ที่จะเชื่อมโยงกับคติความเชื่อของนิกายมหายานได้ จากองค์ประกอบของภาพสามารถสังเกตเห็นกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ที่อยู่เบื้องหลังอย่างชัดเจน บ่งบอกว่าที่ประทับพระองค์นี้อยู่ใต้ต้นไม้ ซึ่งที่พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นไม้ซึ่งปรากฏอยู่ในพระพุทธประวัติ ซึ่งเป็นประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนเครื่องสูง คือ จามรและพัด ที่ปรากฏอยู่ข้างองค์พระนั้น ก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในศิลปะทวารวดีอยู่เสมอ เช่นตอนที่พระองค์ประทับนั่ง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาโพธิญาณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตอนที่พระองค์ประทับใต้ต้นราชายตนะ เพื่อรับถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง เป็นต้น ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้ากับต้นไม้เช่นนี้ ไม่ปรากฏความเชื่อเรื่อง พระธยานิพุทธ ของนิกายมหายานเลย พระพิมพ์ที่ 3 นี้ จัดเป็นพิมพ์ที่แพร่หลายมากทั้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำมูล –แม่น้ำชี เพราะนอกจากจะพบที่เมืองนครปฐมโบราณหลายตำบลและลุ่มแม่น้ำชีดังกล่าวแล้ว ยังปรากฏพิมพ์รูปแบบนี้ที่เมืองโบราณร่วมสมัย ในลุ่มแม่น้ำมูล ดังที่ได้พบที่เมืองโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และที่เมืองทัพชุมพล จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มพระพิมพ์ดินเผาวัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี อีกด้วย จากหลักฐานทางด้านจารึกหลังพระพิมพ์ดินเผา ที่เป็นอักษรปัลลวะ ภาษามอญ โบราณ ทำให้สันนิษฐานตามอักษรว่าพิมพ์นี้น่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 จากการตีความของพระพิมพ์ดินเผาทั้งหมดที่พบในเมืองโบราณกันทรวิชัย พบว่าส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 – 15 ลงมา ซึ่งเป็นพระพิมพ์ดินเผาแบบทวารวดีที่มีอิทธิพลแบบคุปตะและหลังคุปตะ และบางพิมพ์ก็มีพิมพ์ที่มีอิทธิพลศิลปะแบบปาละเข้ามา ร่วมกับรูปแบบศิลปะสมัยทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งบางพิมพ์ก็มีจารึก เป็นอักษรปัลลวะ ภาษามอญ แสดงข้อความส่วนใหญ่ที่แปลได้ว่า เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดีที่พบในเมืองกันทรวิชัยนี้จัดเป็นรูปแบบสมัยทวารวดีในระยะที่ 2 ต่อเนื่องกับระยะที่ 3 คือมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 16 โดยได้รับอิทธิพลรูปแบบศิลปะจากพระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดีจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณภาคกลางของประเทศไทยจากการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ซึ่งรูปแบบศิลปะที่ปรากฏบนพระพิมพ์ เหล่านี้เป็นงานศิลปะแบบทวารวดีที่ทำขึ้นโดยช่างท้องถิ่น จากร่องรอยโบราณวัตถุสถานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เมืองโบราณกันทรวิชัย เป็นชุมชนที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ยุคโลหะตอนปลาย) เมื่อประมาณ 2,500 ปีที่ผ่านมาร่วมสมัยกับชุมชนโบราณที่ปรากฏร่องรอยคูน้ำคันดินล้อมรอบอีกหลาย ๆ แห่งในลุ่มมีน้ำชีและแม่น้ำมูล ต่อมาเมื่อประมาณ 1,000 ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาสู่การเป็นชุมชนที่มีความสำคัญสำคัญในสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 ได้รับเอาคติความเชื่อทางพุทธศาสนาตามแบบแผนสังคมและวัฒนธรรมแบบทวาราวดีเข้ามาบูรณการทางสังคมและวัฒนธรรม จัดระเบียบองค์กรภายในสังคมจนกลายเป็น “เมือง” ส่งผลให้มีการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องได้ : Tangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

โบราณวัตถุ : AA : Archeological Artefact .

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : บ้านโนน,บ้านสระ,บ้านโนนเมือง ต. คันธารราษฎร์ อ. กันทรวิชัย จ. มหาสารคาม 44150

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

ผศ.ดร.สมชาติ มณีโชติ

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม :

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-
พิกัด GPS

มีผู้เข้าชมจำนวน :891 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 20/05/2023 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 20/05/2023