วรรณกรรมท้าวลินจงลินทอง ในอดีตที่ผ่านมามีเมืองหนึ่งชื่อว่าเมืองคันธาธิราช มีผู้ปกครองสืบต่อกันมาหลายชั่วคน จนกระทั่งมาถึงเจ้าเมืองชื่อ “ท้าวลินจง” มีภริยาชื่อ “นางบัวคำ” ซึ่งมีบุตรชายหนึ่งคนชื่อว่า “ท้าวลินทอง”หากแต่มีนิสัยใจคอดุร้ายจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ท้าวสิงโต” จากอุปนิสัยใจคอดุร้ายจึงทำให้ท้าวลินจงผู้เป็นบิดาไม่ปรารถนาที่จะให้เป็นเจ้าเมืองต่อจากตน ซึ่งความดังกล่าวได้ทราบไปถึงท้าวลินทอง จึงบันดาลโทสะโกรธแค้นบิดาเป็นเยี่ยงนัก จึงพยายามออกอุบายให้บิดายกบ้านเมืองให้ตนครอบครองให้ได้ แต่กลับถูกบิดาปฎิเสธ จึงได้นำบิดาไปขังไว้โดยห้ามนำอาหาร น้ำ และห้ามบุคคลใดๆเข้าเยี่ยมยกเว้นมารดา เพื่อเป็นการบีบบังคับให้บิดายอมต่อความประสงค์ของตน ฝ่ายนางบัวคำผู้เป็นมารดามีจิตสงสารสามีเป็นยิ่งนักจึงได้พยายามนำผ้าสไบชุบข้าวบดผสมกับน้ำแล้วเข้าไปเยี่ยมท้าวลินจงแล้วให้ดูดข้าวและน้ำจากผ้าสไบ เพื่อประทังชีวิต แต่แล้วความก็ทราบไปถึงท้าวลินทองจึงได้สั่งห้ามให้มารดาเข้าเยี่ยมเด็ดขาดเมื่อท้าวลินจงใกล้ถึงความตายจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า หากมีผู้ใดเป็นผู้ปกครองต่อไปจากนี้ขออย่าได้มีความสุขความเจริญจงประสบแต่ความวิบัติต่างๆ และในที่สุดท้าวลินจงก็จบชีวิตในห้องขัง ภายหลังจากท้าวลินจงเสียชีวิตแล้ว นางบัวคำผู้เป็นภริยาได้ด่าสาปแช่งท้าวลินทองอย่างรุนแรง ท้าวลินทองจึงบันดาลโทสะฆ่ามารดาไปอีกคนและได้ครองเมืองสืบมา หลังจากนั้นบ้านเมืองที่เคยมีความสงบสุขได้เริ่มเกิดความระส่ำระสาย ท้าวลินทองเองนั้นก็มีแต่ ร้อนรน กระสับกระส่าย จึงให้โหรมาทำนายดวงเมือง โหรทำนายว่าบาปที่ท้าวลินทองกระทำไว้กับบิดามารดาซึ่งเคยมีพระคุณต่อทั้งสองอย่างรุนแรง ไม่อาจมีทางแก้ไขใดๆได้ หากมีเพียงแค่การลดหนักให้เบาลงได้ เพียงการสร้างพระพุทธรูปเพื่ออุทิศให้แก่คุณของบิดามารดา ด้วยเหตุนั้นท้าวลินทองจึงมีคำสั่งให้ดำเนินการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาสององค์เพื่อทดแทนคุณบิดามารดา ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าองค์ที่สร้างอุทิศแด่มารดานั้นคือพระพุทธรูปมิ่งเมืองที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดสุวรรณาวาส ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทาด้านทิศเหนือ ส่วนพระที่สร้างเพื่ออุทิศให้บิดานั้นคือพระยืนพุทธมงคลที่วัดพุทธมงคล (วัดบ้านสระ) ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ ครั้งเมื่อสร้างพระทั้งสององค์เสร็จเรียบร้อยแล้วท้าวลินทองได้ล้มป่วยลง และได้มีโหรจากเมืองพิมายผ่านมาและได้อาสาทำนายว่าท้าวลินทองจะถึงแก่กรรมภายในเจ็ดวันนี้ ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับท้าวลินทองเป็นอย่างมาก จึงได้มีคำสั่งประหารโหรผู้นั้นเสีย หากแต่กรมการเมืองได้ร้องขอชีวิตไว้ โหรได้ทำนายต่อว่าหากได้สร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ทองคำขึ้นมาอีกองค์ ความทุกข์ร้อนจะเบาบางลงบ้าง ดังนั้น ท้าวลินทองจึงได้สั่งให้สร้างพระพุทธรูปดังกล่าวขึ้นมา และให้สร้างอุโบสถครอบองค์ไว้ แต่ขณะดำเนินการสร้างอุโบสถอยู่นั้นท้าวลินทองได้ถึงแก่กรรม โดยก่อนเสียชีวิตจึงได้อธิษฐานว่า ขออย่าให้มีใครมาพบเจอพระพุทธรูปดังกล่าวเลยหากมีผู้ใดพบเห็นขอให้มีอันเป็นไป เกิดความพินาศฉิบหาย จากตำนานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคนเมืองกันทรวิชัยได้มีความพยายามในการอธิบายความเป็นมาโบราณวัตถุ-สถานที่มีอยู่ในชุมชน โดยได้นำเอาโครงเรื่องของพระเจ้าพิมพิสารกับพระเจ้าอชาติศัตรูในตำนานพระพุทธศาสนามาผูกเรื่องใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของชุมชน ซึ่งตำนานที่สร้างขึ้นนี้นอกจากเป็นการอธิบายประวัติศาสตร์ของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นกลไกทางสังคมที่ให้คนในชุมชนอยู่ในกรอบของจารีต-ประเพณี ภายใต้ความเชื่อของตำนานเมืองกันทรวิชัย กล่าวคือ คนเมืองกันทรวิชัยมีความเชื่อในความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของวัดพระยืนทั้งสองแห่ง อันนำมาสู่การจัดการเชิงพื้นที่ที่มีข้อห้าม “คะลำ” ห้ามบุคคลใดกระทำการอันไม่เป็นมงคลในพื้นที่แห่งนี้ เช่น ห้ามสบถคำพูดหยาบคาย ห้ามแสดงกิริยาก้าวร้าว ห้ามทะเลาะวิวาท เป็นต้น หากใครล่วงละเมิดอาจส่งผลร้ายต่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน ซึ่งจารีตที่สืบเนื่องมาจากตำนานดังกล่าวได้เป็นกรอบที่ทำให้คนเมืองกันทรวิชัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
วรรณกรรมพื้นบ้าน : FL : Folk Literature ตำนานพื้นบ้าน
.
เลขที่ : วัดพุทธมงคล ต. คันธารราษฎร์ อ. กันทรวิชัย จ. มหาสารคาม 44150
นายประหยัด นาเรือง
0818727041
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม :