PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : PA-57150-00004

ขับทุ้ม/ขับลาว เมืองหลวงพระบาง

ขับทุ้มหลวงพระบางเป็นการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวหลวงพระบาง แห่งอาณาจักรล้านช้าง ขับทุ้มหลวงพระบางเป็นที่นิยมกันทั่วไป แม้แต่ในราชสำนักหลวงพระบางเองก็ถือว่าเป็นคีตศิลป์ราชสำนัก มีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์คือร้องโต้ตอบ เกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายหญิงประกอบวงลาวเดิม ที่มีทั้งวงเสพใหญ่และเสพน้อย เครื่องดนตรีหลักที่ใช้ก็คือ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวง ซอ แคน กลองสองหน้า ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากดนตรีไทยภาคกลางของประเทศไทย ในเมืองเชียงแสนมีชุมชาวลาวจากเมืองหลวงพระบางเข้ามาอาศัยอยู่ในตัวเมืองเก่าหลายครอบครัวโดยเฉพาะย่านการค้าริมแม่น้ำโขง และมีชุมชนหนึ่งในเมืองเชียงแสนที่เป็นชุมชนชาวหลวงพระบางที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงแสนคือชุมชนบ้านสบคำ หมู่ 5 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง เหตุที่ชื่อ “บ้านสบคำ” เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้มีแม่น้ำคำไหลผ่านไปบรรจบกับแม่น้ำโขง ซึ่งคำว่า “สบ” ในภาษาท้องถิ่นแปลว่า “พบ” หรือ “เจอ”และอีกในความหมายหนึ่งของ”สบ” แปลว่าปาก นั่นคือ เป็นจุดที่แม่น้ำคำและแม่น้ำโขงมาเจอหรือมาบรรจบกันแต่ในอดีตคนไทลาวจะเรียกว่า “บ้านปากแม่น้ำคำ” เพราะเป็นช่วงที่แม่น้ำคำมาเจอกันแม่น้ำโขง เรียกว่า “ปากน้ำ” แต่อย่างไรก็ตามผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่มักจะเรียกว่า “บ้านสบคำ” มากกว่าที่จะเรียก “บ้านปากแม่น้ำคำ” ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการเรียกตามภาษาท้องถิ่น เดิมบ้านสบคำ อยู่ในเขตปกครองของหมู่ที่ 3 ตำบลเวียง ต่อมาได้แยกหมู่บ้านจาก หมู่ที่ 3 มาเป็น หมู่ที่ 5 บ้านสบคำ เมื่อ พ.ศ. 2490 ประชากรหลักในหมู่บ้านสบคำเป็นชาวลาวจากเมืองหลวงพระบาง ดังนั้นวิถีทางวัฒนธรรมทั้งประเพณี พิธีกรรม อาหาร และการขับทุ้มหลวงพระบางยังคงถือปฏิบัติกันอยู่ในหมู่บ้านสบคำ ในด้านประเพณีพิธีกรรมที่เด่นชัดคือพิธีไหลเรือไฟวันออกพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันในกลุ่มชาวลาว เป้นพิธีที่สำคัญที่ภายในหนึ่งปีจะกระทำกันหนึ่งครั้งไม่ขาด ด้านภาษานั้นชาวบ้านสบคำยังใช้ภาษาลาวสำเนียงเมืองหลวงพระบางในการสนทนาโต้ตอบกันในชีวิตประจำวัน การขับทุ้มหลวงพระบางถือเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของชาวหลวงพระบาง ไม่ว่ากลุ่มชาวลาวเมืองหลวงพระบางจะอพยพไปในที่ใดก็จะนำเอาการขับทุ้มหลวงพระบางเพื่อเป็นการแสดงตัวตนของตนเองอยู่เสมอ เช่นในจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ ๆชาวหลวงพระบางอพยพไปและยังคงมีการขับทุ้มหลวงพระบางอยู่คือ ชุมชนบ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย และ ชุมชนบ้านสบคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย การขับทุ้มหลวงพระบางมีต้นกำเนิดในกลุ่มลาวที่อาศัยอยู่ในแขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว จึงทำให้มีการเรียกทำนองการขับขานนี้ว่า “ขับทุ้มหลวงพระบาง” มีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ คือเป็นการร้องเพลงโต้ตอบกันไปมาระหว่างหญิงชาย ชาวบ้านนิยมเล่นกันในยาวว่าง หรือมีงานประเพณีที่สำคัญของหมู่บ้านเช่น งานสงกรานต์ ปีใหม่ งานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ซึ่งเพลงขับทุ้มหลวงพระบางมีท่วงทำนองที่ไพเราะอ่อนหวาน และมีจังหวะที่สนุกสนาน ในปัจจุบันนี้ในหมู่บ้านสบคำยังคงมีการอนุรักษ์การขับทุ้มหลวงพระบางและถือเป็นภูมิปัญญาที่สำคัญของชาวลาวหลวงพระบางบ้านสบคำ ถือเป็นอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจในชุมชน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะย้าย ถิ่นฐานมายังประเทศไทยมานานแล้ว แต่บทเพลงขับทุ้มหลวงพระบางก็ยังเชื่อมโยง วัฒนธรรมของลาวหลวงพระบาง การสะท้อนรากเหง้าทางและการระลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนที่มาจากเมืองหลวงพระบาง สามารถบอกเล่าทางประวัติศาสตร์และสะท้อนอัตลักษณ์ของพวกเขาในฐานะชาติพันธุ์ลาวหลวงพระบางที่มีเอกลัษณ์เฉพาะตน อ้างอิง สปัญญ์นา แก้วตาปี,อัตลักษณ์ลาวหลวงพระบางและลาวพลัดถิ่น ในจังหวัดเชียงราย ผ่านเพลงขับทุ้มหลวงพระบาง



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องได้ : Tangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

ศิลปะการแสดง : PA : Performing Arts ดนตรี
นาฏศิลป์และการละคร
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : บ้านสบคำ ต. เวียง อ. เชียงแสน จ. เชียงราย 57150

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

นางจันทร์เพ็ญ สุขใจ นางบัววัน เนตรรังษี นางหล้า พิมพา

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

0629365621

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง :

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-
พิกัด GPS

มีผู้เข้าชมจำนวน :513 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 28/12/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 28/12/2022