วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) หมู่ ๕ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง เหตุที่ชื่อ “บ้านสบคำ” เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้มีแม่น้ำคำไหลผ่านไปบรรจบกับแม่น้ำโขง ซึ่งคำว่า “สบ” ในภาษาท้องถิ่นแปลว่า “พบ” หรือ “เจอ” นั่นคือ เป็นจุดที่แม่น้ำคำและแม่น้ำโขงมาเจอหรือมาบรรจบกันแต่ในอดีตคนไทลาวจะเรียกว่า “บ้านปากแม่น้ำคำ” เพราะเป็นช่วงที่แม่น้ำคำมาเจอกันแม่น้ำโขง เรียกว่า “ปากน้ำ” แต่อย่างไรก็ตามผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่มักจะเรียกว่า “บ้านสบคำ” มากกว่าที่จะเรียก “บ้านปากแม่น้ำคำ” ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการเรียกตามภาษาท้องถิ่น เดิมบ้านสบคำ อยู่ในเขตปกครองของหมู่ที่ ๓ ตำบลเวียง ต่อมาได้แยกหมู่บ้านจาก หมู่ที่ ๓ มาเป็น หมู่ที่ ๕ บ้านสบคำ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ ชุมชนบ้านสบคำเป็นชุมชนใหญ่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านสบคำส่วนใหญ่เป็นชาวลาวที่อพยพมาจากแขวงไชยยะบุรี และชาวลาวจากเมืองหลวงพระบาง นอกจากชาวลาวยังมีชาวไทลื้อและชาวไทยวนอาศัยอยู่ปะปนกันกับชาวลาวอีกด้วย ในปี พ.ศ.2529 กลุ่มแม่บ้านสบคำได้รวมตัวกันและจัดตั้งกลุ่มทอผ้าด้วยกี่กระตุกโดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงรายเข้ามาทำการฝึกอบรมการทอผ้าให้แก่สตรีในหมู่บ้านจำนวน 60 คนมีกี่ทั้งหมด 10 หลังทำการฝึกอบรมเป็นเวลา 1 เดือนหลังจากการฝึกอบรม กลุ่มสตรีได้ทำการทอผ้ามาตลอดโดยมี นางอารีย์ ทองผาง เป็นประธานกลุ่ม และในวัดพระธาตุผาเงายังจัดสรา้งพิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน ก่อตั้งขึ้นโดยหลวงพ่อพระพุทธิญาณมุนี (ประเสริฐ ปญฺญาวชิโร) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา และคณะศรัทธา ที่เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูผ้าทอ ท่านได้เริ่มส่งเสริมการทอผ้าลายพื้นเมืองเชียงแสนให้คงไว้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปพื้นบ้าน และส่งเสริมและฟื้นฟูการทอผ้าถือเป็นการสร้างอาชีพและรายได้แก่ชาวบ้าน พร้อมๆกันนั้นก็ร่วมกันจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนา เชียงแสน" ขึ้นเมื่อปี 2539 อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นเรือนไม้สองชั้นใต้ถุนโล่ง ชั้นบนจัดแสดง ผ้าทอลวดลายแบบต่าง ๆ ใต้ถุนอาคารเป็นโรงทอผ้า ต่อมาในปี 2557 ได้มีการบูรณะและเพิ่มเติมพื้นที่ใช้สอยของอาคารและการจัดแสดง และล่าสุดได้ปรับปรุงการจัดอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2561 ภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นล้านนา ที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การหาชน) มีโกมล พานิชพันธ์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการปรับปรุงนิทรรศการ ภายในนำเสนอเกี่ยวกับการตระเตรียมเส้นใย การทอผ้า โดยจัดแสดงอุปกรณ์ต่าง ๆ ในแต่ละขั้นตอน นำเสนอลวดลายผ้าเชียงแสนที่แตกต่างกัน ผืนผ้าและการนุ่ง รวมถึงนำเสนอผ้าที่เป็นของชาวบ้านกับผ้าสำคัญในทางศาสนา และผืนผ้าทอขนาดยาวที่เป็นผ้าที่ช่างไทยวนในแต่ละถิ่นร่วมทอกันไว้เป็นผืนยาว ผลิตภัณฑ์สิ่งทอของกลุ่มทอผ้าบ้านสบคำมีทั้งผ้าซิ่นไทยวนอย่างซิ่นตาหมู ซิ่นตีนจก ผ้าคลุม และผลิตภัณฑ์อื่นๆซิ่งเป็นที่นิยมในท้องตลาด
จับต้องได้ : Tangible.
งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า
.
เลขที่ : บ้านสบคำ ต. เวียง อ. เชียงแสน จ. เชียงราย 57150
ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง :