PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : AR-34350-00002 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

วัดสิรินธรวราราม ภูพร้าว
Sirindhorn Wararam Phuprao

พิพิธภัณฑ์​วัดสิรินธรวรารา​มภูพร้าว​: เมืองเรืองแสง​วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือ วัดภูพร้าว แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของอุบลราชธานี วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือ วัดภูพร้าว อีกชื่อหนึ่งที่นิยมเรียกกันก็คือ วัดเรืองแสง วัดนี้จะตั้งอยู่บนเนินเขาสูง ในอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี วัดสิรินธรวรารามภูพร้าวจำลองสภาพแวดล้อมของวัดป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาศ บนยอดเขาเราจะสามารถมองเห็นพระอุโบสถสีปัดทองตั้งเด่นเป็นสง่า ด้านหลังของอุโบสถจะเป็นงานจิตรกรรมเรืองแสงสีเขียวของต้นกัลปพฤกษ์ที่อยู่ด้านหลังของอุโบสถ ซึ่งในเวลากลางคืน สวยงามมากจริงๆ ประวัติวัดสิรินธรวรามภูพร้าว ท่านพระอาจารย์บุญมากเป็นผู้ริเริ่ม ท่านเป็นคนฝั่งลาวจำปาสักเข้ามาเผยแพร่อบรมสมาธิทางฝั่งไทย และได้ปักกลด ที่ภูพร้าวแห่งนี้ในปี 2497-2498 ต่อมาปี 2516ท่านได้ขอบิณฑบาตพื้นที่ให้เป็นวัดจากทางหน่วยทหารและทางราชการ อ.พิบูลมังสาหาร ทางอำเภอจึงให้ตั้งชื่อวัดว่า วัดสิรินธรวราราม หลังจากนั้นท่านพระอาจารย์บุญมากต้องกลับประเทศลาว ทิ้งให้วัดร้างหลายสิบปี จนกระทั่งปี 2542 พระครูกมล ลูกศิษย์ของท่านได้ค้นพบวัดอีกครั้งและบูรณะให้กลับมาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้ดังเดิม หลังจาก พระครูกมลละสังขารไปในปี 2549 พระครูปัญญาก็เข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและสานต่องานสร้างวัดต่อไป อย่างต้นกัลปพฤกษ์ เรืองแสง ส่วนพระอุโบสถยังมีการแต่งเติมอยู่เรื่อยๆ อุโบสถวัดสิรินธรวรามภูพร้าว อุโบสถวัดสิรินธรวรามภูพร้าว เป็นอุโบสถที่มีความสวยงาม ตัวอุโบสถมีต้นแบบมาจากวัดเชียงทอง ประเทศลาว แต่มีความกว้างมากกว่า 1 เท่า และความยาวมากกว่า 2 เท่าทางเข้าเป็นต้นสาละ เขยิบเข้ามาเป็นต้นมะขามป้อม ต้นสมอ เสาแต่ละต้นเขียนภาพลงลวดลายด้วยมือ โดยรอบนอกเป็นลายดอกบัวและสัตว์ทั้งหลายตามคติบัว 4 เหล่า หัวใจหลักของการทำพุทธศิลป์ คือ การนำเสนอ งานศิลปะที่เกิดจากความสงบ ความเพียร ความอดทน และวิสัยทัศน์ งานแต่ละชิ้นต้องคิดจากความคิดอันวิจิตรและขบคิดมาก่อนทั้งสิ้น อย่างแนวคิดการจำลองให้วัดเป็นเขาพระสุเมรุ ด้านในสุดของพระอุโบสถ เป็นพระประธานซึ่งมีผู้นำมาถวายวัด ดั้งเดิมเป็นองค์พระพุทธชินราช ที่คล้ายพระพุทธชินราชในจังหวัดพิษณุโลก แต่ช่างคณากรได้ออกแบบใหม่โดยถอดรัศมีและพระเกตุมาลาออก แล้วแกะสลักไม้เป็นต้นโพธิ์ไปวางอยู่ด้านหลังพระประธาน ด้านหลังพระอุโบสถ มีภาพประติมากรรมเรืองแสงต้นกัลปพฤกษ์ ฝีมือการออกแบบของ “ช่างคณากร ปริญญาปุณโณ” โดยการติดโมเสกแต่ละชิ้นด้วยตัวเอง โดยมีแรงบันดาลใจมาจากต้นไม้แห่งชีวิต ในภาพยนตร์เรื่องอวตาร โดยใช้สารเรืองแสง หรือ สารฟลูออเรสเซนต์รอบต้น คุณสมบัติของสารฟลูออเรสเซนต์จะรับแสงพระอาทิตย์ในตอนกลางวัน และปล่อยพลังงานออกมาในตอนกลางคืน มุมมองในต้นกัลปพฤกษ์ (ไม้สารพัดนึก) องค์กรใดก็ตามที่มีบุคลากรทำหน้าที่ของตนได้อย่างสมบูรณ์เป็นธรรม กิจการขององค์กรนั้น ๆ ย่อมสัมฤทธิ์ผลเจริญรุ่งเรืองและมั่นคง ยังส่งผลให้ออกมาก่อเกิดความเอื้อเฟื้อแบ่งปันและสงเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในยามวิกฤต ดั่งที่เห็นเมื่อเกิดมหาภัยพิบัติต่าง ๆ ตามทั่วทุกมุมโลก ความดีเหล่านี้แผ่ไปทั่วโลกธาตุเป็นที่รักของมหาชน เปรียบองค์กรนี้เหมือนต้นกัลปพฤกษ์ไม้สารพัดนึกที่ออกผลได้ตามความต้องการ สมดังพุทธสุภาษิตที่กล่าวว่า “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” นอกจากความมหัศจรรย์ของพระอุโบสถแล้ว วัดแห่งนี้ยังมีจุดชมวิวทิวทัศน์ซึ่งเป็นวิวลำน้ำโขง และบริเวณด้านหลังพระอุโบสถเป็นจุดชม วิวทิวทัศน์ของฝั่งประเทศลาวและมองเห็นด่านสากลช่องเม็กอย่างสวยงามรวมทั้งอ่างเก็บน้ำที่ อยู่บริเวณเชิงเขาคล้ายกับทะเลสาป โดยเฉพาะในช่วงพระอาทิตย์ตกดิน เราจะได้เห็นพระอาทิตย์ดวงโตซึ่งเป็นบรรยากาศที่สวยงามมาก การเดินทางไปยังวัดภูพร้าว ตัววัดจะอยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีราว 70 กิโลเมตร หากเดินทางจากจุดเริ่มต้นที่ตัวจังหวัด ให้ตรงไปยังเส้นทางไป อำเภอพิบูลมังสาหาร เมื่อถึงอำเภอพิบูลมังสาหารแล้วจะมีสามแยกไฟแดง ให้เลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอสิรินธร ขับตรงไปยังเส้นนั้นซึ่งสามารถไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวอย่างพัทยาน้อย ทะเลน้ำจืดคนอุบล หรือเขื่อนสิรินธร ซึ่งอยู่ระหว่างทางได้ และวัดจะอยู่ก่อนถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองช่องเม็กประมาณ 3 กม. ทางซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางเข้าวัดที่ถนนใหญ่ โดยเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 2 กม. เวลาทำการ ทุกวัน : 06.00 - 21.00 น.



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องได้ : Tangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

สถาปัตยกรรม : AR : ARchitecture ศาสนสถาน
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ต. ช่องเม็ก อ. สิรินธร จ. อุบลราชธานี 34350

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

จารุณี​ อนุพันธ์​ : มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี :

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-
พิกัด GPS

มีผู้เข้าชมจำนวน :271 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 06/11/2022 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 06/11/2022