บริเวณแหลมโพธิ์เป็นสันทรายขนาดใหญ่ มีคลองพุมเรียงไหลผ่าน สภาพทั่วไปเป็นป่าโปร่ง บริเวณใกล้ปากน้ำเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน และที่จอดเรือของชาวประมง ทางด้านทะเลฝั่งตะวันออกเป็นดินโคลน มีป่าโกงกางขึ้นอยู่ทั่วไป จากปลายแหลมเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร มีซากโบราณสถานก่ออิฐ ๑ แห่ง แต่ปัจจุบันพังทลายไปมากแล้วใกล้ ๆ กันเป็นบ่อน้ำรูป๖ เหลี่ยม พบเสาธรณีประตูทำด้วยหินปูน พ.ศ.๒๕๓๔ โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) สำรวจพบซากเรือบริเวณแหลมโพธิ์และได้พบโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น เศษเครื่องถ้วยต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า คงเป็นที่จอดเรือของชาติต่าง ๆ โดยอาจมีการพํานักชั่วคราวเพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับเมืองโบราณไชยา ทั้งหาเสบียงอาหารและน้ำจืด เพื่อทำการเดินเรือค้าขายกับชาติอื่นไกลออกไป โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) จึงได้ขุดค้นเป็นหลุมทดสอบเพื่อสุ่มตัวอย่าง ๒ หลุม หลักฐานทางโบราณคดี โบราณวัตถุสำคัญที่ได้จากการขุดค้น มีดังต่อไปนี้ ๑.ลูกปัด พบเป็นจำนวนมากกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นลูกปัดแก้ว นอกนั้นเป็นจำพวกหิน อะเกต (Agate) และคาร์เนเลี่ยน (Carnelian) รูปทรงเป็นแบบกลองรํามะนาเจาะรู (Capped bead) พบมากที่สุด รองลงไปเป็นแบบวงแหวน (Annular) ทรงรูปไข่ ทรงกระบอก ส่วนใหญ่มีสีเหลือง น้ำเงิน ฟ้า และดำ นอกจากนี้ยังพบลูกปัดชนิดแปลก ๆ อีกจำนวนมาก ได้แก่ ลูกปัดชนิด ๒ สีสลับกัน มีสีเหลืองสลับดำ น้ำเงินสลับขาว หรือ ดำสลับขาว หรือที่ เรียกกันว่าลูกปัดโรมัน (Roman bead) ลูกปัดเกลียว (wounded bead) ลูกปัดตาลายชั้น (Stratified flush eye bead) ลูกปัดตาหมากรุก (Cheque bead) และที่น่าสนใจได้พบแก้ว หลอมสีต่าง ๆ และแผ่นแก้วหลากสี ซึ่งเป็นวัตถุดิบ (Raw Material) ในการเตรียมที่จะหลอมเป็นเม็ดต่อไป แสดงให้เห็นว่ามีการผลิตในท้องถิ่น หรือเป็นอุตสาหกรรมการผลิตลูกปัดแก้ว ผู้ผลิตมีความรู้ความเข้าใจทางด้านเทคโนโลยีในการหลอมแก้วผสมออกไซด์ของโลหะบางอย่าง และขบวนการผลิตเป็นอย่างดี วัตถุดิบที่นํามาทำลูกปัดแก้วนั้น เดิมคงเป็นภาชนะขนาดเล็ก ซึ่งเป็น สินค้าออก หรือผลิตในแถบประเทศตะวันตก ที่เรียกว่าแก้วโรมันหรือแก้วอาหรับ นักโบราณคดี บางท่านสันนิษฐานว่า การรู้จักผลิตลูกปัดน่าจะได้รับคตินิยมบางอย่างจากตะวันออกกลาง และอินเดีย ลูกปัดเหล่านี้น่าจะเป็นสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งที่มีการติดต่อซื้อขายกันบริเวณแหลมโพธิ์ ๒. เหรียญจีน พบจำนวน ๓ เหรียญ เป็นเหรียญเงินสมัยราชวงศ์ถัง ลักษณะเป็นเหรียญกลมเจาะรูตรงกลางเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีอักษรปรากฎอยู่บนเหรียญ ๔ ตัว อ่านว่า คาย เอวียน ถ่ง ป่าว (Khai Ewian Thong Pao) แปลว่าทำในรัชกาลพระเจ้าคายเอวียน ผลิตและออกใช้ใน พ.ศ.๑๑๖๔ ถึง พ.ศ.๑๒๐๙ และใช้ต่อมาจนสิ้นราชวงศ์ถัง พ.ศ. ๑๔๕๐ ๓.เครื่องถ้วย พบเครื่องถ้วยพื้นเมืองเปอร์เซียและจีน ซึ่งเป็นสินค้าขาเข้าที่นํามาแลกเปลี่ยนค้าขายกับสินค้าพื้นเมือง ที่สำคัญได้แก่ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง อายุประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๕ ภาชนะและเศษภาชนะที่พบเป็นเครื่องถ้วยประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ๓.๑ เหยือกมีพวยและลวดลาย เนื้อภาชนะสีขาวนวล เคลือบสีน้ำตาลเข้ม และสีน้ำตาลอ่อน พวยเป็นรูป ๖ เหลี่ยม หูมีลวดลายตัดแปะ (Applique) เป็นรูปต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ ใบไม้ เครือเถา เถาองุ่น นก เป็ด เป็นต้น เรียกเหยือกลักษณะแบบนี้ว่า “ฉ่าง ชา” (Chang sha) หรือคล้ายวาชาปิง (Wa-cha-ping) และตุง หยวน เลี่ยน (Tung-Huan-Hsien) อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เครื่องถ้วยแบบนี้ยังพบบริเวณเกาะชวา เมืองซีราฟ (Siraf) บริเวณอ่าวเปอร์เซีย เมืองนิชฮาปูร์ (Nishapur) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเปอร์เซีย และเมืองฟอสตัส เมืองไคโรประเทศอียิปต์ ทำให้พออนุมานเส้นทางการค้าเครื่องถ้วยจีนที่มีแหล่งผลิต บริเวณมณฑลหูหนาน (Hunan) ผ่านเมืองกวางตุ้ง โดยพ่อค้าชาวอาหรับนําสิ่งเหล่านี้พร้อมกับสินค้าไหม ของประดับมีค่าอื่น ๆ ไปแลกเปลี่ยนค้าขายกับบริเวณเมืองท่าต่าง ๆ ๓.๒ ถ้วย มีหลายแบบมากมาย เช่น (ก) ถ้วยเคลือบใสสามสี มีสีเขียวน้ำตาล มักเคลือบอยู่ภายใน เคลือบภายนอกเป็นสีเหลืองอ่อน ลวดลายภายในเขียนอย่างอิสระเป็นรูปใบไม้ ดอกบัว เป็นต้น ผลิตที่ วาชาปิง ในมณฑลหูหนาน เครื่องถ้วยแบบนี้พบที่เมืองซีราฟ ริมอ่าวเปอร์เซีย บริเวณเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช (ข) ถ้วยที่มีการขุดเคลือบออกจากภายใน น้ำเคลือบสีขาว หรือสีเหลืองอ่อน ภายในจะถูกขูดเคลือบออกก่อนเผาเป็นรูปคล้ายสี่เหลี่ยมประมาณ ๕-๖ ตอนด้วยกัน ส่วนก้นภายใน จะมีลักษณะแบบวงแหวนเป็นร่อง (ค) ถ้วยเคลือบสีขาว เนื้อดินทำด้วยดินขาวอย่างดี (ดินเกาลิน) เคลือบสีงาช้าง คุณภาพดีมาก เป็นผลิตภัณฑ์ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๕ (ง) เซลาดอน พบเป็นจำนวนมาก เนื้อภาชนะสีขาวเทาเคลือบสีเขียวมะกอก บางชิ้น มีลวดลายปรากฎอยู่ภายใน บางชนิดมีร่องรอยใช้ของมีคมขูดอยู่ภายใน โดยใช้เครื่องมือขูดหลังจากเคลือบแล้วจึงเผา เป็นเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ซุ่ง ๓.๓ ไหลุซุน ทรงคล้ายถังเบียร์ มี ๔ หูอยู่บริเวณส่วนไหล่ในแนวนอน เคลือบสีเขียว มะกอกหรือน้ำตาลอ่อน ชื่อดุซุนนํามาจากชาวดุซุนที่อาศัยอยู่ตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ซึ่งได้มีการจำหน่ายไหแบบนี้ในราคาสูงมาก และมักพบอยู่ ตามหลุมศพโบราณ ไหลุซุนนี้มีการใช้กันมาก่อน พ.ศ.๑๔๐๐ ในปี พ.ศ.๑๔๒๕ ได้ มีการสั่งขายกันในบริเวณตะวันออกกลาง แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีสภาพภูมิศาสตร์ที่เกื้อหนุนในการเป็นที่จอดเรือเพื่อซ่อมแซมเรือและหาเสบียง ตลอดจนขนถ่ายสินค้าแลกเปลี่ยนกับชุมชนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ โดยมีคลองพุมเรียงเป็นเส้นทางสำคัญในการขนถ่ายสินค้า หลักฐานที่พบแสดงถึงกิจกรรมการค้าขายทางทะเลอย่างน้อยตั้งแต่ สมัยราชวงศ์ถังเป็นต้นมา สินค้าขาเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องถ้วยชามจีนมีแหล่งผลิต จากเตาฉางชามณฑลหูหนาน เตาหยังเหม่ติง ในเขตจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี เตายั่ว มณฑลเจ้อเจียง เตามีเสียน มณฑลเหอหนาน และเตากงเสียน มณฑลเหอหนาน ส่วนสินค้าประเภทแพรไหมไม่เหลือสภาพให้เห็น แต่สันนิษฐานว่าคงเป็นสินค้าเข้า สำคัญที่นํามาจากเมืองจีน สำหรับสินค้าออกน่าจะได้แก่สินค้าพื้นเมืองประเภทเครื่องเทศสมุนไพร ไม้หอม ผลิตภัณฑ์จากป่าและสัตว์ป่า ที่เหลือหลักฐานว่า น่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น คือ อุตสาหกรรมการผลิตลูกปัดแก้ว แม้ว่าวัตถุดิบประเภทเศษแก้ว หรือเศษภาชนะเครื่องแก้วเล็ก ๆ จะเป็นของนําเข้า แต่ก็มีหลักฐานว่าผลิตขึ้นเองในท้องถิ่น และมีปริมาณมากเพียงพอที่จะจัดได้ว่า น่าจะเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ตลาดค้าลูกปัดน่าจะมีทั้งตลาดภายนอก หมายถึงเป็นสินค้าส่งออกไปยังดินแดนห่างไกล เช่น ดินแดนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เมืองท่าต่าง ๆ ในคาบสมุทรมลายูทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมไปถึงดินแดนโพ้นทะเลด้วย ส่วนตลาดภายในหมายถึงชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงลึกเข้าไปในภาคพื้นทวีป หรือเมืองท่าในลุ่มน้ำต่าง ๆ เช่น ชุมชนเมืองท่าที่แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย แหล่งโบราณคดีควนพุนพิน ในเขตลุ่มน้ำตาปี เป็นต้น แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์จึงมีลักษณะเป็นเมืองท่า หรือแหล่งรวมสินค้าที่นําเข้า และส่งออก การแพร่กระจายของโบราณวัตถุซึ่งเป็นของจากต่างประเทศ ทำให้ทราบถึงขอบข่ายการค้าที่ครอบคลุมคาบสมุทรมลายู รวมไปถึงเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรอันเป็นที่ตั้งชุมชน เมืองท่าฝั่งทะเลอันดามัน เช่น แหล่งโบราณคดีเหมืองทอง บ้านทุ่งตึก ตำบลเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นต้น เส้นทางการค้านี้ครอบคลุมบรรดาหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลจีนตอนใต้ รวมไปถึงเส้นทางการเดินเรือสินค้าจากจีนไปยังตะวันออกกลาง หรือเป็นที่รู้จักกันในนามเส้นทางสายแพรไหมทางทะเลด้วย อายุสมัย กำหนดอายุจากเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๕) เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ง (พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ ) แหล่งเมืองท่าทางพาณิชย์นาวีที่ แหลมโพธิ์คงมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๘ และคงสืบเนื่องมาถึงสมัยอยุธยาด้วย
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site โบราณสถานสัญลักษณ์แห่งชาติ
.
เลขที่ : ต. พุมเรียง อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี 84110
นายธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ
โทรศัพท์ 0870394491สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี :