บ้านพุมเรียง ชุมชน ๓ วัฒนธรรม บ้านเกิดของพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือพุทธทาสภิกขุ ผู้ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) เป็นบุคคลสำคัญของโลก ตั้งอยู่ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยและหลอมรวมทางวัฒนธรรมของชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยเชื้อสายมลายู ก่อเกิดเป็นวิถีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะ สะท้อนให้เห็นศิลปะและวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ใจกลางของชุมชน ซึ่งเป็นย่านการค้า และถิ่นที่อยู่ของชาวไทยเชื้อสายจีน ทอดยาวขนานไปกลับคลองพุมเรียง ร้านค้าเหล่านั้นสร้างด้วยไม้มุงกระเบื้องดินเผา มีลักษณะเป็นเรือนไทยแบบภาคใต้ที่ได้รับการดัดแปลงพื้นที่ส่วนที่ติดกับถนนเป็นร้านค้าแบบจีน ลวดลายประดับตกแต่งบางส่วนเป็นลายไทย บางส่วนเป็นลายจีน และบางส่วนเป็นลายมลายู และยังแสดงให้เห็นถึงรูปแบบศิลปะที่นิยมกันในบางกอกในช่วง ๑๐๐ - ๒๐๐ ปีที่แล้ว ไม้เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของสุราษฎร์ธานี กระเบื้องดินเผาสำหรับมุงหลังคามีแหล่งผลิตรอบทะเลสาบสงขลาในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและสงขลาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โครงสร้าง แผนผัง และลวดลายประดับตกแต่งของร้านค้าสะท้อนให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านความเชื่อและความนิยมรูปแบบศิลปะระหว่างสามวัฒนธรรม คือ ไทย จีน และมลายูได้เป็นอย่างดี พื้นที่ทำการเกษตรหรือที่อยู่อาศัยของชุมชนคนไทย ได้แก่พื้นที่โดยรอบชุมชน ทางทิศเหนือและทางทิศตะวันตกของชุมชน เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของเมืองไชยา บริเวณที่ราบฝั่งตะวันตกของคลองพุมเรียงถัดไปจากถิ่นที่อยู่อาศัยของคนจีนและมุสลิม มีลักษณะเป็นสวนซึ่งคนไทยตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยกระจายตัวอยู่ทั่วไป ตามกลุ่มเครือญาติซึ่งได้รับมรดกที่ดินตกทอดจากรุ่นสูรุ่น บ้านเรือนในอดีตปลูกสร้างด้วยไม้เป็นวัสดุหลัก มีลักษณะเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงหลังคามุงกระเบื้องดินเผาหรือกระเบื้องซีเมนต์ รูปทรงและหน้าที่ใช้สอยของเรือนเหมาะสมกับภูมิประเทศและวัฒนธรรม การปลูกพืชมีทั้งต้นไม้ที่ให้ร่มเงา ไม้ดอก ไม้ผล พืชสวนครัว ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความเชื่อและวิถีชีวิต เช่น มะพร้าว มะม่วง ขนุน ฯลฯ ในปัจจุบันบ้านเรือนเหล่านั้นได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ก็มีบ้านเรือนที่ยังคงรูปลักษณ์ดั้งเดิมแสดงออกถึงจิตวิญญาณของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นให้เห็นอยู่ไม่น้อย พื้นที่บางส่วน ดังเช่น พื้นที่ระหว่างวัดสมุหนิมิตและวัดพุมเรียง พื้นทึ่บริเวณวัดร้างทางตอนเหนือของชุมชนมุสลิม เป็นพื้นที่ป่าชุมชนซึ่งแน่นขนัดไปด้วยต้นยางนาอายุนับร้อยปีและพืชสมุนไพรหลากหลายชนิด ถัดออกไปจากพื้นที่สวนและที่ตั้งบ้านเรือนของคนไทยทั้งทิศตะวันตกและทิศเหนือ คือ ท้องทุ่งนาอันกว้างใหญ่อู่ข้าวอู่น้ำของชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง พื้นที่ทิศตะวันออกของคลองพุมเรียง และบริเวณพื้นที่ที่คลองใหญ่พุมเรียงไหลผ่านต่อเนื่องไปยังชายฝั่งทะเล รวมทั้งพื้นที่ด้านทิศใต้ของชุมชน เป็นพื้นที่ที่มีการตั้งบ้านเรือนบางตา บางส่วนเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ บางส่วนเป็นพื้นที่ดินทรายเหมาะกับการทำสวนมะพร้าว จึงเป็นบริเวณที่มีการทำกิจการบ่อเลี้ยงกุ้ง สวนมะพร้าว และสุสานมุสลิม หมู่บ้านอิสลามหรือหมู่บ้านชาวไทยเชื้อสานฃยมลายูตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของคลองพุมเรียง สมาชิกชุมชนเป็นมุสลิมซึ่งประกอบอาชีพประมงน้ำเค็มเป็นอาชีพหลัก เพื่อความสะดวกแก่วิถีชีวิตที่ต้องอาศัยทะเลเป็นแหล่งทำกิน จึงเลือกตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมในการจอดเรือและเดินทางออกสู่ทะเล ทั้งไม่ไกลจากชุมชนจีนและชุมชนไทยอันเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก การสร้างบ้านเรือนในครั้งอดีตนิยมสร้างบ้านเรือนให้สอดคล้องกับรสนิยมและวิถีชีวิตดั้งเดิม จึงนิยมสร้างบ้านเรือนตามรูปแบบมลายูซึ่งเป็นที่นิยมในปัตตานีและไทรบุรี มีลักษณะกระจายตัวไปตามฝั่งคลองและขึ้นไปรวมตัวเป็นชุมชนใหญ่มีบ้านเรือนหนาแน่นอยู่ทางทิศเหนือชุมชนจีน มีมัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีสุสานเพื่อประกอบพิธีฝังศพตามหลักศาสนาอิสลามอยู่ฟากฝั่งตะวันออกของคลองพุมเรียงตรงข้ามกับบริเวณที่ตั้งชุมชน มุสลิมกลุ่มนี้นอกจากมีความชำนาญในการเดินเรือแล้วยังมีความรู้ด้านการต่อเรือประกอบกับพื้นที่พุมเรียงอยู่ในบริเวณที่หาไม้สำหรับการนี้ได้ไม่ยาก จึงมีผู้เปิดอู่ต่อเรือและซ่อมแซมเรือขึ้นในชุมชน กลุ่มสตรีมุสลิมมีความสามารถโดดเด่นด้านการทอผ้าโดยเฉพาะการทอผ้ายก ที่นี่จึงเป็นแหล่งทอผ้ายกที่สำคัญของพระราชอาณาจักรตั้งแต่เมื่อ ๒๐๐ ปีที่แล้ว สืบเนื่องมาจวบจนสมัยปัจจุบัน
จับต้องได้ : Tangible.
สถาปัตยกรรม : AR : ARchitecture ร้านค้าและเคหสถาน
.
เลขที่ : หมู่ที่ 3 ต. พุมเรียง อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี 84110
นายธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ
โทรศัพท์ 0870394491สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี :