PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : FL-54000-00001 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

ตำนานพระธาตุช่อแฮ
Prathatchohae legend

“ตำนานพระธาตุช่อแฮ” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมในกลุ่มวรรณกรรมและภาษา เป็นเอกสารโบราณที่กล่าวถึงที่มาของพระธาตุช่อแฮ เป็นความเรียงร้อยแก้วสำนวนล้านนาโบราณ ซึ่งพบว่าเขียนเป็นอักษรธรรมว่า "ช่อแฮ"และ "ช่อแร" ซึ่งอ่านว่า "ช่อแฮ" ทั้งสองอย่าง และมีความหมายว่า ธงสามเหลี่ยมทำด้วยแพร เป็นชื่อปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองของชาวแพร่ (เมืองแพร่ มีหลักฐานการเขียนทั้ง "แพล่"และ "แพร่" ซึ่งคำแรกเป็นศัพท์ที่เก่าแก่กว่า ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน คือ "เจริญ งอกงาม" ทั้งคู่) “ตำนานพระธาตุช่อแฮ” เป็นวรรณกรรมและภาษา ประเภทความเรียงร้อยแก้ว ปรากฏในเอกสารโบราณหลายฉบับ ที่สำคัญมี 2 ฉบับ ๑ “ตำนานพระธาตุช่อแฮ” ปรากฏในพุทธตำนาน พระเจ้าเลียบโลก ในกัณฑ์ที่ ๘ กล่าวถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมายังนครแพร่ มีตำนานกล่าวมา ดังนี้ “จากนั้นพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปสู่เมืองแพร่ ประทับสำราญอยู่ที่โคนต้นหมากต้นหนึ่ง สูง ๓ วา ใหญ่ ๘ กำมือ มีลัวะผู้หนึ่งชื่ออ้ายก้อม มันเห็นพระพุทธเจ้าเข้าประทับนั่งอยู่ มันก็เข้าไปอภิวาทกราบไหว้ พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “หมากต้นนี้เป็นอันสูงแท้หนอ” มันก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญหมากต้นนี้คนทั้งหลายเอามากิน ก็เป็นอันเมายันมันมาก ย่อมเป็นบ้าเป็นบอคุ้มคลั่งเมาแผ่ไป” พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “ถ้าเป็นเช่นนั้นจงไปเอามาปลีหนึ่ง(ปลี=ทลาย) กับหาปูนมาเถิด” อ้ายก้อมก็ปฏิบัติตามพุทธประสงค์ แล้วพระพุทธองค์ก็เสวยหมากนั้น ก็เป็นอันมีรสหวานยิ่งนัก จึงตรัสว่า “หมากนี้มีรสหวานยิ่งนักไม่รู้สึกเมายันมันเลย” แล้วอ้ายก้อมก็กินหมากนั้น รู้สึกหวานด้วยพุทธานุภาพ แล้วก็กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ท่านมาจากไหน”พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า “เราจารึกมาเพื่อโปรดเวไนยสัตว์” แล้วทรงกระทำปาฏิหาริย์ให้มันเห็น มันเห็นเป็นอัศจรรย์เช่นนั้น ก็บังเกิดโสมมนัสยินดีในพรพุทธคุณว่าเป็นองค์ประเสริฐยิ่ง แล้วจึงมาบอกแก่เมียมันว่า “จงกลับไปนำเอาข้าวโภชนาหารและอาสนะมาโดยรีบด่วนเถิด” เมียอ้ายก้อมก็รีบวิ่งกลับไปนำเอาอาสนะกับโภชนาหารมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงรับและเสวยแล้วตรัสว่า “สถานที่นี้ คนทั้งหลายกล่าวกันว่า มกาต้นนี้ใครมากินจะเมายันมัน จนเป็นบ้าเป็นบอแพลแผ่ไป ต่อไปภายภาคหน้าจะได้ชื่อว่า เมืองแพร่ สถานที่นี้ควรตั้งพระศาสนาไว้” พระอรหันต์และพระเจ้าอโศกราชก็ทูลขอพระเกศาธาตุ พระพุทธองค์ก็เอาพระหัตถ์ข้างขวาลูบพระเศียร ได้พระเกศาธาตุหนึ่งองค์ ทรงมอบให้แก่พระอรหันต์และพระเจ้าอโศกราช แล้วมอบให้แก่อ้ายก้อม มันจึงบอกเมียมันให้ไปเอาผอบแก้วมาบรรจุพระเกศาธาตุ เมียอ้ายก้อมยังคงตระหนี่ไม่ยอมให้ มันก็โกรธเมียมันกล่าวว่า “ผู้หญิงจะชนะผู้ชายเช่นนั้นหรือ” มันก็รีบวิ่งไปเอาด้วยตัวมันเอง แล้วเอามาบรรจุพระเกศาธาตุ พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “แถวนี้มีถ้ำหรือไม่” อ้ายก้อมกราบทูลว่า “มีอยู่พระเจ้าข้า” “มีอยู่ทางไหน” “ประตูถ้ำมีอยู่ทางทิศตะวันออก” “ถ้ำนี้ลึกมากน้อยเพียงใด”“ลึก ๒๐๐ วา พระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผิว์ว่าเช่นนั้นจริง” ท่านทั้งหลายจงนำเอาเกศาธาตุแห่งตถาคตไปประดิษฐานไว้ที่นั่นเถิด” พระอรหันต์ พระอินทร์ พระเจ้าอโศกราชและอ้ายก้อม ก็อัญเชิญพระเกศาธาตุไปประดิษฐานไว้กลางถ้ำ อ้ายก้อมบรรจุสิ่งของเป็นเครื่องสักการบูชาจำนวนหนึ่งล้านทองคำ พระอินทร์ทรงเนรมิตยนตร์จักรผันป้องกันไว้ แล้วเอาหินมา ๓ ก้อน ปิดประตูถ้ำก้อนหนึ่ง แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งพระอรหันต์และพระเจ้าอโศกราชว่า “ เมื่อตถาคตนิพพานไปแล้ว จงนำเอากระดูกข้อศอกของตถาคตข้างซ้ายมาบรรจุไว้ที่นี่เถิด” (ซึ่งหมายถึง พระธาตุช่อแฮ) ๒ “ตำนานพระธาตุช่อแฮ” ปรากฏในสมุดไทยขาว เขียนหมึกดำตัวอักษรไทยเหนือ สภาพชำรุดเล็กน้อย จากบัญชีของเอกสารหอสมุดแห่งชาติ เขียนปะติดไว้ที่หน้าต้นฉบับ ระบุประวัติว่า “ ตำนานพระธาตุช่อแฮเมืองแพร่ เลขที่ ๓๑/๑ อักษรไทยเหนือ หอสมุดพระวชิรญาณชื้อจากเร ดับบลิว บั๊ก เดว ๗/๙/๖๔” ตรงกับวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๖๔ นับถึงปัจจุบัน ( ๒๕๖๓) มีอายุ ๙๙ ปี ต่อมา นายสุด ศรีสมวงศ์ ได้ถ่ายทอดต้นฉบับจากอักษรธรรมล้านนา เป็น อักษรไทย ด้วยลายมือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ เช่นกัน แต่ระบุชื่อว่า “ตำนาน ธชชช่อแร่ เมืองแพร่”



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

วรรณกรรมพื้นบ้าน : FL : Folk Literature ตำนานพื้นบ้าน
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง หมู่ 11 ต. ช่อแฮ อ. เมืองแพร่ จ. แพร่ 54000

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

พระครูภาวนาเขติยานุกิจ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

065-6251999

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

doungporn.bee : มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ :

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
-

มีผู้เข้าชมจำนวน :452 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 31/01/2023 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 31/01/2023