พิธีลอยเรือชาวเลทำหลายวัน โดยวันแรกจะทำพิธีเซ่นไหว้ศาลเทพเจ้าที่สุสานโต๊ะฆีรี ในวันที่สองของประเพณีลอยเรือเป็นกิจกรรมแห่ไม้เสาเอก (ตีฮักจรานี) คือวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 6 และ เดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ ในตอนเช้ามืดผู้นำทางจิตวิญญาณคือ โต๊ะหมอจะทำพิธีขอตัดไม้เสาเอกในป่าบนเกาะหลีเป๊ะ เพื่อนำไม้มาประกอบพิธีเป็นไม้เสาเอกในงานประเพณีลอยเรือของแต่ละรอบงาน และมีการตัดไม้ตีนเป็ด (ดูนัยห์) สำหรับสร้างฐานเรือไม้ระกำการใช้ไม้ระกำและไม้ตีนเป็ดมีมาตั้งแต่ดั้งเดิม หากใช้ไม้ชนิดอื่นจะถือเป็นเรื่องผิดพิธีกรรม ไม้เสาเอกที่ถูกตัดแล้วจะนำมาไว้ที่ชุมชนบ้านอูเส็น มีการประดับประดาตกแต่งให้สวยงาม ระหว่างรอขบวนแห่ไม้เสาเอก ก็จะมีการร่ายรำร็องแง็ง รำวงพื้นบ้าน รำวงสากล สลับกันไป เมื่อถึงกำหนดฤกษ์งามยามดีก็จะทำพิธีอัญเชิญขบวนแห่ เรียกว่า สลาวั๊ยะ โดยโต๊ะหมอหรือตัวแทนโต๊ะหมอ จากนั้นก็จะแห่ด้วยการละเล่นเพลงร็องเง็งและร่ายรำไปจนถึงสถานประกอบพิธีกรรม คือบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะก่อนขบวนจะเข้าสู่สถานประกอบพิธีกรรม ก็จะมีตัวแทนโต๊ะหมอโปรยข้าวเหลืองเป็นการตอบรับคณะขบวนแห่ไม้เสาเอก เมื่อมาถึงลานหน้าโรงเรียนผู้ชายชาวเลจะช่วยกันพยุงลำต้นไม้เสาเอกปักไว้ที่บริเวณงานเพื่อเปิดพิธีประเพณีลอยเรืออย่างเป็นทางการ ในวันเดียวกันกลุ่มหนึ่งจะไปตัดไม้ระกำ และเป็นกิจกรรมเรือแห่ไม้ระกำ (ปราฮูกู) คือวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 6 และ เดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งจะนั่งเรือหางยาวออกจากเกาะหลีเป๊ะไปเกาะอาดัง เพื่อหาไม้ระกำ การตัดไม้ระกำไม่ต้องขออนุญาตวิญญาณเหมือนการทำเสาเอก หลังจากได้ไม้พอสมควร ชาวบ้านจะปอกเปลือกไม้ออก และมัดชิ้นไม้รวมกันในเรือที่จะแล่นกลับหลีเป๊ะ ชาวบ้านบางคนจะแต่งตัวเหมือนคนป่า บางคนทาสีดำบนหน้า นำใบไม้มาทำเป็นเสื้อหรือกระโปรงแทนเสื้อผ้าปกติ บางคนใช้ดอกไม้ประดับคอ ศีรษะ ข้อเท้า ตอนสายผู้ชายจะขนไม้ระกำไปไว้ที่เรือ ชาวบ้านจะร้องเพลงและเต้นรำในเรือที่จะแล่นกลับหลีเป๊ะ เรียกว่าเรือแห่ไม้ระกำ หรือปราฮูอูเซ เรือไล่บรรทุกผู้ชาย ผู้หญิงแต่งตัวสวยเป็นพิเศษและเต้นอยู่บนเรือเช่นกัน เรือทั้งสองลำจะแล่นไล่ไปมาหน้าเกาะหลีเป๊ะ 3 ครั้ง คนบนเรือจะเต้นรำและร้องเพลง ชาวบ้านจะใช้ถังน้ำบนเรือตีเป็นกลองอย่างง่าย ๆ หลังจากนั้น เรือขนไม้ระกำจะเข้าเทียบฝั่ง ชาวบ้านจะขนไม้และเดินวนรอบเวที 3 รอบ ก่อนที่จะนำวางที่ลานหน้าโรงเรียน เมื่อมีการแห่ไม้ระกำมาวางหน้าโรงเรียน โต๊ะหมอทำพิธีเริ่มสร้างเรือไม้ระกำหรือปราฮูปาจั๊ก ผู้ชายที่มีความชำนาญการทำเรือของหมู่บ้าน จะรวมกลุ่มเล็ก ๆ สร้างเรือกระดูกงูและกงเรือสร้างด้วยไม้ตีนเป็ด ส่วนประกอบอื่น เช่น พื้นเรือ กาบเรือ และลวดลายตกแต่งทำด้วยไม้ระกำทั้งลำ การต่อเรือเป็นลำจะใช้ตะปูตอกแต่การต่อลวดลายจะใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นแท่งเล็ก ๆ เสียบชิ้นประดับกับเรือให้สวยงาม เมื่อโครงเรือเสร็จในช่วงบ่าย ผู้หญิง ผู้ชายจะช่วยกันตกแต่งชิ้นส่วนของเรือ ให้เป็นลายต่าง ๆ คือลายบูงาจาบัก ลายฟันปลา ลายฟันเลื่อย (บูงาฮีริ) และลายงู บนเรือจะมีห้องจำลอง 3 ห้อง ห้องหน้าสุดจะเป็นพื้นที่ให้ลูกเรืออยู่อาศัยห้องกลางเป็นห้องครัวไว้ประกอบอาหาร และเก็บวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ห้องหลังสุดท้ายเรือเป็นห้องกัปตันแกะด้วยไม้ตีนเป็ด เชื่อว่าเรือนี้จะสามารถนำบรรพบุรุษกลับไปสู่บ้านเกิด ที่หัวเรือจะมีรูปแกะสลัก ผู้ชายถือหอกแทงเต่าทะเล เต่าทะเลหรือนกเป็นสัญลักษณ์สำคัญ หรือเป็นรูปปั้นสำคัญของสิ่งเหนือธรรมชาติที่ชาวอูรักลาโว้ยนับถือ เต่าทะเลเป็นตัวแทนสัตว์ที่พวกเขาบริโภค พิธีนี้จะช่วยให้สัตว์กลับไปหาเจ้าของดั้งเดิม และชาวอูรักลาโว้ยจะขอขมาที่ได้บริโภคสัตว์ต่าง ๆ ไปแล้ว ตุ๊กตาแกะสลักรูปคนตัวเล็ก ๆ ถือเป็นตัวแทนจะนำเคราะห์ร้ายออกไปจากชุมชนส่วนตุ๊กตาตัวใหญ่คือกัปตันเรือ เรือที่ต่อขึ้นมามีเสาใบและกางใบอยู่ 2 ใบ ใบเรือทำจากผ้าดิบสีขาว แคมเรือข้างขวามีหอก และข้างซ้ายมีฉมวก ตอนท้ายเรือจะมีหางเสือและไม้พาย ตรงกลางมีตุ๊กตาแกะสลักจากไม้ระกำข้างละ 7 คน ทำท่าพายเรือ แต่ละข้างของเรือมีไม้พาย 7 อัน ตามความคิดว่าควรมีเผื่อไว้ใช้ เมื่อใบเรือเกิดชำรุด ไม่มีลม และเอาไว้พายเรือเข้าสู่ฝั่ง เมื่อถึงจุดหมายปลายทางอีกด้วย บนเรือจะมีอุปกรณ์จำลองทำจากไม้เช่น ฉมวก และธง เรือที่เสร็จแล้วจะมีความยาวประมาณ 2.5 เมตร กว้างราว 1 เมตร พิธีทำเรือจะเสร็จสิ้นในตอนเย็นชาวบ้านจะร่วมแห่ด้วย การละเล่นรำมะนารอบเรือปาจั๊ก นำเรือไปไว้บนชายหาดหันหน้าเข้าทางทะเล ตอนหัวค่ำโต๊ะหมอก็จะเริ่มพิธีเชิญเจ้าเกาะ เพื่อนำสิ่งชั่วร้ายลงเรือ ด้วยการสวดมนต์เป็นภาษาอาหรับและภาษามลายู มีการโรยกำยานเผาเป็นระยะ ในตอนกลางคืนจะมีการแสดงรำมะนา ใกล้ ๆ กับเรือและมีการร้องเพลงไปกระทั่งเช้าของวันใหม่ที่จะลอยเรือ คืนนั้นชาวบ้านจะนำขนม อาหารแห้งและน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นยามเดินทางของบรรพบุรุษและวิญญาณ และมีการนำสิ่งของ เช่น ผม เล็บใส่ในเรือเป็นการนำสิ่งชั่วร้ายออกไป ชาวบ้านจะจุดเทียน แล้วเอาข้าวตอกลูบตามร่างกายและศีรษะก่อนที่จะโยนลงในเรือ เพื่อนำโชคร้ายออกไปจากตัว ในตอนเช้ามืดของวันถัดมา โต๊ะหมอจะทำพิธีลอยเรือและสวดมนต์ให้เรือนำพาเคราะห์ออกไป เมื่อสวดจบ ผู้ชายกลุ่มหนึ่งจะแบกเรือพิธีไปใส่เรือหางยาวและขับออกจากฝั่งไปราว 1 กิโลเมตรเพื่อที่จะนำเรือไปปล่อยในจุดที่จะลอยออกไปให้พ้นเกาะ ชาวบ้านจะมองดูเรือจำลองเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อหันหลังกลับแล้วจะไม่หันไปมองอีก เคราะห์ทั้งปวงจะติดไปกับเรือพิธีดังกล่าว กิจกรรมแห่ไม้กันผี (กายูพาดั๊ก) ในตอนเช้า ตรงกับแรม 1 ค่ำของเดือน 6 และ เดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ ผู้ชายก็จะไปตัดไม้สำหรับทำไม้กันผี ไม้ที่ใช้จะต้องปอกเปลือกออกให้ผิวเรียบและสะอาด นำมาประกอบเป็นไม้ไขว้ ลักษณะเหมือนไม้กางเขนขนาดใหญ่ 7 อัน แทนวันทั้ง 7 วัน ชาวบ้านจะใช้ใบกะพ้อ และดอกไม้ตกแต่ง ปลาย 3 ด้าน บน ใบไม้จะถูกฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตามแนวยาว ไม้ในแนวนอนจะแสดงถึงแขน ขณะที่ใบไม้ที่ฉีกแล้วจะเป็นนิ้วที่โบก ปัดความโชคร้าย โรคภัยไข้เจ็บ และวิญญาณชั่วร้ายให้ออกไปจากชุมชน ไม้กันผีจะเสร็จสมบูรณ์ตอนสาย ผู้หญิงจะมารวมกลุ่ม ชาวบ้านจะตีกลองสีไวโอลิน ร้องเพลง ผู้ชายจะแห่ไม้กันผีไปที่เสาเอก แล้วปักเรียงเป็นแนวต่อกันไปตามพื้นทราย ตอนกลางคืนทั้งคืนก็จะร่ายรำและการละเล่นรำมะนารอบไม้กันผี ตอนเช้ารุ่งขึ้น ตัวแทนจะพาไม้กันผีไปปักหาดรอบๆ บริเวณหมู่บ้าน และหาดต่าง ๆ ของเกาะหลีเปะ เพื่อช่วยป้องกันภูติผีและโชคร้าย ที่ไปกับเรือจำลองไม่ให้กลับมาอีก ในตอนเย็นของวันที่สามที่มีการนำไม้กันผีมาปัก ชาวเลแต่ละหลังคาเรือนจะนำตุ่มบรรจุน้ำมาวางบริเวณไม้กันผี โต๊ะหมอจะจุดเทียนขี้ผึ้งลงไปในถังและทำนายโชคชะตาผ่านรูปทรงของขี้ผึ้งในน้ำ เวลา 19.30-20.30 น. โต๊ะหมอทำพิธีทำน้ำสะเดาะเคราะห์และรำมะนารอบไม้กันผี ใกล้เที่ยงคืนโต๊ะหมอจะสวดมนต์เผากำยานอีกครั้ง เพื่อทำน้ำมนต์ วันสุดท้าย เวลา 05.00-06.00 น. โต๊ะหมอทำพิธีเสี่ยงทายและชาวเลอาบน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์ พอฟ้าสางก็เสร็จพิธี ชาวเลทุกคนก็มาเอาน้ำมนต์ อาบน้ำมนต์ (อาเยอูบั้ย) นี้ไปล้างหน้าอาบให้เด็กหรือปะพรมบริเวณบ้านเพื่อเป็นสิริมงคล ส่วนตุ่มน้ำจะคว่ำไว้ บริเวณเดิม พอสาย ๆ จึงมาเอากลับไป ชาวบ้านจะนำข้าวปนขมิ้นไปให้โต๊ะหมอทำพิธี ข้าวจะถูกนำไปโรยรอบ ๆ บ้านเพื่อป้องกันและนำสิ่งชั่วร้ายออกไป เวลา 07.00 น. ปักไม้กันผีตามชายหาด
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับเทศกาล
.
เลขที่ : ชายหาดหน้าโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ต. เกาะสาหร่าย อ. เมืองสตูล จ. สตูล 91000
ครูแสงโสม หาญทะเล สุเฉ็ม หาญทะเล วีรพล แซ่โก๋ย
0815430835
ดร.เจตน์สฤษฏิ์ สังขพันธ์ : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ :