ศิลปินพื้นบ้านหมอลำที่เป็นที่รู้จักในนาม หมอลำทำเกษตร คือ นางอรุณรัตน์ จำปาเทศ หรือ หมอลำอรุณี พูลสว่าง ศิลปินพื้นบ้านหมอลำผู้สืบทอดการเป็นหมอลำมาจากบิดา คือ หมอลำสวัสดิ์ พูลสว่าง อดีตเจ้าของคณะหมอลำหมู่ ส.รุ่งเรืองศิลป์ แต่ได้เรียนลำกลอนจากหมอลำบุญมาก บ้านฝางคำ จึงได้เป็นศิลปินหมอลำกลอนวาดอุบล ปัจจุบันได้ตั้งศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ณ บ้านนาเจริญ ตำบลคันไร่ อำเภอ สิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรในรูปแบบการแสดงศิลปะพื้นบ้าน หมอลำกลอนอุบล จนมีชื่อเสียง และมีลูกศิษย์เข้ามาเรียนลำด้วยหลายรุ่น นอกจากนี้ ในเขตอำเภอสิรินธร ยังมีกลุ่มศิลปินหมอลำชั้นครูที่อนุรักษ์และสืบสานศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้ ได้แก่ หมอลำสายทอง ไชยโกฏิ หมอลำอัมรา ต้นทอง รวมไปถึงหมอแคน ได้แก่ หมอแคนทองดี ไชยโกฏิ หมอแคนไพศาล แสงทอง เป็นต้น ด้านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ในอำเภอสิรินธรยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางศิลปะการแสดงพื้นบ้านหมอลำไว้อย่างเข้มแข็ง มีศิลปินพื้นบ้านรุ่นครู รุ่นกลาง และลูกศิษย์รุ่นใหม่ที่หมุนเวียนเข้ามาสืบทอดการแสดงหมอลำ ถึงแม้มีจำนวนไม่มากนักแต่ยังคงมีการสอบทอดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลอนลำที่อนุรักษ์สืบทอดมานั้น เป็นหมอลำกลอนวาดอุบล หรือ ทำนองอุบล อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี และถือได้ว่า ลำกลอนวาดอุบล เป็นกระบวนแบบการลำที่ได้รับการยอมรับว่ามีความไพเราะ มีระเบียบแบบแผน เนิบช้า ชัดถ้อยชัดคำ และได้รับความนิยมจากผู้ชมผู้ฟังอย่างกว้างขวาง (พรสวรรค์ พรดอนก่อ และ คณะ, 2560) และเป็นที่สังเกตว่าศิลปินหมอลำที่ได้รับการประกาศให้เป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) ทั้ง 6 ท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นหมอลำวาดอุบลทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันในเขตอำเภอสิรินธรได้มีการอนุรักษ์ และสืบทอดหมอลำกลอนวาดอุบล และมีชื่อเสียงในนาม หมอลำทำเกษตร
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
ศิลปะการแสดง : PA : Performing Arts ดนตรี
นาฏศิลป์และการละคร
.
เลขที่ : ต. คันไร่ อ. สิรินธร จ. อุบลราชธานี 34350
jakawan wongmanee : มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี :