บ้านหนองดุก ต.มิตรภาพ อ.แกดำ ประวัติชุมชน บ้านหนองดุกตั้งอยู่ที่ตำบลมิตรภาพ ห่างจากอำเภอแกดำไปทางทิศเหนือประมาณ 9 กิโลเมตร มีประชากรรวมทั้งหมด 360 คน มีพื้นที่รวมทั้งหมด 1,500 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับชุมชนต่างๆดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับ บ้านนกกระโดก ตำบลมิตรภาพ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ทิศใต้ ติดกับ บ้านโคกน้อย ตำบลมิตรภาพ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านโนนเขวาน้อย อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านหนองหูลิง ตำบลมิตรภาพ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม บ้านหนองดุกตั้งชื่อชุมชนตามหนองน้ำสำคัญในพื้นที่คือ “หนองดุก” มีตำนานหรือเรื่องเล่าของผู้คนเล่าสืบต่อกันมาว่าในหนองน้ำดังกล่าวปรากฏ ปลาดุกด่อน(ปลาดุกเผือก)ขนาดใหญ่อาศัยในหนองน้ำ กลุ่มคนที่มาตั้งชุมชนเริ่มแรกจึงตั้งชื่อว่า “บ้านหนองดุก” ไม่เพียงเท่านั้นปลาดุกเผือกยังเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน “สมัยแต่พ่อแต่แม่เพิ่นเว้าสู่ฟังว่า ในหนองดุกนี่ มีปลาดุกด่อนโตบักใหญ่ บ่แม้นสิ 5-6 กิโลพุ้นติ ปลาดุกโตนี่กะอยู่ในหนองนี้มาโดนแล้ว ชาวบ้านเฮากะบ่กล้าไปจับไปยุ่งกับเพิ่น เพราะว่าเป็นความเชื่อว่าปลาดุกด่อนเป็นสิ่งศักดิ์ประจำชุมชนคอยปกปักษ์รักษาคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข ” แรกเริ่มพื้นที่บริเวณที่ตั้งบ้านหนองดุกเป็นพื้นที่ป่ารกไม่มีผู้คนอาศัยตั้งถิ่นฐาน จนกระทั่งมีกลุ่มคนจากบ้านเหว่อ บ้านหนองไหล บริเวณอำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด อพยพผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานซึ่งไม่ปรากฏปีพ.ศ.ที่ตั้งชุมชน โดยเลือกพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ทั้งแหล่งน้ำ คือ หนองดุกและห้วยตาหลุง มีการตั้งศาลปู่ตาของชุมชนบริเวณใกล้กับหนองดุกรวมทั้งมีการตั้งวัดบริเวณทิศตะวันออกของชุมชนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดเก่าของชุมชนบ้านหนองดุก พ.ศ.2430 มีการย้ายวัดจากวัดเก่ามาตั้งบริเวณกลางหมู่บ้านซึ่งเป็นวัดประจำชุมชนในปัจจุบัน ทำให้พื้นที่วัดเก่าเป็นป่าชุมชนและพื้นที่รกร้าง ผู้คนในชุมชนบ้านหนองดุกส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำนาเป็นหลักและมีการปลูกผักทำไร่ทำสวนเช่นเดียวกับชุมชนอื่นรอบข้าง มีการทำเครื่องมือจักสานต่างๆจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ จนกระทั่งในปีพ.ศ.2504มีนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจเช่น ปอ ข้าว มันสำปะหลัง ส่งผลให้คนในชุมชนมีการปลูกพืชเศรษฐกิจในชุมชนมากขึ้นทำให้มีรายได้จากการขายพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะ ปอ เป็นรายได้สำคัญในช่วงหลังทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา ในปีพ.ศ.2514 คนในชุมชนเริ่มมีการนำผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องมือจักสานมาขาย ผลิตภัณฑ์ที่มีมากในชุมชนคือ “กระด้งม่อน” มีไว้สำหรับเลี้ยงตัวไหม ซึ่งกระด้งม่อนของชุมชนบ้านหนองดุกมีผู้คนในชุมชนอื่นซื้อไปใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะชุมชนบ้านโคกศรีทองหลาง อำเภอวาปีปทุมที่มาซื้อกระด้งม่อนจำนวนมาก “กระด้งม่อนของบ้านหนองดุกเฮานี้กะเฮ็ดกันมาตั้งแต่พ่อแต่แม่พุ้นหละ สมัยก่อนทุกบ้านต้องมีการทอผ้าไว้ใช้เอง กะเลยมีการปลูกม่อนเลี้ยงไหม กระด้งม่อนเลยเป็นสิ่งสำคัญของทุกบ้าน พอประมาณปี2514 เริ่มมีการขายกระด้งม่อนให้กับชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะบ้านโคกศรีทองหลางทางวาปีปทุมพุ้น ” พ.ศ.2519มีการสร้างถนน รพช.ผ่านหมู่บ้านจากถนนแจ้งสนิทเชื่อมไปยังไปยังอำเภอแกดำ ทำให้ให้ผู้คนในชุมชนมีการซื้อขายสินค้าและแลกเปลี่ยนสินค้ากับกับชุมชนภายนอกโดยเฉพาะในตลาดเมืองมหาสารคาม การเดินทางไปติดต่อราชการสะดวกขึ้น ความเจริญเริ่มเข้ามาในชุมชนหลังจากการสร้างถนนสายดังกล่าว ในปี พ.ศ.2525 เกิดการเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชนจากปรากฏการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานของคนในชุมชนเข้าไปในกรุงเทพมหานคร โดยส่วนใหม่เป็นแรงงานในหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น พนักงานทำความสะอาด พนักงานเก็บขยะ พนักงานกวาดถนน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างในสำนักงานเขตต่างๆในกรุงเทพมหานคร เช่น เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว เกิดเป็นเครือข่ายการติดต่อประสานงานของคนในชุมชนบ้านหนองดุกที่ชักชวนกันไปทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งมีคนในชุมชนเข้าไปทำงานราว 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในชุมชนบ้านหนองดุก เมื่อทำงานเก็บเงินได้ก็ส่งมาให้พ่อแม่ที่อยู่บ้าน ทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนาทั้งการอยู่อาศัยและมีทุนในการทำธุรกิจในด้านต่างๆ ทั้งซื้อที่ดิน และพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ “ครอบครัวแม่นี่ไปทำงานกรุงเทพฯเกือบเบิดสุคน ถ้ารวมทั้งลูกทั้งหลานทั้งลูกเขยลูกไภ้กะ 8-9 คน ไปอยู่พุ้นแล้วกะส่งเงินมาโอกาสต่างๆ ซื้อปุ๋ย เกี่ยวข้าว บางเที่ยกะได้ฮอดซื้อที่ซื้อทางพุ้นหละ คนบ้านเฮาวัยรุ่นวัยทำงานส่วนหลายกะไปทำงานกรุงเทพฯเบิ้ด เขากะติดต่อกันถ้ามีหม่องได๋ว่างกะพากันลงไปเฮ็ด ไปหลายจนว่าตั้งผู้ใหญ่บ้านได้พุ้นแหล่ว ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า ” พ.ศ.2536 มีการสร้างฝายบริเวณห้วยตาหลุงทำให้ชุมชนมีน้ำใช้ในยามแล้งและเกิดถนนเชื่อมต่อจากชุมชนไปถึงห้วยตาหลุงทำให้คนในชุมชนบ้านหนองดุกมีการขยายตัวออกมาทางด้านทิศตะวันออกของชุมชนตามแนวถนนเชื่อจากลบ้านหนองดุกไปห้วยตาหลุงเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นเส้นทางไปยังทุ่งนาของคนในชุมชนด้วย และในปี พ.ศ.2544 ชุมชนบ้านหนองดุกมีการตั้งกลุ่มจักสานกระด้งไม้ไผ่ขึ้นโดยการสนับสนุนของภาครัฐที่ส่งเสริมให้มีการตั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนขึ้น เช่นสนับสนุนงบประมาณในการซื้อไม้ไผ่ สนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อให้สมาชิกในกลุ่มนำไปลงทุน ซึ่งในช่วงแรกของการตั้งกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 30 คน สินค้าส่วนใหญ่ที่ผลิตคือกระด้งม่อน ตลาดที่รับซื้อหลักคือ กลุ่ม OTOP บ้านโคกสีทองหลาง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งถือว่ากระด้งม่อนเป็นรายได้หลักอีกอย่างหนึ่งของคนในชุมชนบ้านหนองดุกในปัจจุบันและทำให้ชุมชนมีชื่อเสียงจากผลิตภัณฑ์ของชุมชน
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
วรรณกรรมพื้นบ้าน : FL : Folk Literature .
เลขที่ : บ้านหนองดุก ต. มิตรภาพ อ. แกดำ จ. มหาสารคาม 44190
นายแสง น้อยเสนา อายุ 67 ปี บ้านหนองดุก ต.มิตรภาพ อ.แกดำ จ.มหาสารคาม
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม :