ข้อมูลชุมชน บ้านน้ำเที่ยง ต.หนองกุง อ.แกดำ จ.มหาสารคาม ประวัติชุมชน ชุมชนบ้านน้ำเที่ยงเป็นชุมชนที่มีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ใกล้แหล่งน้ำห้วยแอ่ง และมีหนองน้ำสำคัญในชุมชนคือ หนองจันทาหรืออีกชื่อคือหนองน้ำเที่ยง คนในชุมชนบ้านน้ำเที่ยงเป็นกลุ่มคนที่มาจากบ้านหนองตุ ต.ธัญญา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากในช่วงประมาณปี พ.ศ.2440 เกิดเหตุการณ์โรคระบาดฝีดาษหรือที่ชุมชนท้องถิ่นเรียกกันคือ “โรคบักห่าง” ทำให้มีการย้ายบ้านออกจากชุมชนเดิมที่หนาแน่นเพื่อหนีโรคระบาด และเกิดเป็นหมู่บ้านหรือชุมชนใหม่เกิดขึ้น บ้านน้ำเที่ยงเป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าโคก แหล่งน้ำ ส่งผลให้การเลือกตั้งชุมชนของกลุ่มแรกๆเห็นว่ามีความเหมาะสม “คนที่มาตั้งบ้านน้ำเที่ยงทีแรกเป็นคนมาจากบ้านหนองตุ กมลาไสย ย้อนเพิ้นหนีโรคบักห่างสมัยแต่กี้ เลยมาเห็นหม่องนี้มีหนองน้ำ มีโนน มีป่า อุดมสมบูรณ์ เลยพากันตั้งหลักแหล่งเป็นบ้านเป็นชุมชน”(นางปราณี ทับสมบัติ:สัมภาษณ์) เหตุการณ์ที่ส่งผลต่อชุมชนบ้านน้ำเที่ยงในสมัยต่อมา คือ ในช่วงปีพ.ศ.2505 มีการเข้ามาของพืชเศรษฐกิจในช่วงหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่มีนโยบายให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ปอ ฝ้าย ข้าว แต่พืชเศรษฐกิจที่ทำให้ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ “ปอ” เนื่องจากป่าโคกใกล้ชุมชน 2 แห่ง คือป่าโคกโสกทรายและป่าโคกหลุบบก ถูกถากถางเพื่อปลูกปอ ส่งผลให้สภาพของป่าโคกทั้งสองกลายเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันพื้นที่ป่าโคกทั้ง2ผืนจึงกลายมาเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่และทำนาของคนในชุมชน “ตอนที่บ้านเฮาปลูกปอหลายๆนี่ ป่าโคกโสกทรายกับโคกหลุบบกไทบ้านเฮากะพากันไปถางปลูกปอ ป่ากะเลยแปนเอิดเติดคือจั่งเห็นทุกมื้อนี้หละ พอได้ปอมาเฮากะตัดมาแช่อยู่ในห้วยแอ่ง แช่ปอจนว่าน้ำห้วยแอ่งเหม็นขึ้นมาฮอดในบ้าน”(นางคำพอง จันทร์มนตรี:สัมภาษณ์.) การปลูกปอไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบในทรัพยากรป่าโคกของชุมชนหากแต่ต้องใช้แหล่งน้ำเพื่อแช่และลอกปออีกด้วย การปลูกปอทำให้เศรษฐกิจของครัวเรือนดีขึ้นสามารถเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนเป็นจำนวนมาก ปีพ.ศ.2535 มีการแยกชุมชนออกเป็น 2 หมู่ คือชุมชนบ้านจันทาและบ้านน้ำเที่ยง ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของชุมชนและความหนาแน่นของประชากร ชุมชนขยายตัวไปทางฝั่งทิศเหนือและทิศตะวันตกเพิ่มขึ้น อีกทั้งงบประมาณและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ในปีพ.ศ.2540 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมหาสารคามมีนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และมีการตั้งกลุ่มของชุมชนขึ้น บ้านน้ำเที่ยงมีการตั้งกลุ่มทอผ้าบ้านน้ำเที่ยงขึ้นเพื่อผลิตสินค้า เช่น ผ้าไหม ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง สมาชิกในกลุ่มทอผ้าบ้านน้ำเที่ยงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีรายได้เสริมจากการขายผลิตภัณฑ์ของชุมชน ผ้าทอของกลุ่มทอผ้าบ้านน้ำเที่ยงได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ otop ระดับ 4 ดาว ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าบ้านน้ำเที่ยงไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้คนในชุมชนเท่านั้นยังสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนและทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักมากขึ้น นอกจากการพัฒนากลุ่มอาชีพของชุมชนแล้วด้านสาธารณูปโภคก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในปีพ.ศ.2560 มีการสร้างแก้มลิงขึ้นบริเวณทิศใต้ของชุมชน ส่งผลให้ชุมชนมีน้ำเพียงพอต่อการทำนาปีและนาปรัง คนในชุมชนมีการทำนาปรังเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดรายได้ให้กับคนในชุมชนเพิ่มขึ้นจากการเกษตร ทั้งปลูกผักสวนครัวและข้าวนาปรัง
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
วรรณกรรมพื้นบ้าน : FL : Folk Literature .
เลขที่ : บ้านน้ำเที่ยง ต. หนองกุง อ. แกดำ จ. มหาสารคาม 44190
นางปราณี ทับสมบัติ
-
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม :