PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : AR-13000-00012

วัดภูเขาทอง
Wat PhuKaoThong

วัดภูเขาทอง ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาห่างจากพระราชวังโบราณไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จึงมีชื่อปรากฎอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ทั้งของไทย และต่างประเทศ เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา ฉบับกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ฉบับพระจักพรรดิพงศ์ (จาด) ซึ่งได้กล่าวตรงกันว่า วัดภูเขาทองสถาปนาในรัชสมัยสมเด็จราเมศวร ศักราช 749 ปีเถาะ นพศก หรือ พ.ศ.1930 นอกจากนี้ หนังสือบรรยายภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา ที่เล่าถึงพระอารามอันเป็นหลักของพระนครนอกกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา ก็มีพระเจดีย์ภูเขาทอง วัดภูเขาทอง รวมอยู่ด้วย ในส่วนของเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างประเทศนั้น มีบันทึกเรื่อง The History of Japan Together with Description of Siam เขียนโดย Engelbert Kaempfer นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอแลนด์ (VOC) ที่เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2233 เพื่อถวายสาส์นขอเจริญพระราชไมตรี ต่อสมเด็จพระเพทราชาก่อนที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น ซึ่งในบันทึกได้เล่าเรื่องราว ความเป็นอยู่ของประชากรกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น อีกทั้ง นายแพทย์แกมเฟอร์ ยังได้บรรยายความงดงามทางสถาปัตยกรรมของพระราชวัง พระพุทธรูป และวัดที่เขาพบเห็นด้วยความชื่นชมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะวัดภูเขาทอง ถึงขั้นมีการร่างสำเนาแบบแปลน และรายละเอียดของเจดีย์ภูเขาทองไว้อย่างดี ซึ่งต่อมาบันทึกฉบับนี้ได้กลายเป็นบันทึกจดหมายเหตุที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี โดยกรมศิลปากรได้พิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “ไทยในจดหมายเหตุแกมเฟอร์” จากที่ตั้งของวัดภูเขาทอง จะเห็นได้ว่าอยู่กลางท้องทุ่งกว้างใหญ่ ค่อนไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยก่อนถือเป็นชัยภูมิที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา ในยามสงบจะเป็นที่ชุมนุมเล่นเพลงเรือ เพลงสักวา เพื่อความรื่นเริงของชาวประชาราษฎร แต่ในยามศึกสงคราม จะถูกเปลี่ยนเป็นค่ายวัด เป็นฐานที่ตั้งมั่นรับศึกปกป้องแผ่นดินไทย ในพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ ยกทัพเข้ามาหมายจะตีกรุงศรีอยุธยา “พระมหานาค” ซึ่งบวชอยู่ที่วัดภูเขาทอง ได้สึกออกมารับอาสาตั้งค่ายกันทัพเรือข้าศึก โดยตั้งค่ายตั้งแต่วัดภูเขาทองลงมาจนถึงวัดป่าพลู มหานาคนำพรรคพวกญาติโยมข้าทาสชายหญิง ช่วยกันขุดคูนอกค่ายวัดแยกออกจากคลองวัดภูเขาทอง มาจนออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณหัวแหลม เรียกคูขุดนี้ว่า คลองมหานาค ซึ่งถ้ามองจากภาพถ่ายทางอากาศ จะมองเห็นแนวคลองมหานาค อ้อมวัดภูเขาทองตัดกลางทุ่งนา ไปจนเกือบถึงวัดพนมยงค์ แล้วอ้อมเป็นแนวขนานไปกับแม่น้ำลพบุรี (คลองคูเมือง) ไปจรดกับแนวคลองมหานาคอีกด้านหนึ่ง ที่เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดป่าพลู ซึ่งตรงกับพระราชพงศาวดาร ที่บันทึกไว้ ปัจจุบันยังปรากฏร่องรอยคูน้ำ และคันดินของคลองสำคัญนี้อยู่บ้างในตำบลภูเขาทอง และคลองมหานาคนี้เอง ที่ได้เชื่อมโยงกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ด้วยกัน เพราะหลังจากเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ผู้คนพลเมืองทั้งหลาย ต่างก็ได้หนีหายกระจัดกระจายกันไป ภายหลังต่อมาจึงได้กลับมาลงหลักปักฐานกันอีกครั้งที่กรุงธนบุรี และเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ โปรดฯ ให้มีการขุดคลองใหม่สายหนึ่ง ใกล้กับวัดสะแก หรือ วัดสระเกศ ในปัจจุบัน พระราชทานนามว่า คลองมหานาค ตามชื่อคลองมหานาคที่เคยมีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยมีพระประสงค์จะฟื้นคืนอยุธยากลับมา เป็นขวัญกำลังใจให้กับชาวพระนคร โดยมีศิลปวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมโยง จึงได้จัดให้มีการเล่นเพลงเรือ โต้สักวากันที่คลองมหานาค ดังเช่นคนเมืองกรุงเก่าเมื่อครั้งในอดีต


เส้นเวลา (Timeline)
พ.ศ. 2112 - 2566 ....

           เหตุการณ์ :   2112 พระเจ้าบุเรงนองแห่งเมืองหงสาวดีได้ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ จึงได้สร้างพระเจดีย์ใหญ่แบบมอญขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดนี้ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ได้ทำการปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ใหม่ เปลี่ยนรูปจากเจดีย์มอญเป็นรูปเจดีย์ย่อไม้สิบสองที่กำลังนิยมอยู่ในขณะนั้น ส่วนฐานนั้นเป็นคงศิลปะมอญ
           ผลกระทบ :  

     

 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องได้ : Tangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

สถาปัตยกรรม : AR : ARchitecture .

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : ชุมชนภูเขาทอง ต. ภูเขาทอง อ. พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา 13000

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

รุจิเรช ศรีโสภณ

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

0806231189

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

ญาณิศา เผื่อนเพาะ : มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา : 2566 Festival

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
Link ที่เกี่ยวข้อง vdo

มีผู้เข้าชมจำนวน :303 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 25/06/2023 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 08/12/2023