PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : SP-50160-00019 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ
Traditional of Bathing Phra That

วัดหลวงจอมทองปัจจุบันเป็นที่เคารพจากศรัทธาหลายแห่ง เมื่อถึงงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุในเดือน 9 เป็ง (เดือน 7 เพ็ญ) เป็นวันที่พระบรมธาตุเข้าพรรษา กับเดือน 5 เป็ง (เดือน 3 เพ็ญ) เป็นวันที่พระบรมธาตุออกพรรษา รวมเวลาที่พระธาตุเข้าพรรษา 9 เดือน ซึ่งระหว่างที่พระบรมธาตุเข้าพรรษาตามปกติจะไม่มีการอัญเชิญพระธาตุไปที่ใด ๆ ทั้งสิ้น ในงานพิธีประเพณีสรงน้ำพระธาตุช่วงออกพรรษานั้นงานจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 10 ค่ำไป ถึง 15 ค่ำเดือน 7(เดือน 9 เหนือ) พิธีกรรมจะแห่พระบรมธาตุไปบูชาข้าวที่อุโบสถ ประชาชนจะนำเครื่องไทยทานไปถวายบูชาพระธาตุ ซึ่งเป็นการรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้นที่เสด็จมาที่เมืองอังครัฏฐะ และพระองค์ก็เสด็จมาบิณฑบาตที่เมืองแห่งนี้ หลังจากนั้นก็จะมีการแห่พระธาตุมาสรงน้ำ ซึ่งน้ำที่จะใช้สรงพระธาตุต้องเป็นน้ำจากน้ำแม่กลาง มีดอกคำฝอยแช่ ส่วนน้ำจากที่แห่งอื่นนำมาสรงน้ำพระธาตุไม่ได้ หรือจะเป็นน้ำที่แช่จากขมิ้นส้มป่อย ก็ไม่ได้ เพราะชาวจอมทองมีความเชื่อว่าถ้าเป็นน้ำจากที่อื่น พระธาตุจะร้อนและพระธาตุจะไม่เล่นน้ำ สาเหตุที่ต้องใช้น้ำแม่กลางมาสรงพระธาตุนั้น เพราะครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ที่เมืองอังครัฏฐะ พระองค์ได้เสด็จไปประทับบนดอยอังกาหรือดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสักการะนทีหรือน้ำแม่กลางและพระองค์ทรงได้เสด็จลงเล่นน้ำแห่งนี้ เมื่อชาวบ้านมาสรงน้ำพระธาตุ มักจะได้ยินชาวบ้านกล่าวว่าพระธาตุเล่นน้ำ โดยจะเห็นองค์พระธาตุเป็นสีเขียว สีเหลือง สีฟ้า ซึ่งคนที่ไปสรงน้ำพระธาตุ หากว่าคนไหนมีเคราะห์กรรมมาสรงน้ำพระธาตุ น้ำที่คน ๆ นั้นสรงจะมีสีหม่น-สีหมอง แต่ถ้าหากเป็นคนที่มีบุญวาสนามาสรงน้ำ ก็จะเห็นน้ำที่สรงพระธาตุจะเป็นสีฟ้า- สีคราม ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ จะมีผู้เลื่อมใสศรัทธาเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงต้องจัดเตรียมสถานที่ ให้ทุกคนได้สรงน้ำพระธาตุ อย่างทั่วถึงและสะดวกไม่เบียดเสียดกัน โดยได้สร้างเป็นอาคารไม้สองหลังแฝดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2409 โดยสร้างเป็นรูปมณฑปรองด้วยรูปกรงไม้กลึง(หอล้อม) มุงหลังคาด้วยแผ่นทองเหลือง ภายในมีมณฑปรูปประสาทเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุที่อยู่ในโกศแก้ว ลักษณะเช่นนี้เท่ากับตัวประสาทองค์เล็ก ทำหน้าที่เป็นตัวถ่ายขนาดพระธาตุในโกศแก้วขึ้นไปสู่หอล้อม ที่ตั้งอยู่บนลานกว้างอีกทอดหนึ่ง ด้านตะวันออกบริเวณสุดมุมของลานพระวิหาร สร้างเป็นศาลาโถงลักษณะสัมพันธ์ในแกนทะแยงกับพระวิหาร ประชิดกับหอล้อมมีหลังคาจั่ว ประดับช่อฟ้าและหางวรรณ ชายคารอบ ขนาดกว้าง กว่าหอล้อมประมาณเท่าตัว ถึงแม้ผู้คนจะขึ้นไปเต็มศาลาก็จะต้องทยอยสรงน้ำได้ครั้งละ 4 คนเท่านั้น (ศาลาโถงนี้ได้ออกแบบยกระดับเป็นขั้นบันไดยืนได้ครั้งละ 4 คน) บนแนวยกพื้นรูปบันไดนี้จะมีรางน้ำรูปคล้ายสำเภาแกะสลักเป็นตัวรับน้ำ โดยเจาะรูให้น้ำไหลจากรางน้ำไปสรงพระธาตุในหอล้อมอีกต่อหนึ่ง นับว่าเป็นงานออกแบบที่บรรลุจุดประสงค์ ที่ไม่ให้ผู้คนที่มาสรงน้ำพระธาตุเข้าไปใกล้พระธาตุในหอล้อม ในสมัยก่อนจะปรากฏเรื่องเล่าว่าพบเห็น พระธาตุออกแอ่ว หมายถึงพระธาตุเสด็จออกจากที่ประทับไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ โดยพระธาตุที่เสด็จออกจะปรากฏให้เห็นเป็นกลุ่ม-เป็นสี ซึ่งพระธาตุจะเสด็จไปที่วัดพระเกิ๊ด วัดพระบาท วัดดอยน้อย วัดศรีแดนเมือง (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ต.ยางคราม กิ่ง อ.ดอยหล่อ ) ซึ่งชาวบ้านกล่าวว่าเป็น “วัดเก๊าวัดเดิม” (คือวัดที่เกิดมายุคสมัยเดียวพร้อมกับพระธาตุ) ในช่วงวันพระ 8-15 ค่ำ แต่ไม่ได้ออกแอ่วทุกวันพระเสมอ ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่เห็นพระธาตุออกแอ่วอีก เพราะแสงจากพระธาตุสู้แสงไฟฟ้าจากบ้านเรือนไม่ได้ ซึ่งในสมัยก่อนนั้นตอนกลางคืนจะไม่มีแสงไฟฟ้าจากบ้านเรือนทำให้ท้องฟ้ามืด จึงเห็นแสงไฟจากพระธาตุชัดเจน เรื่องเล่าเกี่ยวกับพระธาตุออกแอ่ว เป็นเรื่องเล่าของชุมชนที่ปรากฏพบเห็นอยู่ทั่วไปถึงการที่ธาตุของพระพุทธเจ้าเสด็จออกไปหาธาตุด้วยกัน และสถานที่ที่พระธาตุเสด็จไปนั้น เป็นพื้นที่อยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน จึงทำให้เห็นความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ของคนภายในบริเวณนั้น ในปัจจุบัน ในงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุในเดือน 9 นั้นได้มีการจัดให้มีกิจกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการใส่บาตรสตางค์ การขายของ และ การละเล่นต่างๆ ซึ่งถือเป็นงานประเพณีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ ของคนจอมทอง



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับศาสนา
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : 157 หมู่ 2 ต. บ้านหลวง อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่ 50160

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

นางจันทร์ดี สังขรักษ์

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

089-2624818

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

สุพัฒนวรี ทิพย์เจริญ : มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น : 2566 Open Call

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
Link ที่เกี่ยวข้อง

มีผู้เข้าชมจำนวน :265 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 28/09/2023 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 13/03/2024