PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : SP-50160-00024 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์
Bodhi Tree crutches Tradition

ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของอำเภอจอมทองเป็นประเพณี วัฒนธรรมที่ได้กระทำสืบต่อกันมานานกว่า 100 ปี นับว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นหนึ่ง ที่ได้รับการถ่ายทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยมีประวัติความเป็นมาคือ ประชาชนชาวเหนือโดยทั่วไปเฉพาะที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีความเชื่อว่าเทศกาลปีใหม่ (สงกรานต์) ทุกคนควรจะทำพิธีทำบุญสืบชะตาราศีของตน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่ตนเองได้มีชีวิตอย่างมีความสุขอีกในหนึ่งปีต่ออีกด้วย อุปกรณ์ส่วนหนึ่งในพิธีสืบชะตาราศีดังกล่าว คือ ไม้ที่มีง่ามขนาดต่าง ๆ สุดแล้วแต่ความพอใจแต่ขอให้เป็นไม้ที่ตัดมาใหม่ ๆ แล้วนำมาเข้าพิธีสืบชะตาราศี เสร็จแล้วจึงนำไปตั้งค้ำต้นโพธิ์ที่อยู่ใกล้บ้าน ส่วนมากจะนำไปค้ำต้นโพธิ์ต้นใหญ่ตามวัดต่างๆ จึงได้ชื่อว่า “ไม้ค้ำโพธิ์” ที่อำเภอจอมทองนิยมนำไปค้ำต้นโพธิ์ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร และวัดต่าง ๆ ที่ตนทำบุญเป็นประจำ การนำเอาไม้ง่ามไปค้ำต้นโพธิ์ดังกล่าวเป็นความเชื่อทางบุคลาธิฐานว่า 1. เป็นการค้ำชีวิตตนเองให้ยืนนาน มีความร่มเย็นเป็นสุขเหมือนกับต้นโพธิ์ที่แผ่กิ่งก้านสาขามีใบเขียวปกคลุมไปทั่ว ทำให้เกิดความร่มเย็นแก่ผู้เข้าไปพักพิงภายใต้ต้นโพธิ์นั้น 2. เป็นการช่วยค้ำจุนพระบวรศาสนาให้เจริญก้าวหน้าอยู่บนโลกต่อไป ให้นานแสนนานเพราะต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ ที่พระพุทธองค์อาศัยร่มเงาในการตรัสรู้ธรรม ในตอนเริ่มแรกก่อนที่วิธีการดังกล่าวจะถูกยึดถือปฏิบัติจนกลายมาเป็นประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์อย่างทุกวันนี้ ประชาชนยังไม่มีความคิดที่จะรวมกันทำ ต่างคนต่างไปจัดหาและทำพิธีสืบชะตาราศีแล้ว นำไปค้ำต้นโพธิ์เอง ต่อมาเมื่อได้ทำเป็นประจำทุกปี นาน ๆ เข้าพอถึงวันที่ 1 – 14 เมษายนของทุกปีประชาชนก็ได้รวมตัวกันเป็นหมวด ๆ หรือเป็นคณะหาไม้ที่มีลักษณะดังกล่าวมาเลื่อยแกะสลักเป็นลวดลาย ขนาดใหญ่ (ขนาดใหญ่พอทำเสาบ้านเสาเรือนได้) และในวันที่ 15 เมษายนของทุกปีก็จะตกแต่งให้สวยงามแล้วนำไม้ค้ำขึ้นสู่ล้อ ตามประเพณีพื้นเมืองฟ้อนเจิง (ฟ้อนรำ) ขับเพลงซอ เล่นดนตรีพื้นเมืองแห่เป็นรูปขบวนและเนื่องจากเป็นเทศกาลสงกรานต์ ตลาดสองข้างทางที่ขบวนผ่านไปจะมีการรดน้ำดำหัวอวยชัยให้พรกันอย่างสนุกสนาน ต่อมาเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมานี้ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ก็ได้รับการปรับปรุงพัฒนาขึ้นตามยุคสมัย โดยเฉพาะในด้านการตกแต่งประดับประดา นอกจากตกแต่งไม้ค้ำโพธิ์แล้วพาหนะที่ใช้บรรทุกไม้ค้ำโพธิ์ก็เปลี่ยนจากล้อเกวียนมาเป็นรถยนต์กะบะ รถพ่วงแล้วประดับตกแต่งเป็นรูปภาพรูปวิว มีทั้งความสวยงาม ความคิดริเริ่มสร่างสรรค์ ในขบวนแห่จะมีคนถือป้ายชื่อกลุ่ม หรือคณะที่แห่ไม้ค้ำโพธิ์ขบวนกลุ่มแม่บ้าน ขบวนฟ้อนเจิง ขบวนดนตรีพื้นเมือง และขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ ไปค้ำต้นโพธิ์ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร แทนที่ต่างคนต่างแห่ไปคนละเวลา ก็ได้พัฒนาเป็นการแห่ไหนเวลาเดียวกันโดยมรีการนัดหมายให้ไปพร้อมพัน ณ จุดใดจุดหนึ่งแล้วเคลื่อนขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ของแต่ละกลุ่มแห่ไปยังวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นรูปขบวนยาวเหยียดมองดูสวยงาม นับว่าเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะให้มั่นคงยิ่งขึ้นดนตรีที่นำมาเล่นประกอบแห่ นอกจากจะมีดนตรีพื้นเมืองแล้วกยังมีดนตรีสากลเข้ามาร่วมประยุกต์ด้วยตามกาลสมัย ต่อมาทางราชการ โดยเฉพาะสำนักงานศึกษาธิการอำเภอจอมทอง ได้มองเห็นความสำคัญของประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นและเรื่องการส่งเสริมการ่องเที่ยวจึงได้เชิญหน่วยงานองค์กรรัฐวิสาหกิจทั้งภาครัฐบาลเอกชนภายในอำเภอจอมทอง ให้การสนับสนุนโดยมอบทุนค่าใช้จ่ายให้แต่ละกลุ่มไปประดับประดาขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ให้สวยงามและมอบรางวัลเพื่อเป็นการให้กำลังใจของประชาชนที่ยึดถือประเพณีนี้ด้วย ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์นับว่าเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอจอมทองเพราะจำมีอำเภอจอมทองเพียงอำเภอเดียวและเป็นประเพณีที่จัดขึ้นในเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น ดังนั้นประเพณีนี้จึงจัดได้ปีละ 1 ครั้ง เช่นเดียวกันก่อนถึงเทศกาลประชาชนชาวจอมทองที่ไปทำงานที่อื่นก็จะทยอยกันกลับถิ่นบ้านเกิดของตนเพื่อร่วมประเพณีดังกล่าวทุกปี ทุกวันนี้กลุ่มหนุ่มสาว และกลุ่มแม่บ้านจะเป็นแกนนำในการจัดประเพณี และร่วมฉลองสมโภชในคืนวันที่ 13 – 14 เมษายน ปัจจุบันนี้ไม้หายาก ทางวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ได้อนุญาตให้เอาไม้ค้ำโพธิ์ที่เคยถวายเมื่อปีก่อน ๆ มาปรับปรุงทาสีใหม่ใช้ทดแทนได้ นับว่าเป็นการแก้ปัญหาเรื่องไม้ได้อีกวิธีหนึ่ง หลังจากการแห่ไม้ค้ำโพธิ์ถวายที่วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารเสร็จแล้ว วันต่อไปก็จะเป็นการแห่ไม้ค้ำโพธิ์ของหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น ดอยแก้ว สบเตี๊ยะ และหมู่บ้านอื่น ๆ โดยกำหนดวันไม่ตรงกัน ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายนจะแล้วเสร็จประมาณวันที่ 21 เมษายน ของทุกปี



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับเทศกาล
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : 157 หมู่ 2 ต. บ้านหลวง อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่ 50160

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

นายอุดม คำวัน

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

081-8843668

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

สุพัฒนวรี ทิพย์เจริญ : มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น : 2566 Open Call

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
Link ที่เกี่ยวข้อง

มีผู้เข้าชมจำนวน :207 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 28/09/2023 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 15/03/2024