เสาหลักเมืองจอมทองไม่ปรากฏปีที่สร้างอย่างแน่นอน เพราะการตั้งเป็นเมืองจอมทองนั้น ถ้านับเวลาที่มีการสร้างพระธาตุก็ยังไม่มีการระบุถึงการสร้างหลักเมือง แต่การเข้ามาอยู่อาศัยของชุมชนแห่งนี้ อาจทำให้มีการตั้งชุมชนจนกลายเป็นเมืองจอมทองในปัจจุบัน จึงคาดว่าเสาหลักเมือง หรือเมืองจอมทองน่าจะเกิดในยุคเดียวกับการสร้างพระธาตุจอมทองหรือร่วมสมัยกับยุคปู่สร้อยนางเม็ง ปัจจุบันหลักเมืองจอมทองตั้งอยู่ที่บ้านหลวงจอมทอง สถานที่ตั้งมีลักษณะเป็นเนินดิน ใต้ต้นมะขามใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเรียกหมู่บ้านละแวกนี้ว่า บ้านหลักเมือง และบริเวณโดยรอบเสาหลักเมืองจะเป็นแหล่งชุมชนที่มีการอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ปัจจุบันทางเทศบาลจอมทองได้มาสร้างศาลหลักเมือง และเสาหลักเมืองใหม่ แต่ตำแหน่งที่ตั้งก็คงวางอยู่ ณ ตำแหน่งเดิม ซึ่งความสำคัญของการวางตำแหน่งเสาหลักเมืองคือตรงกลางเมืองจอมทอง จนนำมาสู่ความเป็นจุดศูนย์กลางของ ชุมชนและจิตใจของชาวเมือง การเลี้ยงเสาหลักเมืองจะมีการเลี้ยงเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนเมษายน ที่บริเวณข่วง(ลาน)หลักเมือง แต่การเลี้ยงเสาหลักเมืองจอมทองจะไม่มีการเลี้ยงสังเวยด้วยชีวิตสัตว์ ซึ่งไม่เหมือนการเลี้ยงเสาหลักเมืองบางพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสังเวยด้วยพวกสัตว์ หมู วัว หรือ ควาย การเลี้ยงเสาหลักเมืองจอมทองจะมีชาวบ้านในพื้นที่ และหมู่บ้านข้างเคียงมาร่วมพิธีกรรมในการเลี้ยงเสาหลักเมือง ชาวบ้านจะนำเอาดอกไม้ ข้าวต้มของหวานมาเลี้ยงหลักเมือง มีการนิมนต์พระสงฆ์มาร่วมในพิธี ซึ่งในอดีตงานการเลี้ยงเสาหลักเมืองคงจะมีชาวบ้านจากบ้านหลวง และลูกหลานจากหมู่บ้านพื้นที่อื่นมาร่วมพิธีกรรม ภายหลังเมื่อมีการแยกหมู่บ้านออกจากบ้านหลวง จึงทำให้หมู่บ้านเหล่านี้ไม่เข้าร่วมพิธีกรรมการเลี้ยงเสาหลักเมืองเหมือนในอดีต แต่การเลี้ยงเสาหลักเมืองยังมีความสำคัญต่อชุมชนจนถึงปัจจุบัน เมื่อเกิดเหตุร้ายหรือเกิดเคราะห์ร้ายในบ้านในเมือง เช่น เมื่อมีคนล้มตายในบ้านในเมืองมีจำนวนมาก และความถี่เพิ่มขึ้น หรือมีสัตว์ตายล้มป่วยในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น เกิดโรคระบาดหรือศึกสงครามขึ้นในบ้านในเมือง ชาวบ้านชาวเมืองก็จะมีการสืบชาตาบ้านชาตาเมือง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายต่าง ๆ ที่เข้ามาสู่บ้านสู่เมืองซึ่งจะส่งผลทำให้สภาพบ้านเมืองรอดพ้นจากภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น การกระทำดังกล่าวนอกจากนี้ยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ เพื่อให้มีกำลังที่เข้มแข็งในการต่อสู้กับปัญหาที่จะเกิดขึ้น และเป็นการระดมจิตใจของผู้คนชาวเมืองให้ต่อสู้กับสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ พิธีกรรมการสืบชาตาเมืองนั้นไม่ได้มีการกระทำเป็นประจำทุกปี แต่จะกระทำเมื่อเกิดเหตุร้าย หรือ มีเคราะห์ร้ายที่จะเกิดขึ้น หรือจัดเมื่องานพิธีกรรมดังกล่าวเว้นช่วงไปนาน พิธีกรรมจะทำในเดือน 6 เหนือ ณ บริเวณหลักเมือง โดยจะมีการโยงสายสิญจน์จากเสาหลักเมือง ไปยังหลังคาเรือนบ้านทุกหลังคาที่เป็นหมู่บ้านที่อยู่รอบ ๆ หลักเมือง ได้แก่ บ้านฮ่อม บ้านสันไฟฟ้า บ้านป่ากล้วย บ้านสันไม้ลุง บ้านสันป่าซาง บ้านน้ำโจ้ บ้านท่าอ๊อป บ้านน้ำบ่อหลวง บ้านเด่น เป็นต้น ซึ่งหมู่บ้านเหล่านี้เมื่อก่อนเรียกรวมกันว่าบ้านหลวงจอมทอง แล้วเรียกบ้านเหล่านี้ว่าเป็น ป๊อก(หมู่)บ้านต่าง ๆ ในบ้านหลวง ความสำคัญของเสาหลักเมือง ได้ส่งผลต่อความเป็นเมืองจอมทอง ของคนจอมทอง สืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะเสาหลักเมืองในปัจจุบัน ได้แสดงนัยของความเป็นเมืองผ่านพื้นที่ เขตแดนของเมือง การให้ความสำคัญต่อพิธีการเลี้ยงหลักเมืองในปัจจุบัน ได้มีการสานต่อความเชื่อความศรัทธานี้ต่อไป ดังจะเห็นความเชื่อความศรัทธาในพื้นที่ โดยมีการสานต่อแนวคิดการสืบชะตาเมือง ในยามที่บ้านเมืองเกิดทุกข์ร้าย ถึงแม้กระแสสังคมของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป และมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ แต่ความเชื่อของชาวบ้านนั้นยังมีความผูกพันกับความเชื่อเดิมสูง อย่างจริงใจ
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับวงจรชีวิต
.
เลขที่ : ศาลหลักเมืองอำเภอจอมทอง ต. บ้านหลวง อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่ 50160
นางสาวเพ็ญจันทร์ แสนสามก๋อง
081-8815463
สุพัฒนวรี ทิพย์เจริญ : มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น : 2566 Open Call