PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : SP-57240-00012 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

พิธีอายก
Ar-yok

หมู่บ้านห้วยน้ำขุ่น ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นหมู่บ้านที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประกอบด้วย ไทยใหญ่ ไทลื้อ ไทเขิน ลัวะ (ไตดอย, ไตลอย) มูเซอ (ลาหู่) อาข่า และคนเมือง (หมายถึงคนพื้นราบจังหวัดเชียงราย, ไตยวน) เดิมหมู่บ้านนี้เป็นที่ตั้งของกองกำลังกู้ชาติรัฐฉาน(ไทยใหญ่) ที่มีชื่อว่า กลุ่มหนุ่มศึกหาญ ซึ่งเป็นกองกำลังที่กระจายอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทยและพม่าในราวปีพ.ศ. ๒๕๐๖ (ต่อมากลุ่มนี้ได้สลายตัวลงไปเนื่องจากผู้นำเสียชีวิต) ต่อมาในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ชาวลัวะที่อพยพมาจากเมืองแจ้ (แช่) สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้อพยพเข้ามาประเทศไทยเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง ได้เข้ามาทางอำเภอแม่สายและช่องทางหัวแม่คำ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จากนั้นชาวลัวะได้ทราบว่า มีชุมชนชาวลัวะอาศัยอยู่บริเวณบ้านห้วยน้ำขุ่นแห่งนี้ จำนวน ๓ หลังคาเรือนและชาวไทใหญ่อีก ๑ หลังคาเรือน จึงได้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือน จากนั้นกลุ่มไทใหญ่ ไทลื้อ ไทเขินได้เข้ามาสมทบจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นในปัจจุบัน (ข้อมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗) ทั้งนี้ ในความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ระหว่างลัวะกับปลังนั้นแตกต่างกัน พบว่าไม่มีความสัมพันธ์เชิงชาติพันธุ์ ถึงแม้ว่าในทางภาษาศาสตร์จะจัดให้อยู่ในกลุ่มภาษาที่มีรากฐานเดียวกันก็ตาม โดยกลุ่มลัวะในพื้นที่ประเทศไทยนั้นจะนับถือขุนหลวงวิรังคะเป็นวีรบุรุษในตำนานร่วมกัน ซึ่งกลุ่มปลังนี้จะไม่มีความสัมพันธ์กับตำนานเหล่านี้ และการเรียกตนเองว่าปลังนั้น ได้เรียกตัวเองมาตั้งแต่อาศัยอยู่ในพื้นที่สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และกระจายตัวตามเส้นทางการค้าโบราณจากคุนหมิงในมณฑลยูนนานสิบสองปันนา สามเต้า เมืองลา เมืองม้า เชียงตุง เชียงราย เชียงใหม่ ตาก และออกทะเลที่เมาะตะมะ โดยกลุ่มไทใหญ่เรียกคนปลังว่า ไตหลอย หรือไตดอย เหตุที่กลุ่มปลังไม่มีความสัมพันธ์ในเชิงชาติพันธุ์กับลัวะในภาคเหนือของไทย สามารถมองได้จากสองมิติด้วยกัน คือ มิติแรก องค์ประกอบทางภูมิศาสตร์ที่กลุ่มชาติพันธุ์ปลังอาศัยอยู่ในสิบสองปันนาเป็นหลัก ซึ่งห่างไกลจากระบบความสัมพันธ์ในเชิงตำนานและนิทานปรัมปรากับกลุ่มลัวะในภาคเหนือ ส่วนมิติที่สอง คือ การที่ปลังเป็นกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาใหม่หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งอพยพมาจากเมืองชื่อ “ปู้หลัง” ในสิบสองปันนา ดังที่พบว่า ชาวปลังในพื้นที่บ้านห้วยน้ำขุ่น ตำบลแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อพยพมาจากหลายหมู่บ้านในสิบสองปันนา ซึ่งการอพยพดังกล่าวเป็นผลมาจากภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร ทรัพยากร และผลจากการเก็บภาษีหรือส่วยที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลท้องถิ่นในจีน และเหตุผลจากแรงจูงใจจากคำร่ำลือในความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนล้านนา ประเพณีอายก เป็นประเพณีที่มีลักษณะเฉพาะตัวของกลุ่มคนปลัง (ไตดอย-ล้วะ) มีความหมายว่า “ความน่ากลัว” โดยเชื่อว่าใช้ความน่ากลัวเป็นเครื่องมือขจัดสิ่งชั่วร้าย และแสดงให้เห็นถึงความเชื่อ ความศรัทธาทางพระพุทธศาสนา เช่น การตั้งปะรำพิธี เป็นจักรวาล การเต้นผี (อายก) จะจัดเป็นประจำทุกปี ช่วงขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่(ลื้อ)เดือน 3(ยวน) จะอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน และ ธันวาคม ในทุกๆปี



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับศาสนา
ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับเทศกาล
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : บ้านห้วยน้ำขุ่น ต. แม่ฟ้าหลวง อ. แม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย 57240

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

นายประพันธ์ เดชกว้างไกล

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

47 ม.18 ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง : 2566 Open Call

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
vdo

มีผู้เข้าชมจำนวน :176 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 02/10/2023 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 02/10/2023