บั๊นซ้อล หรือ กีฬาสะบ้าศอก เป็นกีฬาอีกชนิดหนึ่งของชุมชนตำบลจันทนิมิต โดยเฉพาะในหมู่ที่ 2-5 กีฬาชนิดนี้คล้ายกับกีฬาสะบ้าล้อที่นิยมเล่นกันในหลายพื้นที่ของประเทศไทย แต่แตกต่างกันที่บั๊นซ้อลจะมีขนาดเล็กกว่ามาก รวมถึงใช้กติกาและวิธีการเล่นก็แตกต่างกันกับสะบ้าล้อโดยทั่วไป กำเนิดของกีฬาชนิดนี้ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้นำเข้ามาเล่นเป็นคนแรกหรือกลุ่มแรก โดยในปัจจุบันกีฬาชนิดนี้กำลังจะสูญไปตามกาลเวลา คนรุ่นใหม่ในชุมชนหลายคนไม่เคยเห็นและเล่นกีฬาชนิดนี้สาเหตุหนึ่งก็คือ กีฬาสะบ้าศอกนิยมเล่นกันในหมู่สตรีเท่านั้น ต่างจากสะบ้าล้อตามปกติที่เล่นกันได้ทุกเพศ วัตถุที่ใช้ประกอบการเล่นบั๊นซ้อล ได้แก่ 1. ลูกสะบ้ากลึง ทำด้วยไม้แก่นส่วนมากจะเป็นไม้ประดู่ ไม้เต็งไม้แดง ไม้สักไม้ตะเคียนหรือไม้เนื้อแข็งต่าง ๆ นำมาแกะสลักด้วยมือ ด้านหน้ามีลวดลายต่าง ๆ ผู้ที่เป็นบิดาหรือมารดาจะทำเอาไว้ให้บุตรสาวเอาไปเล่นกับเพื่อน ด้านหลังขัดเรียบการเรียกก็คล้ายกับสะบ้าล้อ ด้านที่มีลวดลายสวยงามจึงถูกเรียกว่าด้านกลึง ส่วนด้านที่เรียบเรียกว่าด้านเกลียว ชนิดที่นิยมใช้เล่นกันก็คือขนาดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร หนา 0.8 เซนติเมตร 2. อิฐแดง ขนาดกว้างประมาณ 6 เซนติเมตร ยาว 13 เซนติเมตร และหนา 3 เซนติเมตร หรืออาจจะใช้ไม้หรือวัสดุอย่างอื่นแทนก็ได้ แต่ต้องมีขนาดใกล้เคียงกัน 3. สนามควรเป็นพื้นดินแข็ง เรียบ ไม่มีหญ้าหรือมีหลุมมีบ่อ ขนาดสนามประมาณ 7-10 เมตร ทั้งด้านกว้างและด้านยาว การตั้งแก่นสะบ้า(อิฐแดง)ก้อนแรกไว้ตรงกลางจากจุดนี้ไปถึงเส้นเริ่มประมาณ 5 เมตร ตั้งอิฐก้อนที่ 2 และ 3 อยู่ห่างจากก้อนที่ 1 ทั้งด้านกว้างและยาว 1 ศอก ส่วนก้อนที่ 4 หรือ 5 ก็ตั้งเช่นเดียวกันกับก้อนที่ 2 และ 3 จำนวนผู้เล่น ตั้งแต่ 6 คนขึ้นไป ส่วนมากนิยมเล่น 6-14 คน แบ่งออกเป็น 2 ทีมเท่า ๆ กัน กติกาการเล่น ประกอบด้วย 1. แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ทีมเท่า ๆ กัน และเสี่ยงทาย เพื่อเริ่มเล่นก่อน 2. ฝ่ายที่ชนะในการเสี่ยงจะเป็นฝ่ายเริ่มเล่นก่อน โดยการวางสะบ้าบนเส้นเริ่ม แล้วเริ่มยิง คือการดีดด้วยนิ้วที่ถนัดให้ถูกแก่น (อิฐแดง) ของตัวเอง ถ้ายิงไปถูกแก่นของคนอื่นถือว่าผิดกติกา (ภาษาเล่นใช้กันว่า " เน่า " ทั้งทีม) คือต้องเปลี่ยนสิทธิ์ให้ฝ่ายตรงข้ามได้เล่น 3. ทีมใดยิงแก่นถูกทั้งหมด ทีมนั้นนับเป็นฝ่ายชนะ 4. กรณียิงไม่ถูกทุกแก่น คนที่ยิงถูกสามารถมายิงแทนคนที่ยิงไม่ถูกได้ 5. การเล่นกีฬาประเภทนี้มักไม่กำหนดเวลา แต่อาจจะมีการกำหนดเวลาเพื่อประหยัดเวลาในการแข่งขัน
จับต้องได้ : Tangible.
กีฬาภูมิปัญญาไทย : SM : Folk Sport game and Martial arts กีฬาพื้นบ้าน
.
เลขที่ : โรงเรียนลาซาลจันทบุรี(มารดาพิทักษ์) 58 หมู่ 1 ต. จันทนิมิต อ. เมืองจันทบุรี จ. จันทบุรี 22000
นายณฐพงศ์ พ่วงภิญโญ : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก : 2566 Open Call