เป็นกีฬาพื้นบ้านประเภทหนึ่งที่ชุมชนตำบลจันทนิมิตนิยมเล่นกันในสมัยก่อน โดยกีฬาชนิดนี้มีการถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังสืบต่อมา แต่ปัจจุบันเกือบจะสูญหายไปจากสังคมตำบลจันทนิมิต กีฬาขนิดนี้เป็นกีฬาที่เล่นกันอย่างสนุกสนานในชุมชนและก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น จุดกำเนิดกีฬาลูกลันจากการสัมภาษณ์และสอบถามจากผู้อาวุโสและผู้รู้ในชุมชนคาดว่าเป็นชาวญวนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากที่ชุมชนแห่งนี้ในอดีตเป็นผู้นำเข้ามาเล่น ในช่วงแรกใช้ลูกปืนใหญ่ที่เสียแล้ว (ลูกปืนใหญ่ได้มาจากค่ายเนินวงษ์) นำมากลิ้งแข่งกันโดยมีหลุมเล็ก ๆ เป็นเป้าหมาย ผู้เล่นที่สามารถกลิ้งไปใกล้หลุมมากที่สุดจะได้คะแนนหรือชนะไป อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นลูกลันในสมัยแรกเริ่มจะใช้ลูกเหล็กกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 - 10 นิ้วขึ้นอยู่กับรูปร่างของแต่ละคนถ้าร่างใหญ่จะใช้ลูกใหญ่ ในเวลาต่อมาลูกเหล็กหายากและไม่สามารถไปเอามาจากค่ายเนินวงษ์ได้ จึงมีการเปลี่ยนมาเป็นลูกหินนำมาขัดให้กลม ลูกหินแต่ละลูกจะมีการตั้งชื่อเพื่อใช้ในการเล่น เช่น ทองแดง อ้ายโขน เป็นต้น ใช้จำนวนผู้เล่น 4 คนขึ้นไป จนถึงมากที่สุด 10 คน แยกเป็นประเภทเดี่ยวและประเภททีม 3 คน หรือทีม 5 คน กติกาที่ใช้เล่นลูกลัน มีดังต่อไปนี้ 1. ทั้งประเภทเดี่ยวและประเภททีมจะมีการเล่นก่อนเพื่อจัดอันดับในการแข่งขัน โดยคนที่อยู่ใกล้หลุมมากที่สุดจะได้เล่นเป็นคนสุดท้าย คนที่อยู่ไกลที่สุดก็จะเริ่มเป็นคนแรก 2. เมื่อได้อันดับในการเริ่มเล่นแล้ว คนแรกก็เริ่มกลิ้งลูกลันของตนไปยังหลุมเป้าหมาย โดยพยายามให้ใกล้หลุมมากที่สุด ถ้าลงหลุมก็จะได้ 5 คะแนน 3. ในขณะเล่นถ้าลูกลันไปชนลูกของคนอื่น (ภาษาที่ใช้ในการเล่นคือ จ่อย) หมายถึงการชนหรือกระทบคนที่กลิ้งหรือล้อลูกลันหรือ เจ้าของลูกจะได้ 2 คะแนน เมื่อเล่นครบทุกคนแล้วก็จะมีการวัด โดยขึงเชือกวัดจากกลางหลุม ใครอยู่ใกล้สุดก็จะได้ 3 คะแนน 4. เมื่อครบกำหนดตามเวลาที่ตกลงกัน ทีมไหนหรือนักกีฬาที่มีคะแนนมากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะ พื้นที่ที่ในการแข่งขันเป็นสนามดินแข็ง กว้างประมาณ 8-10 เมตร ยาว 12-16 เมตร แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัยของผู้เล่น อาจมีการสร้างเนินเล็ก ๆ หรือทำเป็นร่องบ้างเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน มีการทำหลุมตื้น ๆ 2 หลุม ขนาดของหลุมประมาณเส้นผ่านศูนย์กลางของลูกลันที่ใช้ในการเล่น
จับต้องได้ : Tangible.
กีฬาภูมิปัญญาไทย : SM : Folk Sport game and Martial arts กีฬาพื้นบ้าน
.
เลขที่ : โรงเรียนลาซาลจันทบุรี(มารดาพิทักษ์) 58 หมู่ 1 ต. จันทนิมิต อ. เมืองจันทบุรี จ. จันทบุรี 22000
นายณฐพงศ์ พ่วงภิญโญ : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก : 2566 Open Call