ในอดีตชาวกรุงศรีอยุธยามีความเชื่อ และความศรัทธาต่อพระมหาเจดีย์ที่มีการบรรจุพระบรมธาตุไว้ในพระมหาเจดีย์ภูเขาทองซึ่งสอดคล้องกับการบูชา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากรูปแบบการทำสักการบูชาในพุทธศาสนา ได้แก่ (1) การบูชาด้วยข้าวสัตถุผงสัตถุก้อน คือ ขนมหวานที่ผสมด้วยน้ำผึ้ง และน้ำอ้อย (2) การบูชาด้วยการถวายที่ดิน หรือสร้างอารามเป็นพุทธบูชา (3) การบูชาด้วยการร่ายรำ ขับร้อง ถวายพวงมาลัย และถวายของหอม (4) การบูชาด้วยการสร้างสถูปเจดีย์ หลังจากมีการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ของพระบรมศาสดาแล้ว เพื่อใช้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้สำหรับการบูชา (5) การบูชาด้วยการทำสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในยุคต้นเพื่อสักการะเป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้า จะไม่ทำเป็นรูปมนุษย์ ดังเช่น การทำรอยพระพุทธบาท หรือ ธรรมจักร (6) การสักการะบูชาด้วยการกระทำประทักษิณ หรือ การเดินเวียนขวาซึ่งเรียกว่า ทักษิณาวรรต (7) การสักการะบูชาด้วยการพนมมือไหว้หมอบกราบ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อสิ่งนั้น ๆ อย่างสูง และ (8) การสักการะบูชาด้วยการทำนุบำรุงด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น บริจาคทรัพย์สร้างวัด หรือ การช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ของทางวัดถือเป็นการสักการบูชาด้วยการปฏิบัติ การสักการะบูชาพระมหาเจดีย์ ซึ่งถือเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญ และมีความศักดิ์สิทธิ์ พระมหาเจดีย์ภูเขาทองเป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชน และเชื่อว่าพระมหาเจดีย์ มีความศักดิ์สิทธิ์สามารถดลบัลดาลผู้ที่กราบไหว้ ให้ประสบกับสิ่งที่ตนปรารถนาได้ทุกอย่าง การนำสิ่งของไปบูชาพระมหาเจดีย์ จะเกิดสิริมงคล แก่ตนเอง และครอบครัว และยังเชื่อว่าผลบุญอันนี้ จะเป็นปัจจัยดลบันดาลให้ได้เกิดในยุคพระศรีอริยเมตไตร หรือ นำไปสู่นิพพานด้วยเหตุนี้ ชาวพระนครศรีอยุธยาในอดีต หรือแม้แต่ชาวบ้านใกล้เคียง จะเดินทางมาเพื่อสักการะบูชาพระมหาเจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งแต่เดิมการเดินทางมาเพื่อสักการะบูชาพระมหาเจดีย์ภูเขาทอง นิยมเดินทางมาเพื่อสักการะบูชาในช่วงออกพรรษา ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางมาสักการะบูชาพระมหาเจดีย์ภูเขาทองของสุนทรภู่ เมื่อ พ.ศ. 2371ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่าน “นิราศภูเขาทอง” ครั้งนั้นสุนทรภู่ได้เดินทางเพื่อไปนมัสการพระมหาเจดีย์ภูเขาทองกรุงเก่า โดยเดินทางทางเรือ ในเดือน 11 ช่วงออกพรรษา และรับกฐินแล้ว ดังความว่า “ครั้นรุ่งเช้าเป็นวันอุโบสถ เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย ... ขอเดชะพระเจดีย์คิรีมาส บรรจุธาตุที่ตั้งนรังสรรค์ ข้าอุตส่าห์มาเคารพอภิวันท์ เป็นอนันต์อานิสงส์ดำรงกาย จะเกิดชาติใดใดในมนุษย์ ให้บริสุทธิ์สมจิตที่คิดหมาย ทั้งทุกข์โศกโรคภัยอย่าใกล้กราย แสนสบายบริบูรณ์ประยูรวงศ์ ...” ความดังกล่าวทำให้ทราบว่า สุนทรภู่ได้กราบนมัสการพระบรมธาตุ ที่บรรจุในพระมหาเจดีย์ภูเขาทอง ณ ที่นี้สุนทรภู่พบพระธาตุ ในเกสรดอกบัว จึงอัญเชิญใส่ขวดแก้วไว้ นำมาวางไว้ที่หัวนอนเพื่อบูชา แต่เมื่อถึงรุ่งเช้าพระธาตุกลับหายไป ทำให้สุนทรภู่เสียใจมาก หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับพระนคร ในพระราชพิธี 12 เดือน ซึ่งมีสำหรับพระนครมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึง พระราชพิธีเดือน 11 ในกฎมณเทียรบาลว่ามีการแข่งเรือ “เดือน 11 การอาษยุธพิธี” สืบเนื่องประเพณีนี้ตามแบบแผนกรุงเก่า มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในวันขึ้น 14 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ แรม 1 ค่ำ พิธีออกพรรษา และลอยพระประทีป ตั้งแต่แรม 5 ค่ำ จนถึงสิ้นเดือน พระกฐิน ด้วยเหตุนี้ ในเดือน 11 นอกจากจะมีการสักการะบูชา พระมหาเจดีย์แล้ว ประเพณีที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “วันไหว้พระมหาเจดีย์ภูเขาทอง วัดภูเขาทอง” คือ การแข่งเรือ และงานรื่นเริงอื่น ๆ ที่ชาวตำบลภูเขาทองจะร่วมกัน จัดงานเพื่อสร้างความรื่นเริง แก่ผู้ที่เดินทางมาสักการะบูชาพระมหาเจดีย์ภูเขาทองด้วย ไม่เพียงแต่ชาวพระนครศรีอยุธยา ที่เดินทางมาเพื่อสักการะบูชาพระมหาเจดีย์ภูเขาทองแล้ว ชาวบ้านละแวกใกล้เคียง ต่างเดินทางมา เพื่อสักการะบูชาด้วย จากคำบอกเล่าของ พีระ ซื่อสัตย์ ชาวตำบลภูเขาทอง ได้กล่าวถึงความทรงจำ แต่ครั้งยังเยาว์วัยไว้ว่า “เดิมการจัดงานวันไหว้จัดขึ้นที่วัดพระงาม เมื่อทางการได้เริ่มเข้ามาบูรณะวัดภูเขาทอง ใน พ.ศ. 2500 แล้ว ได้ย้ายการจัดงานวันไหว้ มาที่วัดภูเขาทอง งานวันไหว้เริ่มจัดงานตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เรื่อยไปจนถึงกลางเดือน 12 งานวันไหว้ที่วัดภูเขาทองจะจัดลิเก ละคร มีการแข่งเรือยาว งานไหว้วัดจะจัดขึ้นหลายวัด เช่น วัดเกษ วัดม่วง วัดกษัตรา เป็นต้น ส่วนพิธีกรรมทางศาสนาจะมีการบวงสรวง ในงานชาวบ้าน จะมีการขายข้าวโพด กล้วยทอด ข้าวเม่า ไก่กระทะ อีกด้วย” ในปัจจุบัน งานไหว้วัดภูเขาทอง ได้แสดงให้เห็นถึงเสน่ห์ของพหุวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้ ผ่านวิถีชีวิตของทั้งชาวไทยพุทธ และไทยมุสลิม ที่ได้จัดแสดงภายในงานนี้ผ่านกิจกกรรมการบวงสรวงพระเจดีย์ภูเขาทอง เทวตาพลีประจำวัดภูเขาทองบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและบรรพชนทุ่งภูเขาทอง การแสดงอุเละห์นบี เพลงกล่อมเด็ก วัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาของชาวมุสลิมอยุธยา การสาธิตเพลงเรือ ฟังพ่อเพลง แม่เพลง ร้องเพลงแห่งท้องน้ำความผูกพันในวิถีชีวิตชาวบ้านแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี การแสดงกระบี่กระบอง โดยคณะพยัคฆ์ธรณี ลูกหลานชาวไทยมุสลิม ตำบลภูเขาทอง การแสดงอาวุธไทยสมัยโบราณ โดยสำนักดาบพุทไธศวรรย์ บ้านภูเขาทองดาบหนึ่งในแผ่นดิน กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี
จับต้องได้ : Tangible.
แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับศาสนา
ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับเทศกาล
.
เลขที่ : ตำบลภูเขาทอง ต. ภูเขาทอง อ. พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา 13000
คุณรุจิเรช ศรีโสภณ
080-6291189
ญาณิศา เผื่อนเพาะ : มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา : 2566 Festival