PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : CS-50000-00003

ท่าเรือวัดเกตการาม
Wat Ket Karam Port

มีหลักฐานว่าชุมชนวัดเกตตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ที่นี่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายสมัยการปกครองของพม่า (หรืออาจจะก่อนหน้านั้น) เนื่องจากมีการกล่าวถึงการใช้ท่าเรือวัดเกตมาตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น เมื่อพระเจ้ากาวิละ (พ.ศ. 2317-2325) เสด็จกลับจากการเดินทางไปเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 1 ที่กรุงเทพฯ พระองค์เสด็จมาขึ้นที่ท่าวัดเกต ย่านนี้เริ่มมีความคึกคักมากมาตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 3- ต้นรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เมื่อการค้าทางเรือระหว่างเชียงใหม่และกรุงเทพฯ เติบโตมากขึ้น ท่าวัดเกตกลายเป็นท่าเทียบเรือสำคัญของเรือสินค้าจากที่ต่างๆ จนส่งผลให้ย่านวัดเกตกลายเป็นแหล่งพำนักของพ่อค้าหลากหลายเชื้อชาติ เช่นชาวอังกฤษเข้ามาตั้งบริษัทบอร์เนียวค้าไม้สัก กลุ่มหมอสอนศาสนาเข้ามาตั้งโรงพยาบาลแมคคอมิค โรงเรียนปริ้นส์รอแยลวิทยาลัย และโรงเรียนดาราวิทยาลัย ชาวจีนเปิดร้านค้าขาย เช่น ร้านกวงเอี้ย ของนายเซ่งโอก แซ่นิ้ม ขายผ้าฝ้าย ร้านค้าส่งของแปะอุย และร้านของจีนอุ๊ที่ขายสินค้าจากกรุงเทพฯ เช่น ผ้า ปลาทูเค็ม และน้ำมันปี๊บเป็นต้น ในขณะที่คนเมืองส่วนหนึ่งยังทำไร่ทำนาอยู่ ศรัทธาย่านวัดเกตเล่าให้ฟังว่า ด้านหลังวัดเกตเคยเป็นที่นา เพิ่งจะมาเลิกทำในปี พ.ศ.2504 ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของลุงแจ็ค (จรินทร์ เบน) ซึ่งในขณะนี้มีอายุ 80 ปีแล้ว เล่าว่าเขามีที่ดินอยู่หลังวัดเกตให้ชาวบ้านเช่าทำนา แบ่งข้าวคนละครึ่ง (ทำนาแบบผ่ากึ่ง) ในสมัยก่อน วัดเกตเป็นย่านการค้าที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นชุมชนใหญ่ เนื่องจากย่านนี้ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิงที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่มาหล่อเลี้ยงประชากรที่อาศัยอยู่ทั้งสองฟากฝั่ง ทุกบ้านที่ทำการค้าจะมีท่าเรือเป็นของตนเอง ใช้เรือหางแมงป่อง (หรือเรือสะดอ เรือสีดอ เรือแม่ปะ) เป็นพาหนะขึ้นล่องตามลำน้ำปิง ความเจริญรุ่งเรืองของย่านวัดเกตเริ่มซบเซาลง นับตั้งแต่กบฏพระยาปราบสงคราม (พญาผาบ) พ.ศ. 2432 เนื่องจากคนไทยภาคกลางขึ้นมาข่มเหง และถูกคนจีนที่เป็นนายอากรเก็บภาษีต้นหมากต้นพลู ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว พญาผาบจึงได้รวบรวมผู้คนก่อการกบฏขึ้นและคิดฆ่าคนจีนที่วัดเกตให้หมด คนจีนและลูกหลานคนจีนเกิดความเกรงกลัว พากันลี้ภัยข้ามไปอยู่ฝั่งตะวันตก คงเหลือแต่เพียงครอบครัวนายหน้อย แซ่แต่เท่านั้นที่ยังอยู่ เพราะเคยช่วยเหลือรับซื้อครั่งจากพญาผาบและชาวบ้านอำเภอสันทราย จึงมีความรักใคร่ชอบพอกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2464 มีการสร้างทางรถไฟมาถึงเชียงใหม่ และเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2477 มีอากาศยานมาลงที่สนามบินเชียงใหม่เป็นครั้งแรก การคมนาคมทางน้ำถูกลดบทบาทเนื่องจากมีความยากลำบากกว่า ทั้งยังกินเวลาและเสียค่าใช้จ่ายสูง ย่านวัดเกตจึงลดบทบาททางการค้ากลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว คนที่อยู่ในย่านนี้ส่วนใหญ่ก็คือลูกหลานของคนที่มาตั้งถิ่นฐานดั้งเดิม และแม้จะมีบางคนย้ายออกไปอยู่ที่อื่นแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีสายใยผูกพันกับย่านนี้อยู่



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องได้ : Tangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

พื้นที่วัฒนธรรม : CS : Cultural Space .

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : ต. วัดเกต อ. เมืองเชียงใหม่ จ. เชียงใหม่ 50000

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

chiranthanin : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : 2566 Open Call

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
Link ที่เกี่ยวข้อง

มีผู้เข้าชมจำนวน :146 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 13/12/2023 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 13/12/2023