เครื่องแต่งกายนับเป็นสัญลักษณ์ที่เห็นและเด่นชัดในการจำแนกแยกแยะและแสดงถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ชัดเจน กลายเป็นสิ่งที่ระบุเรื่องราวการเดินทางอพยพและวัฒนธรรมร่วมสมัย เพราะเครื่องแต่งกายแบบไทใหญ่ดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ อาศัยการหยิบยืมรูปแบบเครื่องแต่งกายกลุ่มไทต่าง ๆ การสร้างอัตลักษณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์สำคัญ ๆ 2-3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ข้อตกลงปางโหลง ค.ศ.1947 จนถึงการสถาปนาสหภาพพม่า ค.ศ. 1948 การสังหารเจ้าฟ้าของฉานเป็นจำนวนมาก เมื่อนายพลเนวินครองอำนาจตั้งแต่ ค.ศ.1962 จุดแตกหักที่สำคัญนั่นคือ นโยบายการสร้างพม่าที่บังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่พม่าละทิ้งภาษาและวัฒนธรรมของตน นับแต่ทศวรรษ 1960 กับ 1970 เกิดการปะทุกของกลุ่มต่อต้านตามตะเข็บชายแดน เกิดการลักลอบค้าฝิ่น เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า กลุ่มคนจำนวนหนึ่งเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อตั้งถิ่นฐานในเชียงใหม่และเชียงราย หลายคนเคยเป็นสมาชิกของกลุ่มกองทัพกู้ชาติต่าง ๆ ช่วงเวลานั้น ภาพลักษณ์ของคนอพยพไม่สู้ดีนัก จากอิทธิพลของพ่อค้ายา “ขุนส่า” แต่ในเหตุการณ์กลับเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดกระบวนการปราบปรามยาเสพติดที่รัฐบาลไทยร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ จนทำให้ราชายาเสพติดต้องออกจากไทย แรงปะทะสำคัญที่ผสมโรงเข้ากับกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ไทใหญ่ มาจาก 2 ส่วน หนึ่ง กระบวนการกลายเป็นไทย (Thai-ization) ที่สังคมใหญ่พยายามกลืนกลายคนต่างชาติพันธุ์ให้อยู่ในระบบวัฒนธรรมไทย (ชาติ ศาสน์ กษัตริย์) นับแต่ทศวรรษ 1980 ที่มีกระบวนการอย่างชัดเจนในระบบการศึกษาและศาสนา รวมทั้งโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่เข้ามาในรูปแบบของการส่งเสริมอาชีพ สอง ตั้งแต่ ค.ศ. 2002เริ่มการรื้อฟื้นวัฒนธรรมความเป็นฉาน (Shan-ization) กองกำลังฉานสามารถพิชิตชัยชนะในหลายสมรภูมิ จากความช่วยเหลือของชาวบ้านเทิดไทย นับเป็นเงื่อนไขที่สร้างความผูกพันของคนไทใหญ่ในบ้านเทอดไทยและในรัฐฉาน ดังที่กล่าวไว้แล้ว ปัจจุบันสิ่งที่เรียกว่าเป็นเครื่องแต่งกายไทใหญ่มาจากการผสมผสานของกลุ่มคนต่าง ๆ ที่อพยพมาจากรัฐฉาน ไม่มีลักษณะของเสื้อ ผ้านุ่ง หรือกางเกงที่เฉพาะ หากแต่เมื่อนำมาเป็นเครื่องแต่งกายในงานสำคัญระดับหมู่บ้านและชุมชนแล้ว จะกลายเป็นเครื่องแต่งกายของคนไทใหญ่ในประเทศไทย ในที่นี้ McLean ศึกษาเปรียบเทียบการแต่งกายของคนไทหลง ไทเหมา ไทงาน ไทเขินในรัฐฉาน เพื่อนำมาอธิบายถึงการคงอยู่และการเปลี่ยนแปลงลักษณะการแต่งกายที่เรียกว่า “ไทใหญ่” นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มคนในแต่ละช่วงวัย เพราะคนอพยพและลูกหลานนั้นเติบโตมาในสังคมด้วยบริบททางประวัติศาสตร์แตกต่างกัน กลุ่มคนสูงวัยที่เน้นการสืบสานประเพณี ระบุตัวตนกับกลุ่มไทย่อยต่าง ๆ ที่อพยพมาจากรัฐฉาน กลุ่มคนอาวุโสจึงนุ่งซิ่นขาวและเสื้อขาวแบบไทใหญ่ในโอกาสที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ส่วนชายสูงวัยนุ่งกางเกงสีขาวและเสื้อเชิ้ตขาว และสวมเครื่องศีรษะในโอกาสพิเศษทางวัฒนธรรม คนในวัยนี้ยังใส่เสื้อผ่าหน้า แขนยาวทรกระบอก เรียกว่า เสื้อ ต้องแตก (ท้องแตก) ติดกระดุมจียนเรียงตามแนวสาบเสื้อ ในชีวิตประจำวันนุ่งซิ่นทอมือที่เรียบง่ายสีดำล้วนไม่มีลวดลาย ผู้ใหญ่ช่วงวัย 30-50 ปี แม้กลุ่มเหล่านี้เกิดและเติบโตในฉาน แต่ต้องหนีออกจากพื้นที่ มาตั้งรกรากและมีครอบครัวในบ้านเทอดไทย พวกเขาเติบโตในยุคกระบวนการกลายเป็นไทย จึงไม่เน้นการแสดงลักษณะเฉพาะของกลุ่ม หญิงนุ่งเสื้อยืดและโสร่งที่หาซื้อได้จากตลาด ส่วนชายนุ่งเสื้อยืดกับกางเกงที่หาได้จากตลาดเช่นกัน พวกเขาสวมเครื่องแต่งกายไทใหญ่ในโอกาสพิเศษเท่านั้น โดยหาซื้อเครื่องแต่งกายแบบไทเหมาจากกลุ่มแม่บ้าน ผู้ใหญ่ช่วงอายุ 18 – 30 ปีเป็นกลุ่มที่เกิดและเติบโตในบ้านเทอดไทย แต่มีจำนวนไม่มากนักในหมู่บ้านเพราะเดินทางออกไปทำงานนอกพื้นที่ บางส่วนได้แต่งงานกับคนไทยและตั้งรกรากในเมืองใหญ่ กลุ่มดังกล่าวกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์เพื่อเยี่ยมเยือนครอบครัว และไม่สวมเครื่องแต่งกายตามประเพณี เมื่ออยู่ในหมู่บ้าน หญิงจะใส่เสื้อแขนสั้นตามแบบที่นิยมทั่วไป นุ่งซิ่นสำเร็จหรือผ้าถุงที่หาซื้อได้ในตลาด ส่วนกลุ่มที่มีอายุน้อยที่สุด หรือต่ำกว่า 18-20ปี กลับเป็นกลุ่มที่สร้างอัตลักษณ์ไทใหญ่ พวกเขาเกิดความผูกพันกับคนรุ่นปู่ย่าตายาย มักระบุว่าตนเองมีสัญชาติไทย เชื้อชาติไทใหญ่ ทั้งเด็กหนุ่มและเด็กสาวสวมเสื้อผ้าไทใหญ่ในโอกาสสำคัญและเข้าใจถึงความหลากหลายของกลุ่มไทที่สูญหายไป บางส่วนยังสังกัดกลุ่มฟื้นฟูวัฒนธรรมที่มีกิจกรรมในการเรียนรู้วัฒนธรรมของบรรพชนอย่างชัดเจน McLean บันทึกภาพของเครื่องแต่งกายในวาระต่าง ๆ ตามเทศกาลของไทใหญ่ตามปฏิทินจันทรคติ ประกอบด้วยวันเลินสาม (Wan Lern Saam) ในเดือนกุมภาพันธ์ เชื่อกันว่าเป็นการเริ่มต้นฤดูร้อน ปอยสอนน้ำ (Poy son Nam) หรือ สงกรานต์ และปอยโมกไฟ (Poy Moak Fai) หรือบุญบั้งไฟ) ในเดือนเมษายน เข้าวา (Kao Waa) หรือเข้าพรรรษา, ออกวา (Oak Waa) หรือออกพรรษา ยี่เป็งหรือลอยกระทง และยังมีงานที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการในวาระอื่น ๆ เช่น การประดิษฐานพระพุทธรูป การต้อนรับครูบาบุญชุ่มที่ผู้คนให้ความนับถือศรัทธา
จับต้องได้ : Tangible.
งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า
.
เลขที่ : หมู่บ้านป่าเป้า ถนนมณีนพรัตน์ ต. ศรีภูมิ อ. เมืองเชียงใหม่ จ. เชียงใหม่ 50200
chiranthanin : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : 2566 Open Call