คลองสทิงหม้อ ซึ่งเป็นลำน้ำที่ผ่ากลางตามแนวยาวของคาบสมุทรสทิงพระ ปลายคลองเริ่มจากบ้านป่าขวาง ตำบลรำแดง ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาที่ปากคลองบ้านสทิงหม้อ ความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร ผ่าน 5 ตำบล คือ ตำบลสทิงหม้อ ทำนบ รำแดง ม่วงงาม และวัดขนุน แม้ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าบรรพบุรุษได้ขุดขึ้นหรือเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่คลองสทิงหม้อก็เป็นเส้นทางคมนาคม ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักของพื้นที่สิงหนครมาแล้วไม่น้อยกว่า 100 ปี คลองสทิงหม้อมีลักษณะเป็นคลองธรรมชาติ มีพรรณไม้สองฝั่งคลอง พืชพรรณเหล่านี้หลายชนิดสามารถปรุงเป็นอาหารและใช้สอยได้นานาประการ น้ำในคลองสทิงหม้อเป็นน้ำที่ไหลเข้ามาจากทะเลสาบสงขลาจึงเป็นน้ำเค็มประมาณ 10 เดือน ส่วนในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนเป็นระยะฝนชุกจะเป็นน้ำจืด การผสมผสานของน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ทำให้ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ชุกชุม ริมฝั่งคลองจึงมีซุ้มยกยอตั้งเป็นระยะ ๆ นอกเหนือไปจากการจมไซ ลงเบ็ดราว ทอดแห และการจับด้วยมือเปล่า คลองสทิงหม้อเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของพื้นที่สิงหนคร ในอดีตประชาชนสัญจรโดยการเดินไปตามคันนาหรือไปทางเรือโดยเรือพาย กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.2488) เริ่มมีเรือใช้เครื่องยนต์เข้ามาวิ่งในคลองสทิงหม้อ ทำให้ผู้คนในพื้นที่อำเภอสิงหนคร ตั้งแต่เขตตำบลวัดจันทร์ ม่วงงาม บางเขียด ชะแล้ ปากรอ วัดขนุน ชิงโค ต่างหลั่งไหลมาใช้คลองสทิงหม้อเป็นเส้นทางไปยังเมืองสงขลา ต่อมาภายหลัง พ.ศ.2504 ทางราชการเริ่มถมเส้นทางสายโบราณจากหัวเขาแดงไปยังอำเภอระโนด การคมนาคมทางน้ำของคลองสทิงหม้อเริ่มลดลงตามลำดับ และเมื่อมีแพขนานยนต์ให้รถข้ามฟากไปยังเมืองสงขลาได้ ทำให้รถยนต์โดยสารเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ในทางกลับกันเรือยนต์ในคลองสทิงหม้อค่อย ๆ หายไป คลองสทิงหม้อจึงถูกทิ้งให้รกร้างอยู่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ทางราชการจึงเริ่มโครงการแปรประโยชน์จากคลองที่ใช้คมนาคมมาเป็นคลองเพื่อการเกษตรกรรม โดยผันให้เป็นคลองน้ำจืด เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำนาและอุปโภค ในช่วงฤดูแล้ง
จับต้องได้ : Tangible.
พื้นที่วัฒนธรรม : CS : Cultural Space พื้นที่วัฒนธรรมที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติ
.
เลขที่ : สะทิ้งหม้อ ต. สทิงหม้อ อ. สิงหนคร จ. สงขลา 90280
นายสมจิตร ยิ้มสุด
093-626-2881
พัตรธีรา สุวรรณวงศ์ : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ : 2566 Open Call