PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : TC-90280-00003 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

ช่างแทงหยวก (ช่างวินิจ จันทร์เจริญ)
-

ช่างแทงหยวก จากการศึกษาลายแทงหยวกของช่างในรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา (ดำรงค์ ชีวะสาโร, 2559) พบว่า ช่างแทงหยวกสกุลช่างจังหวัดสงขลา นิยมให้ลายแทงหยวกเป็นพระเอก โดยการนําลายแทงหยวก ของช่างไปใช้ประดับตกแต่งกับโครงสร้างสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ทั้งในงานพิธีมงคลและงานพิธีอวมงคล ช่างจะให้ความสำคัญกับความงามและความโดดเด่นของลายแทงหยวก และแสดงความเป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติมากที่สุด ไม่นิยมการใช้สีมาย้อม มองว่าการย้อมสีเป็นการทำลายจุดเด่นของลายแทงหยวกที่ประดิษฐ์อย่างสวยงาม นิยมให้ลายแทงหยวกมีตัวลายขนาดใหญ่ การแทงหยวกให้เกิดลายต่าง ๆ สำหรับนําไปประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมชั่วคราว ใช้ในงานพิธีมงคล หรือพิธีอวมงคล ซึ่งเป็นงานกลางแจ้ง มีโครงสร้างขนาดใหญ่ ต้องแทงตัวลายให้มีขนาดใหญ่ เพื่อสะดวกในการมองเห็นในระยะไกล รวมทั้งสภาพอากาศในบริเวณภาคใต้เป็นพื้นที่อากาศร้อน แสงแดดร้อนทำให้หยวกเสียเร็วกว่าภาคอื่น จึงต้องปฏิบัติการแทงหยวกให้รวดเร็วและล่วงหน้าก่อนถึงวันใช้งานจริง นิยมเน้นโครงสร้างรูปร่างภายนอกของลายและช่องไฟพื้นเป็นสำคัญ ช่างจะใช้กระดาษสีมาสอดรองเป็นพื้นสีต่าง ๆ เพื่อช่วยให้มองเห็นลายได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และเพื่อการเพิ่มคุณค่าทางด้านความงดงามของลายแทงหยวก นอกจากนี้ ช่างแทงหยวกสกุลช่างจังหวัดสงขลา มีรูปแบบลายที่หลากหลายรูปแบบ ช่างแทงหยวกสกุลช่างจังหวัดสงขลาล้วนเป็นช่างพื้นบ้านที่เรียนรู้การแทงหยวกมาจากครูช่างแต่ละท่าน นายวินิจ จันทร์เจริญ หนึ่งในช่างแทงหยวกสกุลช่างสงขลา เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2507 ที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบ้านพร้าว ตำบลทำนบ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ช่างวินิจมีความสนใจและชอบในงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับตอนที่บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดไทรทอง (วัดบ้านพร้าว) ได้มีโอกาสได้เห็นช่างฝีมือแกะกนกโลงศพที่มีความวิจิตรสวยงาม ทำให้วินิจ จันทร์เจริญ มีความใฝ่ฝันตั้งใจที่จะเป็นช่างทำกนกโลงศพ และอีกครั้งหนึ่งที่ วินิจ จันทร์เจริญ ได้มีโอกาสเห็นรู้จักช่างฝีมือเขียนลายเส้นประตู ปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถ (นายจตุพร รามสูต) ซึ่งผลงานที่เขาสร้างสรรค์มีความสวยงามเป็นอย่างมาก วินิจ จันทร์เจริญ จึงขอโอกาสเรียนรู้งานช่างฝีมือจากนายจตุพร รามสูต ประกอบกับได้ฝึกฝนฝีมือจากการแกะกนกโลงศพ แกะหนังตะลุงบ้าง ทำให้เรียนรู้การเขียนลายเส้นกนก ลายไทยได้อย่างรวดเร็ว นอกจากการแกะสลักลายกนก ลายไทยแล้ว ช่างวินิจยังมีความสามารถในการแทงหยวก แกะกระดาษ แกะโฟม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการทำเรือพระ ด้วยฝีมือการเขียนลายเส้นที่สวยงามทำให้ผลงานที่กลั่นกรองจากฝีมือของช่างวินิจได้รับรางวัลอย่างมากมาย และได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินดีเด่นจังหวัดสงขลา สาขาการช่างฝีมือ (การแกะสลัก กนกลายไทย) ประจำปีพุทธศักราช 2545 และเป็นหนึ่งในช่างแทงหยวกที่เคยได้รับเกียรติสูงสุดในการถวายงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องได้ : Tangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship งานศิลปกรรมพื้นบ้าน
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : สะทิ้งหม้อ ต. สทิงหม้อ อ. สิงหนคร จ. สงขลา 90280

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

นายสมจิตร ยิ้มสุด

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

093-626-2881

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

พัตรธีรา สุวรรณวงศ์ : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ : 2566 Open Call

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
vdo

มีผู้เข้าชมจำนวน :259 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 10/01/2024 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 07/02/2024