เครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ เป็นเครื่องปั้นดินเผาพื้นเมืองของชาวบ้านสทิงหม้อที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้ใช้มาเป็นเวลานาน เพราะมีรูปทรงและเนื้อดินดี มีสีสวย น่าใช้ ทนทาน และมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ ตั้งอยู่ที่บ้านสทิงหม้อ หมู่ที่ 4 ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ชาวสทิงหม้อ เริ่มทำเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่เมื่อใด ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด และมีการถ่ายทอดวิธีการทำสืบต่อกันมาภายในครัวเรือนเรื่อยมาจนมีคำกล่าวว่า “ทิ้งทำหม้อ เกาะยอทำอ่าง หัวเขาดักโพงพาง บ่อยางทำเคย บ่อเตยสานสาด” ซึ่ง “ทิ้งทำหม้อ” ที่เป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง คนในชุมชนสทิงหม้อในอดีตมีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำหม้อหรือปั้นหมอดินเผานั่นเอง (จรูญ หยูทอง, 2560) สันนิษฐานว่ามาจากชื่อ “แป๊ะทิง” ซึ่งเป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งแรก และได้นำความรู้เรื่องการทำหม้อมาเผยแพร่ จึงเรียกแป๊ะทิงทำหม้อ ต่อมาเพี้ยนมาเป็น “สทิงหม้อ” หรืออีกกระแสหนึ่งว่า “สทิง” หมายถึง ท่าน้ำ สทิงหม้อจึงหมายถึง ท่าน้ำสำหรับขึ้นและลงหม้อ แต่ก็มีหลักฐานที่เป็นเอกสารปรากฏในใบบอกของพระยาวิเชียรคีรี เจ้าเมืองสงขลา เรื่องการส่งเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อเข้าไปแสดงในงานสมโภชพระนครในวาระครน 100 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 อันแสดงถึง ความเป็นมาที่ยาวนานของการทำเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ ในปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ ได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะ และพลาสติกมากขึ้น ทำให้เครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ ที่เคยมีบทบาทครอบคลุมภาคใต้ฝั่งตะวันออกทุกจังหวัด ได้ลดความนิยมลงอย่างมาก จนทำให้ผู้ประกอบการเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อต้องหยุดกิจการ หรือหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน
จับต้องได้ : Tangible.
งานช่างฝีมือดั้งเดิม : TC : Traditional Craftsmanship เครื่องปั้นดินเผา
.
เลขที่ : สะทิ้งหม้อ ต. สทิงหม้อ อ. สิงหนคร จ. สงขลา 90280
นายสมจิตร ยิ้มสุด
093-626-2881
พัตรธีรา สุวรรณวงศ์ : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ : 2566 Open Call