พิธีถอดพระ เป็นพิธีเก่าอย่างหนึ่งของทางยุโรป เป็นพิธีที่แสดงถึงการสิ้นพระชนม์ขององค์พระเยซูคริสเจ้า เป็นพิธีเสริมจากพิธีนมัสการกางเขน ซึ่งเป็นพิธีกรรมของคริสต์ศาสนา พิธีถอดพระนี้จะกระทำกันทุกปี ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนวันอีสเตอร์ 3 วัน เป็นวันที่ระลึกถึงพระทรมานของพระเยซูเจ้าถูกทรมานตรึงบน ไม้กางเขนและสิ้นพระชนม์ ซึ่งชุมชนกุฎีจีนเรียกว่า วันพระตาย (แต่เดิมในเมืองไทย มี 3 วัดที่มีรูปพระตายคือรูปพระศพขององค์พระเยซูคริสตเจ้า ได้ประกอบพิธีถอดพระนี้ คือ วัดซางตาครู้ส วัดกาลหว่าร์ วัดคอนเซ็ปชัญ ซึ่งแต่ละวัดมีบรรพบุรุษเป็นชาวโปรตุเกสทั้งสิ้น) พิธีถอดพระที่วัดซางตาครู้สนี้ เริ่มด้วยมรรคาศักดิ์สิทธิ์ (เดินรูป 14 ภาค) รอบวัด มีการแบกไม้กางเขน และสวดรำลึกเหตุการณ์ตามลำดับสถานที่ โดยเริ่มจาก สถานที่ 1 พระเยซูเจ้าต้องปรับโทษถึงประหารชีวิต สถานที่ 2 พระเยซูเจ้าทรงรับแบกกางเขน สถานที่ 3 พระเยซูเจ้าทรงหกล้มครั้งที่ 1 สถานที่ 4 พระเยซูเจ้าทรงพบปะพระมารดา สถานที่ 5 ซีมอน ชาวซีเรน ช่วยพระเยซูเจ้าแบกกางเขน สถานที่ 6 สตรีใจศรัทธาเข้าเช็ดพระพักตร์พระเยซูเจ้า สถานที่ 7 พระเยซูเจ้าหกล้มครั้งที่ 2 สถานที่ 8 พระเยซูเจ้าตรัสบรรเทาทุกข์สตรีชาวเยรูซาเลม สถานที่ 9 พระเยซูเจ้าหกล้มครั้งที่ 3 สถานที่ 10 พลทหารถอดพระภูษาของพระองค์ สถานที่ 11 พระเยซูเจ้าถูกตรึงกางเขน สถานที่ 12 พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์บนกางเขน ซึ่งสถานที่ 12 นี้ สัตบุรุษชุมชนกุฎีจีนได้ร่วมกันจำลองเหตุการณ์ที่แสดงถึงการถูกตรึงกางเขนและการปลดพระศพลงจากกางเขน (ถอดพระ) นำไปมอบแด่พระแม่มารีย์ ซึ่งเป็นสถานที่ 13 และ สถานที่ 14 จากนั้นจึงเป็นการแห่พระศพ ซึ่งจะนำพระศพไปวางไว้บนบุษบกที่แต่งด้วยดอกไม้สด และแห่ไปรอบวัด จากนั้นมีการแสดงความเคารพพระศพ จึงจบพิธี การถอดพระของชุมชนกุฎีจีน มีการติดตั้งกางเขนขนาดใหญ่และตรึงองค์พระเยซูที่มีขนาดเท่าคนจริง อยู่บริเวณหน้าวัด มีฉากหลังเป็นเขากัลวารีโอ กลุ่มยูเดวที่สวมบทบาทโดยสัตบุรุษจะต้องขึ้น ๆ ลง ๆ กางเขน หลายครั้ง เพื่อนำมงกุฎหนามมาถวายพระแม่ แล้วปีนบันไดขึ้นไปใหม่ นำตะปูจากพระหัตถ์ซ้ายลงมา นำตะปูจากพระหัตถ์ขวาและจากพระบาทลงมาทีละข้าง จากนั้นจึงค่อย ๆ ชะลอพระศพลงมาจากกางเขนด้วยผ้าดิบยาวประมาณยี่สิบกว่าเมตร ซึ่งเรียกกันมาแต่ดั้งเดิมว่า “ผ้าดอย” จากนั้นจึงมีสานุศิษย์มารอรับพระองค์และแบกใส่บ่าไปถวายแด่พระแม่ที่เป็นรูปปูนปั้น (อายุประมาณเกือบสองร้อยปี) เสมือนเป็นตัวแทนของพระแม่มารีย์ สำหรับวัดซางตาครู้สนั้น พิธีนี้สามารถนับได้ว่าเป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น เพราะที่วัดซางตาครู้สปัจจุบันนี้ (2567) มีกลุ่มตระกูลที่ร่วมมือกันจัดพิธี อาทิ 1) ตระกูลสกุลทอง ตระกูลแก้วขจร และคณะ ดำเนินการติดตั้งกางเขนใหญ่ที่ตรึงองค์พระที่มีขนาดใหญ่เท่าคนจริง จะต้องติดตั้งใหม่ทุกปีที่บริเวณหน้าวัดและเมื่อเสร็จพิธีจึงรื้อถอนเก็บไว้ติดตั้งในปีถัดไป และรับหน้าที่แสดงบทบาทกลุ่มยูเดว (บุคคลที่ทำหน้าที่ ถอดพระ) และคัดเลือกผู้แสดงบทบาทพระแม่มารี, นักบุญยอห์น บัปติสต์, นักบุญมารีอา มักดาเลนา, ทีมทหารโรมัน, กลุ่มโจร และบทบาทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยแต่งกายเลียนอย่างภาพจิตรกรรมเดินรูป 14 ภาค ซึ่งดูแลเครื่องแต่งกายโดยวัดซางตาครู้ส 2) ตระกูลเจริญสุข ตระกูลโกกิลานนท์ ตระกูลสกุลทอง และคณะ ดูแลดนตรีประกอบการแสดงและบทสวดทำนองโบราณ 3) ตระกูลสรกุล และคณะ ดูแลด้านเทคนิคพิเศษประกอบการแสดง 4) ตระกูลพงศ์ไทย ตระกูลทรรทรานนท์ จัดทำผ้าห่มงานมาลัยตาข่ายดอกไม้สดกรองห่มพระศพองค์พระเยซู และโรงเรียนแสงอรุณ ดูแลงานดอกไม้สดประดับบุษบก 5) ตระกูลวงษ์สกุล จัดทำเทียนยูเดวประกอบพิธีถอดพระ และ 6) สัตบุรุษในชุมชนกุฎีจีนที่ร่วมกันดำเนินงาน ภายใต้การอำนวยการของวัดซางตาครู้ส (ต่อพงษ์ สกุลทอง. สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567)
จับต้องได้ : Tangible.
แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับศาสนา
.
เลขที่ : 112 ซอย กุฎีจีน ต. วัดกัลยาณ์ อ. เขตธนบุรี จ. กรุงเทพมหานคร 10600
คุณปิ่นทอง วงษ์สกุล
062-465-2332
กิตติ เชี่ยวชาญ : มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : 2566 Festival