ลอยเคราะห์ทางน้ำ เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวเลที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้มีพระคุณ คือ พระแม่คงคา พระแม่ธรณี เจ้าที่เจ้าทางและผีบรรพบุรุษที่ชุมชนได้อาศัยทำมาหากินทั้งบนดินและในน้ำ โดยชุมชนมีความเชื่อว่าการลอยเคราะห์ทางน้ำจะเป็นการส่งโรคภัยไข้เจ็บให้พ้นไปจากหมู่บ้าน และยังเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านจะช่วยกันทำแพแบบง่าย ๆ สำหรับใส่สิ่งของเครื่องสักการะบูชา เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ติดกับทะเลสาบจะประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และพากันมาร่วมในพิธีลอยแพสะเดาะเคราะห์เป็นจำนวนมาก เพราะมีความเชื่อว่าเป็นการปลดปล่อยสิ่งที่ไม่ดีให้ลอยไปกับแพ ฝากไปกับพระแม่คงคา รวมไปถึงเป็นการขอขมาพระแม่คงคา และให้ช่วยปกป้องคุ้มครองชาวประมงให้มีโชคลาภจับปลาได้ตลอดทั้งปี โดยชาวบ้านจะช่วยกันประกอบพิธีกรรมนำดอกไม้ธูปเทียนและเครื่องเซ่นไหว้ตามความเชื่อ เช่น หัวหอม กระเทียม พริก ข้าวสาร เศษไม้ฟืน ใส่ลงไปในแพและอธิษฐาน จากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันแห่แพสะเดาะเคราะห์ไปรอบหมู่บ้าน โดยมีขบวนกลองยาวบรรเลงเพลงให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมทั้งเด็กและผู้ใหญ่เต้นรำกันอย่างสนุกสนาน ก่อนที่จะนำแพสะเดาะเคราะห์ลงไปลอยในทะเล เพื่อลอยทุกข์ลอยโศกนำสิ่งไม่ดีให้หมดไป แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันพิธีลอยเคราะห์ทางน้ำได้สูญหายไปจากพื้นที่แล้ว
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับวงจรชีวิต
ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับการทำมาหากิน
.
พัตรธีรา สุวรรณวงศ์ : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ : 2566 Open Call