ความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่ม่วงทองและพิธีแต่งงานกับนางไม้ นางไม้หรือเจ้าแม่ม่วงทองที่ชาวบ้านหมู่ที่ 4 ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา นับถือนั้นมีความเชื่อกันว่าเป็นรุกขเทวดาหญิง เป็นสาวรูปงามที่สถิตอยู่ในต้นไม้ หน้าวัดมะม่วงหมู่ ชาวบ้านจึงได้ปั้นรูปหญิงสาวแต่งกายงามขนาดเท่าคนจริง เพื่อเป็นรูปเคารพไว้ที่ศาล ก่ออิฐเล็ก ๆ ใต้โคนต้นไม้ สำหรับให้ประชาชนได้บนบานและทำพิธีกรรมบวงสรวง นอกจากผู้ที่จะแก้บนทำพิธีแต่งงานกับนางไม้แล้วยังมีครอบครัวที่ฝากตัวและบุตรหลานเป็นลูกหลานของเจ้าแม่ ต้องทำพิธีแต่งงานกับเจ้าแม่หรือนางไม้ด้วย นั่นหมายความว่าครอบครัวใดที่ฝากตัวเป็นบุตรหลานจะต้องทำพิธีแต่งงานกับเจ้าแม่โดยเฉพาะชายที่มีอายุครบบวช ก่อนบวชต้องทำพิธีแต่งงานเสียก่อน เมื่อทำพิธีแต่งงานกับเจ้าแม่แล้วต่อไปจะไปเข้าพิธีแต่งงานกับหญิงอื่นตามปกติวิสัยก็ย่อมทำได้ หากชายผู้นั้นมีบุตรชายคนโตก็ต้องทำพิธีแต่งงานกับเจ้าแม่สืบแทนบิดาด้วย การแต่งงานกับเจ้าแม่จึงเป็นเรื่องที่ต้องกระทำสืบทอดกันไปตลอดสายสกุลนั้น จนถึงลูก หลาน เหลน ส่วนผู้ที่มิได้นับถือทั้งสกุลวงศ์ เมื่อประสบปัญหาเดือดร้อนก็ขอให้เจ้าแม่ช่วยขจัดปัญหาต่าง ๆ เมื่อสมประสงค์แล้วก็แก้บนด้วยการกระทำพิธีแต่งงานกับเจ้าแม่ สำหรับพิธีแต่งงานจะกระทำเช่นเดียวกับการแต่งงานของชาวบ้าน กล่าวคือ มีขันหมาก เงิน ทอง และเครื่องบูชา ที่ต่างจากเครื่องบูชาขันหมากทั่วไป เช่น หัวหมู สุรา เป็ด ไก่ และผลไม้ เป็นต้น พิธีแต่งงานทำได้เฉพาะวันอังคารและวันเสาร์เท่านั้น เจ้าบ่าวแต่งกายเรียบร้อยสวยงามเยี่ยงเจ้าบ่าวทั่วไป และมักเหน็บกริชด้วย และมีการจัดขบวนขันหมากให้เป็นที่ครึกครื้น เช่นเดียวกับพิธีแต่งงานตามปกติ เจ้าพิธีเป็นผู้ทำให้ โดยปกติในหมู่บ้านมีคนเป็นเจ้าพิธีได้หลายคน เจ้าพิธีจะจัดแจงขันหมากและข้าวของต่าง ๆ จัดสถานที่ หมอนรองกราบและหม้อน้ำสำหรับรดน้ำ แล้วจะกล่าวชุมนุมเทวดาเช่นเดียวกับพิธีเจริญพระพุทธมนต์โดยทั่วไป (บุญเลิศ จันทระ, 2544)
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับวงจรชีวิต
.
เลขที่ : สะทิ้งหม้อ ต. สทิงหม้อ อ. สิงหนคร จ. สงขลา 90280
พัตรธีรา สุวรรณวงศ์ : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ : 2566 Open Call