ประเพณีแข่งเรือ การแข่งเรือเป็นกีฬาพื้นบ้านที่เก่าแก่และเป็นที่นิยมของไทย สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ของผู้คนกับสายน้ำ เช่นเดียวกับชุมชนต่าง ๆ ในอำเภอสิงหนครโดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณริมทะเลสาบสงขลา ได้แก่ ตำบลหัวเขา ตำบลทำนบ ตำบลป่าขาด ตำบลปากรอ ตำบลชะแล้ และตำบลบางเขียด การแข่งเรือถือเป็นอีกกิจกรรมที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน พบว่า บริเวณพื้นที่ของชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำมีการแข่งขันเรือจนกลายเป็นประเพณีของพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดในช่วงของเทศกาลต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ ออกพรรษา หรือเทศกาลลากพระ เป็นต้น โดยตำบลป่าขาด ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ของอำเภอสิงหนครที่มีการจัดประเพณีแข่งเรือและมีการสืบทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าการจัดการแข่งเรือของชุมชนป่าขาดจะหายไปกว่า 30 ปี ซึ่งจากคำบอกเล่าของแกนนำในการจัดการแข่งขันเรือ ทำให้ทราบว่าการแข่งขันเรือของตำบลป่าขาดนั้นมีมาตั้งแต่รุ่นพ่อของตน โดยอาศัยช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์ที่ชาวบ้านเว้นว่างจากการประกอบอาชีพจัดการแข่งเรือของชุมชนขึ้นโดยใช้เรือที่ชาวบ้านใช้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านมาใช้เป็นเรือพายแข่งขันกัน เป้าหมายเพื่อเป็นงานรื่นเริงของชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีให้กับคนในชุมชน ซึ่งหลังจากพ่อของตนเสียชีวิตก็ขาดแกนนำในการจัดการแข่งเรือทำให้การแข่งเรือหายไปกว่า 30 ปี จนกระทั่งตนได้ไปชมการแข่งเรือที่อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา จึงสนใจที่จะรื้อฟื้นกิจกรรมการแข่งเรือของตำบลป่าขาดให้กลับมาอีกครั้ง และได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน และอาจมีเว้นการแข่งขันในช่วงที่มีการระบาดโควิดที่ผ่านมา การแข่งเรือในตำบลป่าขาดได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลป่าขาดร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นอกจากชุมชนป่าขาดแล้ว ยังมีชุมชนอื่น ๆ เริ่มกลับมาฟื้นฟูการจัดประเพณีแข่งเรือ เช่น ชุมชนทำนบ และชุมชนชะแล้ เป็นต้น
จับต้องไม่ได้ : InTangible.
กีฬาภูมิปัญญาไทย : SM : Folk Sport game and Martial arts กีฬาพื้นบ้าน
.
เลขที่ : ป่าขาด ต. ป่าขาด อ. สิงหนคร จ. สงขลา 90330
พัตรธีรา สุวรรณวงศ์ : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ : 2566 Open Call