กีฬาชนวัว การชนวัวเป็นกีฬาประเภทหนึ่งของภาคใต้ที่นิยมกันมาก มีการพนันขันต่อได้เสียกันเป็นหมื่นเป็นแสน กีฬาชนวัวในภาคใต้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส ครั้งในสมัยพระเจ้าเอมมานูลเอลแห่งโปรตุเกสแต่งทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีใน พ.ศ. 2061 ซึ่งตรงกับสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และเมืองมะริด ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาเผยแพร่ขนบธรรมเนียมหลายอย่าง เช่น การติดตลาดนัด การทำเครื่องถม และการชนวัวรวมอยู่ด้วย โดยแรกเริ่มนั้นการชนวัวมีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินกับเกมกีฬาต่อสู้เป็นหลัก โดยคัดเลือกวัวชนจากวัวพื้นเมืองที่มีลักษณะเหมาะสมนำมาชน สถานที่ชนวัวจะเป็นแหล่งรวมมวลชนในท้องถิ่น ในอดีตใช้พื้นที่ตามท้องไร่ท้องนาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ในปัจจุบันมีสถานที่เฉพาะสำหรับการชนวัวเกิดขึ้น ซึ่งเดิมคนทั่วไปมักเรียกว่า “บ่อนวัวชน” เนื่องจากมวลชนที่เข้ามาชมเกมกีฬาชนวัวมักเล่นการพนันด้วย ดังนั้นการเล่นการพนันชนวัวจึงได้ถูกบรรจุอยู่ในพระราชบัญญัติการพนันพุทธศักราช 2478 ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้ วัฒนธรรมการชนวัวของคนใต้จากอดีตจนถึงปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการมาโดยลำดับ การจัดชนวัวในปัจจุบันได้คำนึงถึงเหตุผลอื่น ๆ ที่สำคัญมากนอกจากการพนัน เช่น เศรษฐกิจชุมชน ความสัมพันธ์ของมวลชน การมีอาชีพของคนในชุมชน สถานที่ท่องเที่ยว การพักผ่อนหย่อนใจของผู้สูงอายุ และประการสำคัญเป็นการรักษาพันธุกรรมของวัวพื้นเมืองมิได้หายสาบสูญไป (สมกมล ศรีสมโภชน์, 2556) สำหรับกีฬาชนวัวในอำเภอสิงหนคร ถือว่าเป็นกีฬาพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมชนิดหนึ่ง โดยเห็นได้จากการที่อำเภอสิงหนครมีสนามชนวัวที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนบ้านชิงโค ตำบลสทิงหม้อ อีกทั้งวิถีชีวิตของผู้คนที่จะสามารถพบเห็นการเลี้ยงวัวชนกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ซึ่งถือได้ว่าการแข่งขันชนวัวเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวบ้านมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้กีฬาชนวัวยังถือเป็นกีฬาที่สร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ในอดีตการชนวัวมีการรวมกลุ่มกันไปชน เพราะพื้นฐานของการเลี้ยงวัวชนพัฒนามาจากฐานของชุมชนที่วัวตัวหนึ่งมีการฝึกซ้อมและเดินอยู่ในชุมชนนั้น ๆ แล้วก็เกิดความผูกพัน กว่าจะเป็นวัวชนสักตัวจึงผ่านกระบวนการทางสังคมที่ชาวบ้านต่างเห็นกันจนเคยชิน เกิดความไว้เนื้อเชื้อใจกันจนกลายเป็นความผูกพันของคนในชุมชน เมื่อวัวออกไปแข่งขันกับวัวจากต่างพื้นที่บางครั้งก็จะมีการรวบรวมเงินเดิมพันจากหมู่บ้าน ดังนั้นวัวชนจึงเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน กล่าวคือ ถ้าชนะก็ชนะทั้งหมู่บ้าน ถ้าแพ้ก็แพ้ทั้งหมู่บ้าน ร่วมกันแพ้ ร่วมกันชนะ เป็นวิถีที่บ่งชี้ให้เห็นการใช้วัวเป็นกีฬา เป็นนันทนาการเพราะกีฬาชนวัวไม่ได้มีแค่การนำวัวไปชนกันที่สนามเพียงอย่างเดียวแต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาการเลี้ยงวัวชน ตั้งแต่วิธีการคัดเลือกวัวชนที่ถูกต้องตามลักษณะของวัวชนที่ดี วิธีการเลี้ยงวัวชน ความเชื่อต่าง ๆ จนถึงกฎกติกาการแข่งขันที่มีการสืบทอดจากบรรพบุรุษ กีฬาวัวชนยังเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น การจ้างคนเลี้ยง จ้างคนตัดหญ้า หรือแม้แต่มีการแข่งขัน พ่อค้าแม่ค้าก็จะมีรายได้จากคนที่มาดูการแข่งขัน
จับต้องได้ : Tangible.
กีฬาภูมิปัญญาไทย : SM : Folk Sport game and Martial arts การเล่นพื้นบ้าน
.
เลขที่ : ชะแล้ ต. ชะแล้ อ. สิงหนคร จ. สงขลา 90330
คุณกรณ์เชษฐ์ สิทธิพันธ์
094-539-3989
พัตรธีรา สุวรรณวงศ์ : มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ : 2566 Open Call