PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : AS-73000-00008 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

โบราณสถานพระประโทณเจดีย์
Phra Prathon Chedi Archaeological Site

พระประโทณเจดีย์ ตั้งอยู่ภายในวัดพระประโทณจดีย์วรวิหาร เป็นโบราณสถานเก่าแก่ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองนครปฐมโบราณ ลักษณะของพระประโทณเจดีย์เดิมเป็นเนินดินขนาดใหญ่ สูงประมาณ 50 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 เมตร บนยอดเนินมีพระปรางค์รูปแบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายหลังการขุดแต่งพบว่าเนินดินที่อยู่ใต้พระปรางค์เป็นสถาปัตยกรรมแบบสถูปหรือเจดีย์สมัยทวารวดีมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐสมัยทวารวดี โบราณสถานพระประโทณเจดีย์ซึ่งเป็นศาสนสถานกลางเมืองนครปฐมโบราณได้รับการขุดศึกษาทางโบราณคดี โดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ดำเนินการขุดศึกษาทางโบราณดีครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2545 และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2550 จากการขุดศึกษาพบว่า พระประโทณเจดีย์องค์เดิมซึ่งเป็นสถูปสมัย ทวารวดี ใช้อิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง และใช้ศิลาแลงเป็นส่วนประกอบ สร้างอยู่ในรูปผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จ ฐานทักษิณด้านล่างมีบันไดทั้ง 4 ด้าน เพื่อนำขึ้นไปสู่ฐานทักษิณชั้นที่ 2 ตอนบนซึ่งเป็นส่วนกลางหรือเรือนธาตุ อยู่ในผังยกเก็จเช่นเดียวกับด้านล่าง โดยแต่ละด้านของเรือนธาตุทำจระนำเป็นระยะโดยรอบ ไม่ปรากฎ หลักฐานว่าเดิมว่าจระนำประดับประติมากรรมใด ๆ ต่อมาสถูปสมัยทวารวดีได้พังทลายลงจนทับถมเป็นเนินดินขนาดใหญ่ ต่อมาพบหลักฐานการสร้างเจดีย์ทรงปรางค์แบบอยุธยาช้อนทับบนชุดฐานสถูปเดิมจากชั้นอิฐสมัยทวารวดี ภายหลังพระประโทณเจดีย์ได้รับการซ่อมอีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยในช่วงระยะเวลานี้มีการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่โดยรอบและซ่อมแซมเจดีย์สมัยอยุธยาที่สร้างทับอยู่บนยอดเนิน สันนิษฐานว่ามีการก่อเสริมส่วนยอดขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ทั้งนี้ในการบูรณะพระประโทณเจดีย์ของกรมศิลปากร มีวัตถุประสงค์ในการบูรณะโดยพยายามคงสภาพเจดีย์สมัยทวารวดีองค์เดิมให้อยู่ร่วมกับเจดีย์ที่สร้างทับซ้อนในสมัยต่อมา พระประโทณเจดีย์จึงเป็นโบราณสถานและแหล่งการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญ ที่ในปัจจุบันยังคงความเป็นศาสนสถาน และแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความเข้าใจถึงพัฒนาการของเมืองนครปฐมโบราณอีกด้วย อย่างไรก็ตามร่องรอยของการก่อสร้างและบูรณะพระประโทณเจดีย์ที่มีอย่างต่อเนื่องจากสมัยทวารวดีจนถึงสมัยอยุธยา และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สะท้อนถึงการตั้งชุมชนและเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และการใช้ประโยชน์ของ ศาสนสถานอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะหมดยุครุ่งเรืองของทวารวดีไปแล้ว (พนมกร นวเสลา, 2566 : สัมภาษณ์) จากการขุดค้นทางโบราณคดีของพระประโทณเจดีย์นั้นกรมศิลปากรพบโบราณวัตถุไม่มากนักส่วนใหญ่เป็นหลักฐานประเภทเครื่องประกอบสถาปัตยกรรม คือ ประติมากรรมปูนปั้น ประติมากรรมดินเผา แผ่นอิฐมีรอยประทับของคนและสัตว์ เครื่องประดับ และภาชนะดินเผา ได้แก่ พระพักตร์พระพุทธรูปปูนปั้นสมัยทวารวดี ประติมากรรมรูปบุคคลสมัยทวารวดี โดยโบราณวัตถุเหล่านี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ทั้งนี้จากการพบโบราณวัตถุจำนวนน้อยสันนิษฐานว่าอาจมีการทำลายหรือเคลื่อนย้ายไปเมื่อครั้งมีการสร้างหรือซ่อมแซมในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามมีการขุดพบหลักฐานที่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงพระประโทณเจดีย์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เหรียญเงินสมัยทวารวดี 2 เหรียญ พบที่ชุมชนพระประโทน พบรูปกวางหมอบศิลาและอิฐสมัยทวารวดีจำนวนมาก อยู่ห่างออกไปทางด้านทิศเหนือ จากโบราณวัตถุที่ค้นพบ หลักฐานทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม สามารถเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าบริเวณพระประโทณเจดีย์เป็นศาสนสถานเก่าแก่ที่สำคัญในสมัย ทวารวดี ต่อมากรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนพระประโทณเจดีย์ เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 25



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องได้ : Tangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

โบราณสถาน : AS : Archeological Site โบราณสถานสัญลักษณ์แห่งชาติ
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : Phra Prathon Chedi, 120 ถนน หลังพระ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม นครปฐม 73000 ต. พระปฐมเจดีย์ อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม 73000

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏนครปฐม

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

ลัทธสิทธิ์ ทวีสุข : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม : 2566 Open Call

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
vdo
พิกัด GPS

มีผู้เข้าชมจำนวน :100 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 11/02/2024 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 11/02/2024


BESbswy