โบราณสถานวัดพระเมรุ (ร้าง) ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณริมถนนเพชรเกษม เป็นโบราณสถานเก่าแก่ขนาดใหญ่สมัยทวารวดี อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ เมืองนครปฐมโบราณ ลักษณะของโบราณสถานวัดพระเมรุเดิมเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีสภาพเสียหายเป็นอย่างมากพบร่องรอยการพังทลายลงตามเวลาและจากการขุดรื้อทำลายโดยมีตำนานเล่าเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระเมรุว่า ตามตำนานมีปู่โสมที่เฝ้าปกป้องรักษาโพรงที่ชาวบ้านลักลอบขุดกรุภายในวัดพระเมรุร้างแห่งนี้ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอุโมงค์ที่สามารถลอดทะลุไปยังบริเวณวัดธรรมศาลา จังหวัดนครปฐมได้ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ-พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้พระราชทานนามโบราณสถานนี้ว่า วัดพระเมรุ จากลักษณะสัณฐานเดิมที่มีแต่ส่วนของฐานเป็นซากอิฐหักพัง ทำให้ชาวบ้านในบริเวณนี้เข้าใจว่าเป็นพื้นที่นี้เคยเป็นพระเมรุของพระมหา-กษัตริย์ในสมัยโบราณ ก่อนการขุดค้นของกรมศิลปากร ได้มีการรื้อทำลายโบราณสถานแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการขุดค้นหาสมบัติ การนำอิฐไปถมเป็นถนน และการขนอิฐไปสร้างสิ่งก่อสร้างในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ต่อมากรมศิลปากรร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศดำเนินการขุดศึกษาโบราณสถานวัดพระเมรุ ใน พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2482 ในความดูแลของ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และศาสตราจารย์ปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont) ภัณฑารักษ์และนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส จากการขุดศึกษาและพบหลักฐานที่นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า โบราณสถานแห่งนี้น่าจะมีงานก่อสร้างตั้งแต่คราวแรกสร้างไปจนถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ก่อนมีการละทิ้งโบราณสถานแห่งนี้อย่างน้อย 3 ระยะ โดยสภาพปัจจุบันคงเหลือเฉพาะส่วนฐานที่ก่อด้วยอิฐในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จที่ส่วนมุมและส่วนด้านทั้งสี่ ขนาดความกว้างยาวด้านละประมาณ 70 เมตร ทำบันไดอยู่กึ่งกลางด้านทั้ง 4 ด้าน พื้นที่ภายในยังคงเหลือหลักฐานโครงสร้างของแกนกลางรูปแท่งสี่เหลี่ยมรับน้ำหนักองค์ประกอบส่วนบนที่เป็นสถูปเจดีย์ ตรงกลางด้านของแกนกลางนี้มีฐานไว้ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทขนาดใหญ่ 4 องค์ รวมถึงยังคงเหลือหลักฐานองค์ประกอบของระเบียงคดและทางเดินรอบแกนกลาง และมีซุ้มรายรอบจำนวน 16 ซุ้ม ส่วนนอกสุดมีลักษณะเป็นมุขยื่นออกไป 8 มุข ซึ่งมีอัฒจันทร์และบันไดนำขึ้นสู่ภายในอาคาร
จับต้องได้ : Tangible.
โบราณสถาน : AS : Archeological Site โบราณสถานสัญลักษณ์แห่งชาติ
.
เลขที่ : โบราณสถานวัดพระเมรุ ถ ทวารวดี ห้วยจรเข้ อำเภอเมืองนครปฐม นครปฐม 73000 ต. ห้วยจรเข้ อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม 73000
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏนครปฐม
ลัทธสิทธิ์ ทวีสุข : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม : 2566 Open Call