PMU ทุนทางวัฒนธรรม


ข้อมูลวัฒนธรรม : SP-73000-00015 [ ได้รับทุนจากโครงการ ]

พิธีเสนเรือนหรือพิธีเสนเฮือน
Sen Ruean Ceremony or Sen Huean Ceremony

ชาวไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีศาสนาและความเชื่อที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะการนับถือผีเฮือนหรือผีเรือนซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวไทดำโดยมีความเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้วยังคงสถิตอยู่กับชาวไทดำตลอดไม่ว่าจะมีการโยกย้ายบ้านเรือนไปตั้งถิ่นฐานในที่ต่างๆ ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษยังคงติดตามพวกเขาไปเสมอ คอยชี้นำชาวไทดำให้ประพฤติปฏิบัติตนตามทํานองคลองธรรมที่สืบต่อกันมา ดังนั้นจึงทำให้ชาวไทดำมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษของตนเพื่อเป็นการระลึกพระคุณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับเป็นการแสดงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อบรรพชน และเป็นการตอบแทนที่เหล่าบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปคอยปกปักรักษาคนในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยจะทำพิธีกรรมที่ชาวไทดำทุกบ้านจะต้องจัดให้แก่ผีเรือนของตน เรียกว่า“เสนเฮือน”หรือ เสนเรือน การเสนเฮือนนี้หากเปรียบในทางพระพุทธศาสนาก็คือ การทำบุญอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว คุณชัชวาล ผึ่งเดช(ปราชญ์ชาวบ้าน)เล่าว่าการนับถือผีเฮือนหรือการนับถือผีบรรพบุรุษของคนไทดำที่เสียชีวิตไปแล้วและบรรพบุรุษยังคงอยู่กับพวกเขาตลอดที่เรียกกันทั่วไปว่าผีเฮือนซึ่งผีเฮือนนี้เป็นทั้งศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ญาติพี่น้องและวัฒนธรรมร่วมไปถึงเป็นกฎหมายที่ชาวไทดำทุกคนยึดถือสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น การเสนเรือนคือ พิธีเซ่นไหว้ผีเฮือนของชาวไทดำ ผีเฮือนหรือผีเรือนในที่นี้ หมายถึง พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้ล่วงลับไปแล้วและทำพิธีอัญเชิญวิญญาณมาไว้บนเรือน โดยจัดให้อยู่มุมห้อง ๆ หนึ่งทางหัวสกัดของบ้าน เป็นที่สมมติขึ้น ไม่มีกระดูกหรือสัญลักษณ์ใด ๆ แต่บริเวณนั้นจะมีถ้วยชามและแก้วน้ำตั้งอยู่ จะมีปาดคือไม้ไผ่สานขึ้นมีลักษณะคล้ายขันกระหย่อง (พานไม้ไผ่สาน) มีดดาบ และขี้ไต้ปักอยู่ที่ฝาเรือน บริเวณนั้นเรียกว่า “กะล้อห้อง” กะล้อห้อง คือ มุมห้องที่ชาวไทดำได้เชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษมาสถิตให้เป็นผีเรือน โดยจะมีการนำอาหารเซ่นไหว้ที่เรียกว่า “เลี้ยงปาดตง” ซึ่งเรือนของชาวไทดำที่เป็นชนชั้นใต้ในปกครองน้อยหรือบ้านคนทั่วไปจะทำพิธีเลี้ยงปาดตงทุกๆ 10 วัน ส่วนบ้านผู้ใหญ่หรือบ้านที่มีตระกูลที่มีเชื้อสายเจ้าไทดำจะนำอาหารมาเซ่นไหว้ทุกๆ 5 วัน พิธีเซ่นไหว้ผีเรือนของชาวไททรงดำที่ดอนยายหอม โดยในพิธีจะมีผู้เฒ่าในชุมชนเป็นหมอเสน พิธีเสนเรือน คือ พิธีเซ่นไหว้ผีเรือนของผู้ไทยดำ ผีเรือนก็คือ ผีบรรพบุรุษ ที่ได้เชิญมาไว้บนเรือน พิธีเสนเฮือนนิยมทำกันเป็นประจำแต่ละบ้าน 2-3 ปีต่อครั้ง มีคำพูดของชาวไทดำที่ว่า “2 ปีห่าม 3 ปีครอบ” คือ 2 ปีทำไม่ดี 3 ปีจึงจะดี จะจัดขึ้นในระหว่างเดือน 4 ถึงเดือน 6 ทางจันทรคติ โดยการเสนเฮือนนี้จะต้องให้ตระกูลใหญ่คือตระกูลที่สืบเชื้อเจ้านายหรือเจ้าเมืองจัดก่อน จากนั้นบ้านของชาวบ้านทั่วไปจึงจะทำการเสนเฮือนได้ หากตระกูลเจ้านายยังไม่จัดเสนเฮือนตระกูลผู้น้อยก็ไม่สามารถจัดได้ และหลังจากเดือน 6 ไปแล้วไม่สามารถจัดเสนเฮือนได้ การเสนเรือนนี้จัดขึ้นเพื่อให้ผีเรือนของตนได้มารับเครื่องเซ่นไหว้จากลูกหลาน เป็นการแสดงความกตัญญู ระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ คุณครูสาธิต กุยเช็ง (นักวิชาการ) ให้สัมภาษณ์ว่าชาวไทดำเชื่อว่าเมื่อจัดพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนแล้ว ผีเรือนจะปกป้องคุ้มครองรักษาตนและครอบครัวให้มีความสุข เจริญก้าวหน้า ทำมาค้าขึ้น หากครอบครัวไหนไม่จัดเสนเฮือน คนในครอบครัวนั้นมักจะมีอันเป็นไปเช่น เจ็บป่วยหรือมีเหตุการณ์ไม่ดีต่าง ๆ เกิดขึ้นในครอบครัวนั้น โดยมีเหตุมาจากการกระทำของผีเรือนด้วยเหตุที่ไม่ยอมเสนเฮือน หากครอบครัวไหนที่ยังไม่พร้อมก็จะต้องหักไม้ นำหัวหมากพลูมาเซ่นให้หมอเสนบอกกล่าวแก่ผีเรือนว่าขอผลัดไปก่อนเพราะยังไม่พร้อม เนื่องด้วยการเสนเฮือนนี้มีรายจ่ายต่างๆ เยอะมาก พิธีเสนเรือนได้สร้างความเข้มแข็งทางสังคมและวัฒนธรรมในแง่มุมต่างๆได้ชัดเจน กล่าวคือ ความรู้ในกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ในการประกอบพิธีได้สร้างโอกาสให้คนได้ปรับความเข้าใจ และผูกใจให้เกิดความผูกพันเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ที่นำไปสู่ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว อันเป็นรากฐานให้เกิดความรัก ความสามัคคีในครอบครัว เครือญาติ กลุ่มชุมชน โดยมีระบบผีเรือนเป็นสายใยเชื่อมโยง ทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข มีความเข้มแข็งทางสังคมและวัฒนธรรมขึ้นในชุมชนสืบต่อไป การจัดพิธีเสนเรือนขึ้นนอกจากแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษตามความเชื่อแล้ว พิธีกรรมดังกล่าวได้สร้างโอกาสให้เกิดการถ่ายทอดและสืบสานภูมิปัญญาด้านต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น การปรุงอาหาร การแสวงหาอาหาร การแสดงออกทางกาย วาจา และจิตใจ เกิดขึ้นในกระบวนการและขั้นตอน เป็นบทเรียนอย่างเป็นรูปธรรมที่แสดงเนื้อหาภูมิปัญญาให้ประจักษ์ต่อผู้คนหลากหลายที่นำไปสู่การเรียนรู้ ถ่ายทอดและสืบสานคุณค่า ความเป็นมา สาระสำคัญเกิดขึ้น ที่สำคัญคือคนรุ่นลูกหลานจะได้รู้ว่า พิธีเสนเรือนมีความสำคัญต่อพวกเขาอย่างไร พิธีกรรมนี้มีคุณค่าอย่างไร พิธีเสนเรือนส่งผลดีต่อการพัฒนาชุมชน การมีส่วนร่วม การแบ่งปัน การช่วยเหลือเกื้อกูล การฝึกฝน พัฒนา ดวามรักชุมชน ความเสียสละ สำนึกสาธารณะ ฯลฯ ที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนสู่ความสุข ความเจริญ ความอบอุ่น คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในกรอบดวามเชื่อผีบรรพบุรุษ และกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน และเป็นทุนทางสังคมวัฒนธรรมที่จะช่วยปรับปรุงกระแส การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ให้เป็นไปในลักษณะที่เหมาะสมกับรากฐานเดิม



 

Icon
ประเภทวัฒนธรรม

จับต้องไม่ได้ : InTangible.

Icon
หมวดหมู่วัฒนธรรม

แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล : SP : Social Practices, ritual and festive events ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับศาสนา
ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับวงจรชีวิต
ขนบธรรมเนียบประเพณีเกี่ยวกับการทำมาหากิน
.

Icon
ที่ตั้ง

เลขที่ : ชุมชนวัดสะแกราย ตำบล ดอนยายหอม อำเภอเมืองนครปฐม นครปฐม 70160 ต. ดอนยายหอม อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม 73000

Icon
ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

นักวิชาการ และชาวบ้าน

Icon
ช่องทางติดต่อผู้ให้ข้อมูล

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏนครปฐม

Icon
ผู้บันทึกข้อมูล

ลัทธสิทธิ์ ทวีสุข : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม : 2566 Open Call

Icon
แหล่งข้อมูอื่น ๆ
vdo
พิกัด GPS

มีผู้เข้าชมจำนวน :337 ครั้ง
บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ : 11/02/2024 - ปรับปรุงล่าสุดวันที่ : 07/07/2024


BESbswy